เทศมองไทย : โควิด-19 ที่มหาชัย ตะปูตอกฝาโลงท่องเที่ยวไทย?

การตรวจพบโควิด-19 คลัสเตอร์ หรือการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ที่มหาชัย ถูกบางคนอุปมาไว้ว่า เหมือนจู่ๆ ก็มีระเบิดตกลงบนลานรำวง ยังไงยังงั้น

เพราะไทยเราบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาได้ด้วยดีตลอดช่วงเกือบปีที่ผ่านมา

เราสามารถรักษาระดับของผู้ติดเชื้อให้จำกัดอยู่ได้ที่ 4,300 ราย มีผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 60 ราย

สถานการณ์การแพร่ระบาดผ่อนคลาย จนหลายคนยิ้มออกและเตรียมตัวเตรียมใจสนุกกับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงให้เต็มที่

ความสำเร็จของไทยที่จัดการกับโควิด-19 ได้ดีที่สุดในระดับต้นๆ ของโลก ถึงขนาดที่รอยเตอร์สอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เอาไว้ว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่ำที่สุดในโลก

ความสำเร็จที่ว่า ไม่ได้ได้มาง่ายๆ

แต่แลกมากับการมีวินัยและความรับผิดชอบสูงมากของคนในสังคม ตั้งแต่การยอมรับการกักตัวดูอาการ เรื่อยไปจนถึงการสวมหน้ากากป้องกันและการรักษาระยะห่าง

เมื่อรวมเข้ากับมาตรการติดตามร่องรอยของกลุ่มเสี่ยงจากการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อและการควบคุมการเข้า-ออกประเทศอย่างเข้มงวด สร้างความสำเร็จให้กับประเทศไทยสูงมากดังกล่าว

คลัสเตอร์ที่มหาชัยแทบทำลายความเพียรพยายามที่ผ่านมาลงทั้งหมด จนถึงขณะนี้ยอดรวมของผู้ติดเชื้อจากมหาชัยปาเข้าไปกว่า 1,100 คนเข้าไปแล้ว

ผลก็คือ เราต้องกลับมาล็อกดาวน์กันใหม่ เริ่มต้นจากที่สมุทรสาครจุดเกิดเหตุ แล้วลามออกไปถึงสมุทรปราการ และยังอาจขยายวงออกไปได้เรื่อยๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งกับกรุงเทพมหานคร

 

เหตุการณ์ที่มหาชัยทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในเมืองไทยกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ทั้งรอยเตอร์ส เอพี เอเอฟพี ตีข่าวออกไปทั่วโลก ในขณะที่บลูมเบิร์กหยิบเอาแง่มุมที่เป็นผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจมานำเสนอไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว

รอยเตอร์สให้ข้อมูลเอาไว้เมื่อ 21 ธันวาคม ว่า ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกกุ้งใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก และราว 30 เปอร์เซ็นต์ของกุ้งที่ส่งออก เป็นกุ้งที่มาจากตลาดกลางที่มหาชัยซึ่งถูกล็อกดาวน์ไปเรียบร้อยแล้ว

บลูมเบิร์กสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นผลเสียหายเฉียบพลันและผลสะเทือนในระยะยาวเอาไว้ในวันเดียวกัน

โดยตั้งข้อสังเกตว่า ดัชนีตลาดหุ้นของไทยร่วงลงวันเดียวมากถึง 5.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นการร่วงลงมากที่สุดในวันเดียวนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในช่วงที่การแพร่ระบาดรอบแรกกำลังหนักหน่วง

หุ้นของไทยยูเนียนกรุ๊ป บริษัทคนไทยที่ถือกันว่าเป็นบริษัทแปรรูปปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ร่วงลงมากถึง 8.9 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรมอย่างเจริญโภคภัณฑ์ก็ลงหนักถึง 6.4 เปอร์เซ็นต์ เหตุเป็นเพราะทั้งสองบริษัทมีโรงงานหลายโรงงานอยู่ในสมุทรสาคร

มาเรีย ลาปิซ ผู้อำนวยการบริหารของเมย์แบงก์กิมเอ็ง ประจำประเทศไทย ประเมินความเสียหายจากการล็อกดาวน์มหาชัยและสมุทรสาครเอาไว้ว่าสูงถึงราว 1,000 ล้านบาทต่อวัน และอาจส่งผลให้ราคาอาหารทะเลสูงขึ้นตามมา

ข้อมูลของบลูมเบิร์กชี้ให้เห็นว่า สมุทรสาครเป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปอาหารทะเลอยู่ไม่น้อยกว่า 6,000 โรงงาน เศรษฐกิจของจังหวัดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ถึง 2.5 เปอร์เซ็นต์

 

ในวันที่ 22 ธันวาคม บลูมเบิร์กนำเสนอรายงานอีกชิ้นว่าด้วยผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ด้วยการชี้ให้เห็นว่า การระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงวันเดียวหลังจากที่รัฐบาลประกาศแผนผ่อนปรนให้กับนักท่องเที่ยวจาก 56 ประเทศ ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ เป็นความพยายามเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้ประเทศชาติดิ้นรนออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้

ในขณะที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยนั้น นักท่องเที่ยวภายในประเทศที่เป็นคนไทยด้วยกันเองเท่านั้นที่ช่วยจุนเจือให้ธุรกิจท่องเที่ยวในหลายๆ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ พอมีรายได้ยังชีพ ค้ำจุนกิจการ

แอนโทนี่ ลาร์ก ประธานสมาคมโรงแรมภูเก็ต สะท้อนผ่านบลูมเบิร์กเอาไว้ว่า ที่ผ่านมาทุกคนขาดทุนกันทั้งนั้น แต่พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวภายในประเทศเข้ามาให้คุ้มค่าใช้จ่ายก็ยังดี

“หนนี้ถ้ารัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ แล้วมีการเข้มงวดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศอีกครั้ง คุณก็จะได้เห็นธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร แล้วก็เจ้าของเรือท่องเที่ยวม้วนเสื่อกันละ”

ลาร์กบอกว่า นักท่องเที่ยวระยะสั้นๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวพอจะยืนอยู่ได้

แต่ถ้ามีล็อกดาวน์ทั้งประเทศครั้งใหม่ก็เหมือน “ตอกตะปูปิดฝาโลง” ให้การท่องเที่ยวดีๆ นี่เอง