เศรษฐกิจ / เอสเอ็มอี ผวาโควิดสมุทรสาคร ลางร้ายธุรกิจต้องเผชิญรับปีใหม่ วอนรัฐเลิกมาตรการเหวี่ยงแห…ไร้ผล

เศรษฐกิจ

 

เอสเอ็มอี ผวาโควิดสมุทรสาคร

ลางร้ายธุรกิจต้องเผชิญรับปีใหม่

วอนรัฐเลิกมาตรการเหวี่ยงแห…ไร้ผล

 

ปี2563 ถือเป็นปีที่สาหัสทำสถิติหนักสุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ในไทยที่มีมากถึง 90% ของจำนวนธุรกิจในประเทศไทย

เขาเหล่านั้นยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 แบบเต็มๆ ด้วยการเป็นธุรกิจที่มีขนาดเล็ก สายป่านจะสั้นกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เมื่อเจอเหตุการณ์อะไรมากระทบ ก็จะมีผลต่อรายได้หาย กำไรหด นานวันก็จะขาดสภาพคล่อง จำนวนไม่น้อยยืนไม่ไหว จำใจปล่อยมือจากธุรกิจของตนเอง

เจ็บหนักสุดรอบนี้ คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจซัพพลายเชนต่อจากภาคท่องเที่ยว และกำลังลุกลามไปถึงภาคบริการต่างๆ

และอนาคตปี 2564 จะเป็นอย่างไร ยังไม่ทันขึ้นปี หลายฝ่ายออกโรงวิจารณ์ ภาพคงไม่แตกต่างกันมากนัก อาจหนักกว่าเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มระอุอีกครั้ง จากยอดผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครทะลุหลักร้อยต่อวัน อีกทั้งหลายประเทศยังเผชิญโควิดระบาดรอบ 2 รอบ 3 กันแล้ว จึงกดดันภาวะเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะฟื้นกลับทรุดลงไปอีก

ในประเทศไทยก็หวังว่าจะไม่ระบาดรุนแรงซ้ำรอยเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของปีนี้ จนต้องล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวกันอีกครั้ง

ประเทศจะเดินไปอย่างไร!!

 

ในมุมมองภาคเอกชน อย่างสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า การล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร จากการประเมินภาพรวมความเสียหายทางเศรษฐกิจในจังหวัดสมุทรสาคร ระยะสั้นเสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อวัน เนื่องจากได้รับผลกระทบด้านการดำเนินการ ซึ่งเอกชนในพื้นที่ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ต้องยอมรับและแก้ไขโดยเร็วที่สุด

เบื้องต้นยังมีโรงงานที่ไม่มีปัญหา ยังมีการผลิตตามปกติ แต่อาจได้รับผลกระทบเรื่องโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าให้ทันต่อเวลาเคอร์ฟิว เวลาที่เคยวิ่งส่งของก็จะหายไป 1/3 ก็ว่าได้

ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานจำนวน 6,082 โรงงาน ในจำนวนนี้เป็นโรงงานของสมาชิก ส.อ.ท. จำนวน 334 โรงงาน แบ่งเป็นสมาชิกในสมุทรสาคร 148 ราย และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่สังกัดจังหวัด 50 ราย โดยมีจำนวนแรงงาน 93,100 ราย จากจำนวนแรงงานในจังหวัดสมุทรสาครทั้งหมด 345,284 ราย

จำนวนนี้แบ่งเป็นจำนวนแรงงานต่างด้าวประมาณ 233,071 ราย

สำหรับจำนวนแรงงานทั่วประเทศปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวทั้งหมดประมาณ 2-3 ล้านราย อยู่ในระบบ 1 ล้านกว่าราย หรือประมาณ 80% อยู่นอกระบบ 20% เป็นแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบ ส่วนใหญ่ทำงานตามตลาดสด และแม่บ้าน

ส่วนแรงงานที่ถูกกฎหมายจะเข้ามาทำงาน อาทิ ประมง และห้องเย็น

“เรื่องเหล่านี้มีที่มาที่ไป รู้ว่าภาครัฐรู้ขบวนการ เป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ ต้องหยุดให้ได้ ไม่งั้นอาจสร้างความเสียหายได้ หลังจากนี้ขอให้ภาครัฐเร่งตรวจหาเชื้อให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะคนในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อยับยั้งการระบาด พร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลดึงแรงงานต่างด้าวเข้าระบบ ถูกต้องตามกฎหมาย และจะประสานกับเมียนมาเพื่อให้ส่งแรงงานมาตามโควต้า” สุพันธุ์กล่าว

แค่การล็อกดาวน์เพียง 1 จังหวัดในประเทศไทย ยังเห็นผลกระทบที่ประเมินเป็นเม็ดเงินกว่าพันล้านบาทต่อวัน หากโควิดเกิดรอบใหม่ในพื้นที่อื่นๆ มาตรการล็อกดาวน์ก็จะถูกนำมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแม้ครั้งนี้รัฐบาลมองว่า ไทยมีประสบการณ์ และการล็อกดาวน์หรือคุมเข้มก็ยึดตามพื้นที่ ไม่หว่านทั้งจังหวัดทั้งประเทศอย่างที่ทำมา ก็ยังคิดไม่ออกว่า เศรษฐกิจจะพังแค่ไหน

เดิมนั้น ปี 2564 ถูกมองว่าเป็นปีของการฟื้นฟูธุรกิจ อาจกลายเป็นปีที่ต้องหนีตาย

 

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ให้มุมมองต่อทิศทางปี 2564 ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ว่า ยังต้องเหน็ดเหนื่อยอีกมาก ประเมินแล้วพบว่า ปัจจัยต่างๆ ยังไม่เอื้อให้สามารถฟื้นตัวได้มีอีกมากมาย โดยปัญหาของเอสเอ็มอี เป็นเรื่องของสภาพคล่องที่เกิดจากความต้องการ (ดีมานด์) ที่หดตัวลงทุกภาคส่วน และยังไม่สามารถฟื้นกลับคืนมาได้ ทำให้ภาคการผลิตฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 63% จากระดับ 58% ถือเป็นการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น เทียบกับช่วงเวลาปกติที่มีการผลิตเต็มกำลัง 100%

“การระบาดโควิด-19 พิจารณาแล้ว เชื่อว่าจะยืดเยื้อออกไปอีกแน่นอน จนกว่าจะพบว่ามีวัคซีนต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพออกมา ซึ่งก็ยังติดข้อจำกัดในส่วนของการกระจายวัคซีน ที่จะเริ่มฉีดให้กับกลุ่มผู้มีอำนาจก่อน ส่วนประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนทีหลัง กว่าที่ประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้ในประเทศ และกระจายลงสู่คนทุกระดับได้จริง ก็น่าจะเป็นช่วงกลางปี 2564 เป็นต้นไป ทำให้โอกาสในการฟื้นตัวต้องใช้เวลานานมากเข้าไปอีก”

“ปัจจัยบวกที่เห็นมีอยู่ไม่กี่เรื่อง อาทิ การผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว แต่ก็ไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นมากนัก การส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวกลับมา แต่เป็นการฟื้นในช่วงที่ยังหดตัวอยู่ รวมถึงรัฐบาลเริ่มใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้น ผ่านการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ซึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินสะพัดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยแม้มีแรงบวกจากปัจจัยเหล่านี้ แต่เป็นแรงบวกในช่วงที่ยังมีการหดตัวสูงมาก เพราะความเสี่ยงของปัจจัยลบมีความชัดเจนมากกว่า โดยเฉพาะการระบาดโควิด-19 ที่เริ่มมีความเสี่ยงระบาดรอบ 2 ในประเทศมากขึ้น”

“ในปี 2564 รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไว้แบ่งเป็นแต่ละระดับของความรุนแรง โดยรัฐบาลจะต้องเห็นภาพโจทย์ที่ชัดเจน ว่าปัญหาอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งจะแก้ปัญหาแบบปีที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะการแก้ปัญหาในปีนี้ เป็นการดำเนินการแบบเหวี่ยงแห คือ แก้ไขปัญหาแบบไม่เฉพาะเจาะจง ทำให้ปีหน้าสิ่งที่ไม่ควรจะทำคือ รัฐบาลไม่มีการวางแผนแพ็กเกจออกมา ว่าจะเริ่มที่โครงการใด ตามมาด้วยโครงการใด ทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานมากขนาดไหน และใช้งบประมาณมากน้อยเท่าใด เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนึกขึ้นได้ก็ทำ พอนึกอะไรได้ก็ทยอยทำออกมา ทั้งที่ความจริงแล้วต้องมีแผนเตรียมไว้เป็นแพ็กเกจ เพื่อความชัดเจนในการรับมือกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มีอยู่”

นี่คือมุมมองโดยตรงของกลุ่มธุรกิจรายเล็ก โดยเขาหวังว่าปี 2564 แค่เจ็บหนักเข้ารักษาตัวไอซียูชั่วคราว ไม่ถึงกับส่งขึ้นเตาเผา!!