รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ/เนื้อห้องทดลอง ความมั่นคงทางอาหาร โปรตีนสัตว์อาหารอนาคต

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

เนื้อห้องทดลอง

ความมั่นคงทางอาหาร

โปรตีนสัตว์อาหารอนาคต

 

แนวโน้มของปัญหาโลกร้อนคงจะต้องร้อนขึ้นต่อไปอย่างแน่นอน

และนั่นหมายถึง การผลิตอาหารของโลกใบนี้ก็จะมีปัญหาและผลิตได้น้อยลงไปตามกาลเวลา

เราควรใส่ใจเลือกอาหารที่มีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน และลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม, กระแสอาหารรักสุขภาพ

ลดสารต่างๆ ลงให้เหลือในปริมาณที่พอเหมาะ ถือเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคในอนาคต

ทั้งนี้ ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสินค้าหลากหลายประเภท และมีโอกาสมากที่จะได้เป็น “ครัวของโลก”

คนเมืองส่วนใหญ่ทั่วโลกมักจะมีกิจกรรมด้านสังคมจำนวนมาก และนำไปสู่อัตราการบริโภค ยิ่งในยุคนี้ที่มีธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่Žกลายเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการบริโภคที่มากขึ้น แถมมีการแข่งขันสูง ต่างก็งัดกลยุทธ์ทางการตลาดแบบง่ายๆ ประเภทลด แลก แจก แถม ทำให้ได้ลูกค้าหลากหลายกลุ่ม เพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขาย

นอกจากจะได้รับอาหารที่สดใหม่จากร้านอาหารที่หลากหลาย มีโอกาสเลือกร้านอาหารได้ตามความต้องการมากขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางออกจากบ้านแล้วยังทำให้ทุกคนในสังคมป้องกันการแพร่ระบาดจากเชื้อโควิด-19

ยิ่งมีการบริการเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ความต้องการก็เพิ่มขึ้นมากขึ้นเท่านั้น

 

อนาคตอันใกล้ ปัญหาอาหารขาดแคลนที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาหารในหมู่โปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันถึงราว 70% ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและรายได้ต่อหัวที่สูงขึ้น

แต่ขณะเดียวกันทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ กลับมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งพื้นที่ปศุสัตว์ แหล่งน้ำ พลังงาน รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้การผลิตอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการ

“อาหารทดแทน” จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาหารที่มีความปลอดภัย หลากหลาย เข้าถึงง่าย และมีราคาถูกลง แหล่งเพาะปลูก แหล่งเลี้ยงสัตว์จึงจำเป็น และได้มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาศึกษา วิจัย และทดลอง ปลูกถ่ายเซลล์เพื่อผลิตเนื้อสัตว์สำหรับเป็นทางเลือกทางรอดความมั่นคงทางอาหาร เป็นความพยายามแก้ไขปัญหาอาหารขาดแคลนที่เกิดขึ้นทั่วโลก

โดยเฉพาะอาหารในหมู่โปรตีนที่กำลังมีพัฒนาเนื้อไก่สังเคราะห์ เพื่อรองรับความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น

อาหารโปรตีนประเภทเนื้อสัตว์ทางเลือกอาจเป็นหนทางหนึ่งที่ดีต่อสุขภาพ

ซึ่งสำคัญต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่โรคต่างๆ เริ่มพัฒนาและต่อต้านการรักษาได้มากขึ้น

เมื่อประกอบกับการคาดการณ์ถึงภาวะขาดแคลนเนื้อสัตว์อันเนื่องมาจากปัจจัยของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่ใช้มีลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

เนื้อสัตว์ที่ใช้วิธีการปลูกขึ้นมาจึงอาจกลายเป็นอาหารหลักในไม่ช้า

 

เนื้อไก่สังเคราะห์ที่ผลิตจากสเต็มเซลล์ของไก่กับโปรตีนที่ได้จากพืชประเภทถั่วและสาหร่าย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชากรโลกสามารถรับประทานเนื้อไก่โดยไม่ต้องเลี้ยงไก่ ถือเป็นการประหยัดทรัพยากร ประหยัดที่ดินการเกษตร

และที่สำคัญ ไม่ต้องฆ่าไก่ แต่ได้เนื้อที่มีรสชาติคล้ายกับเนื้อไก่จริงๆ

เป็นแหล่งอาหารประเภทโปรตีนที่ผลิตขึ้นในห้องแล็บ เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ที่ได้จากฟาร์มปศุสัตว์ โดยใช้กระบวนการนำเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของสัตว์มาสกัดเป็นสเต็มเซลล์และทำการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์นั้นต่อบนจานแก้วในห้องแล็บ ก่อนจะนำไปผสมกับเส้นใยและไขมัน แต่งสีแต่งกลิ่น รสชาติ รสสัมผัส

เพื่อให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ

ปัจจุบันมีบริษัทกว่า 24 แห่งกำลังทำการทดลองผลิตเนื้อปลา เนื้อวัว และเนื้อไก่ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์

ธุรกิจเหล่านี้คาดหวังที่จะเข้าสู่ตลาดเนื้อสัตว์ทางเลือก ซึ่งอาจมีมูลค่าถึง 140,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี พ.ศ.2572

 

สํานักงานอาหารของประเทศสิงคโปร์ (Singapore Food Agency) อนุมัติให้ Eat Just บริษัทด้านเทคโนโลยีอาหารจากประเทศสหรัฐอเมริกาขายเนื้อไก่สังเคราะห์ในห้องแล็บ ที่ทำจากเซลล์สัตว์เป็นครั้งแรกของโลกแล้ว

สำหรับเนื้อไก่สังเคราะห์จากเซลล์สัตว์นี้ Eat Just เผยผลการทดสอบว่า มีจุลชีววิทยา (สิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) น้อยกว่าเนื้อไก่ธรรมดาเสียอีก นอกจากนี้ ยังมีปริมาณโปรตีนสูง มีไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีกรดอะมิโน และแร่ธาตุต่างๆ ด้วย

แต่ต้องเผชิญกับความท้ายทายอีกมาก ทั้งเรื่องราคา การตรวจสอบ และการยอมรับจากผู้บริโภค

แต่ในที่สุดแล้วการผลิตเนื้อสังเคราะห์จากห้องแล็บอาจจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความต้องการของผู้บริโภคตลอดจนด้านความปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมที่กำลังแย่ขึ้นทุกวัน

 

แหล่งอาหารในอนาคตที่นอกจากจะขาดแคลนแล้วยังปนเปื้อนสารต่างๆ จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำให้เป็นบ่อเกิดโรคต่างๆ

แต่มนุษย์ก็ยังคงต้องการบริโภคเนื้อสัตว์จำนวนมาก สังเกตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 บางพื้นที่ในโลกประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร

3 องค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ออกมาเตือนร่วมกันถึงการออกไปซื้อข้าวของมากักตุนในหลายพื้นที่ของโลก กำลังเป็นลางบอกเหตุว่าจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการเข้าถึงอาหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดการควบคุมการส่งออก ไปจนถึงการขาดแคลนอาหารในตลาดโลกตามมา

หากเกิดโรคระบาดรอบใหม่ที่ควบคุมไม่ได้หลายประเทศจะพากันประกาศการบังคับใช้มาตรการปิดเมืองและการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing จะส่งผลกระทบกับประชากรโลกกับความมั่นคงทางอาหาร

ถือเป็นความท้าทายอย่างหนัก โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีหลายประเทศอยู่ในสถานะยากจนที่สุดในโลก ที่ประชากรกำลังเผชิญกับการสูญเสียวิถีการดำรงชีวิตทั้งหมด

การอนุมัติของสิงคโปร์ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อจากห้องทดลอง ที่หลายบริษัทเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และจะกลายเป็นตัวอย่างที่อาจทำให้หลายประเทศดำเนินรอยตามในอนาคต

ทดแทนวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารในอนาคต