สนามเลือกตั้งที่ชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไร ? กลยุทธ์หรือปัจจัยใดชี้ขาด ?

รายงานพิเศษ : โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งที่ชายแดนภาคใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ช่วงนี้การเมืองท้องถิ่นค่อนข้างคึกคัก อันเนื่องมาจากอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) หลังจากการเมืองท้องถิ่นถูกแช่แข็งจากรัฐบาล คสช.กว่า 5 ปี

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายพื้นที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ไม่ต่างจากที่อื่น เพียงแต่ที่นี่การเลือกตั้งอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ท่ามกลางไฟใต้กว่า 16 ปี ซึ่งสื่อได้รายงานข่าวว่า “พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ออกปากเรียกผู้สมัครในพื้นที่นี้มาคุยนอกรอบและทำข้อตกลงกันอย่างจริงจังว่าจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย ห้ามใช้ความรุนแรงหรือใช้อาวุธโดยเด็ดขาด!”

สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่วิถีวัฒนธรรมมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย ดังนั้น ในเรื่องนโยบายที่ผู้สมัครเสนอกับกลยุทธ์การหาเสียงลงพื้นที่เพื่อให้ได้คะแนนจึงแตกต่างจากที่อื่นๆ

นโยบายการหาเสียง

สําหรับนโยบายที่ผู้สมัครในภาพรวมซึ่งที่นี่ต่างจากที่อื่นจะโฟกัสไปที่ “พัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานท้องถิ่น ศาสนา และวัฒนธรรม”

พร้อมทั้งนโยบายแก้ปัญหาเร่งด่วนที่เป็นความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนในพื้นที่ด้วย ได้แก่ ปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ผลกระทบจากโควิด โดยท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่น

อย่างไรก็แล้วแต่ คนในพื้นที่อยากเห็นมากกว่านั้นในด้านเศรษฐกิจ กระแสหลักในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชายแดนใต้ ที่สามารถส่งเสริมการค้าชายแดนครบวงจร สร้างความเชื่อมั่นและแรงจูงใจในการลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีการเชื่อมโยงกับรัฐบาลท้องถิ่นประเทศมาเลเซีย โดยใช้ศักยภาพทางภาษาและวัฒนธรรมเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ สามารถร่วมมือกับประเทศมาเลเซียอย่างใกล้ชิดทั้งในระดับรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนที่ยากจนในพื้นที่แม้ช่วงนี้ประเทศจะปิดช่วงโควิด

ส่วนในด้านการศึกษา เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรูปแบบการศึกษาเป็นการเฉพาะหลายรูปแบบ ว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน และอุดหนุนการจัดการศึกษาทุกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนเอกชนสามัญและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม รวมทั้งส่งเสริมการเรียนการสอนทางศาสนาของทุกศาสนาในสถาบันการศึกษารูปแบบต่างๆ ทั้งในศาสนสถานไม่ว่ามัสยิดและวัด ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาทางเลือกนอกเหนือจากกระทรวงศึกษาธิการ

ส่งเสริมให้มีค่าตอบแทนครูสอนศาสนา ที่ชายแดนภาคใต้มีครูสอนศาสนามากที่สุดในประเทศไทย แต่ต้องไม่ลืมส่งเสริมระบบการศึกษาบนฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ รวมทั้งพัฒนาความคิด สติปัญญา และศักยภาพของทุกชาติพันธุ์โดยเริ่มต้นจากภาษาแม่ อาทิ ภาษามลายู ภาษาอาหรับ และภาษาจีน

กลยุทธ์การได้คะแนน

จริงอยู่เรื่องนโยบายการหาเสียงที่กล่าวมาแล้วมีความสำคัญก็จริง แต่การที่ชาวบ้านจะลงคะแนนให้ สำหรับที่นี่มีกลยุทธ์ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ และปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินยังเป็นปัจจัยหลักในการหาเสียง แจกผ่านผู้นำ (บางคนเท่านั้น) จากครูสอนศาสนา สถาบันการศึกษาศาสนาและผู้นำศาสนา ด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย

พร้อมยืนยันหลักคำสอนศาสนาว่า เงินนักการเมืองให้ไม่บาป เพราะมันไม่ใช่เงินสินบน ซึ่งจะใช้ศัพท์ศาสนาและพื้นที่เรียกเงินที่นักการเมืองให้ว่าฮาดียะห์ หรือฮิบะห์ หรือศอดาเกาะ “ดือเกาะฮฺ” ไม่ใช้ริชวะห์ (สินบน)

มีการล้อกันว่า “เงินซื้อเสียง” ฟังแล้วเหมือนขัดกับหลักศาสนา “เงินดือเกาะฮฺ (บริจาค) ฟังแล้วดูหล่อหน่อย”

จนมีการตอบโต้จากผู้รู้ผู้นำศาสนาระดับชั้นนำเช่นกัน มีเรื่องดราม่าถกเถียงกันอย่างเมามันในโลกโซเชียล (มีเฉพาะชายแดนภาคใต้) มีการนำคลิปผู้นำศาสนา 2 ฝั่งมาประกอบหลักฐาน

ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องกับงานวิจัยหนึ่งของนายอิมรอน สอเหาะ ไปสัมภาษณ์ผู้นำศาสนากับการเลือกตั้ง

ซึ่งนายรอมฎอน ปัญจอร์ นักวิชาการ มอ.ปัตตานี ให้ทัศนะว่า “#ผู้นำศาสนาอิสลาม มีความเห็นที่แตกต่างกันดังนี้ (ได้กับไม่ได้) ดูวิธีการให้เหตุผลและตีความของพวกเขาครับ เรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก เพราะจะสามารถประเมินได้ว่าถ้าต้องการการเมืองดีและมีศักดิ์ศรีนั้น ผู้คนในชายแดนใต้หรือปาตานี โดยเฉพาะมุสลิม จะต้องถกเถียงและสู้รบในทางความคิดกันขนาดไหน”

“คิดดูละกันว่าหากเงินซื้อเสียงกลายเป็นทั้ง #เงินบริจาค และเป็น #การเสียสละ เพื่อทำ #บาปเล็กๆ ด้วยแล้ว เราจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นรากฐานของการเมืองที่เห็นหัวผู้คนธรรมดาสามัญได้อย่างไร?”

“#สินบนในคราบบริจาคกรณีการเลือกตั้ง ข้อถกเถียงที่มีเฉพาะชายแดนใต้ผ่านศัพท์ศาสนาและพื้นที่ ด้วยคำว่า “ริชวะห์, ฮิบะห์ และฮาดียะห์””

ผู้เขียนจึงขอชี้แจงและแสดงความเห็นว่า หากเป็นเงินฮิบะฮ์หรือฮาดียะห์ในแง่วิชาการเป็นอย่างไร?

ฮิบะห์เป็นภาษาอาหรับแปลว่า “การยกให้”

หมายถึงการมอบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในขณะที่ผู้มอบยังมีชีวิตอยู่ให้แก่ผู้อื่นโดยไม่มีสิ่งแลกเปลี่ยน ซึ่งอยู่ในความหมายนี้เช่นกันกับฮาดียะห์

คำว่าฮาดียะห์ เป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึงการมอบสินน้ำใจหรือของขวัญ ในหลักการอิสลามโดยทั่วไปสนับสนุน อันเนื่องมาจากมีวัจนศาสดา (ฮะดีษ) มากมายสนับสนุน เช่น

– การมอบสินน้ำใจให้แก่ผู้อื่นจะทำให้ความเป็นศัตรูหายไป (ฮะดีษติรฺมีซี และอะฮฺหมัด)

– การให้สิ่งใดแก่ผู้อื่นจะทำให้อัลลอฮฺเพิ่มริสกีให้เรา (ฮะดีษอิบนุอาดี)

– การมอบของขวัญซึ่งกันและกันจะทำให้ความรักใคร่เพิ่มพูนขึ้น (ฮะดีษฏ็อบรอนี)

อย่างไรก็แล้วแต่ ศาสนทูตมุฮัมหมัดห้ามให้ฮาดียะห์

แต่ที่สำคัญกว่าฮาดียะห์จะแปลงไปสู่ริชวะห์ทันทีหากมีผลต่อการตัดสินคดีหรือมีผลได้ผลเสียต่อผู้ให้กับคู่แข่ง

ดังนั้น ก็ลองพิจารณาดูว่า ฮิบะห์หรือฮาดียะห์แบบนี้ช่วงเลือกตั้งในหลากรูปแบบและที่คลาสสิคทำมานานแล้วใส่ซองให้ผู้รู้ ผู้นำศาสนา นักเรียน นักศึกษาและชาวบ้านที่มาละหมาดฮายัต ซึ่งหมอแว นราธิวาส (นายแพทย์แวมะหะดี แวดาโอ๊ะ (อดีต ส.ส.นราธิวาส) ออกมายืนยันในฐานะคนมีประสบการณ์การเมืองว่า “เงินที่นักการเมืองลงทุนนั้นจะส่งผลร้ายให้กับสังคมอย่างมหาศาล”

วันที่ 20 ธันวาคมนี้ อนาคตของจังหวัดและชุมชนอยู่ในมือท่าน อย่าให้อำนาจเงิน ความเป็นเครือญาติ และการทุจริตทุกประเภทอยู่เหนือความถูกต้องที่อยู่ภายใต้หลักคุณธรรมและจริยธรรม