หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ชะตากรรม’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ควายป่า - ป่าด้านตะวันตก ไม่เพียงเป็นถิ่นอาศัยสุดท้ายของควายป่า แต่ด้วยความที่เป็นป่าผืนใหญ่ติดต่อกัน จึงเป็นความหวังที่ดีในการอยู่อาศัยของเหล่าสัตว์ป่าอื่นๆ ด้วย

หลังเลนส์ในดงลึก /ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ชะตากรรม’

 

เราพูดกันบ่อยว่า “การเดินทางสู่จุดหมายไม่ได้มีเพียงหนทางเดียว เราจำเป็นต้องรู้ และเลือกเส้นทางให้เหมาะสม”

ซึ่งก็จริง

แต่ดูเหมือนว่า การเดินทางในป่า บางครั้งคำเปรียบเปรยนี้ก็เป็นตรงกันข้าม

จุดหมายในป่า บางแห่งมีเพียงเส้นทางเดียวที่จะไปได้ถึง มีลำห้วย มีเนินชันลื่นไถล มีหล่มลึกเดิมๆ ซึ่งต้องผ่าน

หล่มบนเส้นทางในป่า คือสิ่งที่ต้องพบ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูกาลใด แม้ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูแล้ง หล่มลึกดินแห้งๆ ที่มักจะพรางตา กระทั่งนำรถลงไปติดเสมอ

การนำรถขึ้นจากหล่มไม่ง่าย

หล่มบางแห่งไม่สามารถใช้ทางเบี่ยง เพราะสองข้างทาง ด้านหนึ่งคือผาชัน อีกด้านเป็นหุบเหว เมื่อเลี่ยงไม่พ้น หรือด้อยทักษะเกินกว่าจะหลบเลี่ยง

หลายครั้งอีกนั่นแหละ ที่เรามักปลอบใจตัวเอง เมื่อตกอยู่ในหล่ม ว่าเป็นเพราะชะตากรรม…

 

โดยอาชีพนอกจากกล้องและเลนส์ รถขับเคลื่อนสี่ล้อก็เป็นเครื่องมืออีกอย่างที่ผมต้องพึ่งพา ทั้งบรรทุกอุปกรณ์ รวมทั้งพาไปถึงจุดหมาย ช่วยทุ่นแรงในการเดินได้มาก

แต่อีกนั่นแหละ บางครั้งรถก็ทำให้ใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นในการนำมันขึ้นจากหล่มที่พลาดลงไปติด

แม้ว่าทุกวันนี้ รถขับเคลื่อนสี่ล้อรุ่นใหม่ๆ จะมีสมรรถนะที่ดี อีกทั้งเรามีอู่ มีช่างเก่งๆ มากมาย ดัดแปลง ช่วยให้รถแล่นไปตามเส้นทางทุรกันดารได้ดียิ่งขึ้น

แต่รถซึ่งใช้งานจริงในป่า เกือบทั้งหมดโดยเฉพาะในป่าด้านตะวันตก อยู่ในสภาพเดิมๆ เป็นรถที่มีอายุเกินกว่า 20 ปี แต่ละคันจะมีชื่อ และเป็นตำนานคู่มากับคนขับ ซึ่งเริ่มต้นบุกเบิกป่าอนุรักษ์เหล่านี้ตั้งแต่ต้น

รถรุ่นใหม่ๆ ที่ในป่าอนุรักษ์ได้รับมา พวกนั้นจะถูกใช้งานในทางเรียบๆ วิ่งระหว่างสำนักงานเขตกับเมือง

ส่วนทางยากๆ ระหว่างสำนักงานเขตกับหน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ เป็นหน้าที่ของบรรดา “อีแก่” ทั้งหลาย ทั้งหมดคือ กระบะคานแข็ง ตัวถังสีขาวยับๆ

หากจอดอยู่ที่ตลาดในเมือง คือรถบุโรทั่ง แต่บนหนทางในป่า อีแก่เหล่านี้แหละ คือนางเอกในชีวิตจริง

 

ปีหนึ่ง ผมร่วมทำงานกับทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เราอยู่ในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออกสองเดือน เป็นสองเดือนอันค่อนข้างสะบักสะบอม

ช่วงเวลาที่สายฝนกำลังจากไป โครงสร้างผิวดินซึ่งเป็นดินเหนียวผสมหินปูน ทำให้ทางลื่น หล่มลึก และเริ่มแห้งแข็ง

ไม่เพียงคนสะบักสะบอม “นังนวล” พาหนะก็สะบักสะบอมไม่แพ้กัน

“หนาวครับ หนาวมากๆ บางวันไม่ถึง 4 องศา ปากแตก ตัวแห้งไปหมด” มีแต่เสียงบ่นทำนองนี้

“ดีว่ามีเหล้าต้มในหมู่บ้านช่วยคลายหนาวได้บ้าง” เหล้าต้มหมู่บ้านปากทางเข้าป่า ขึ้นชื่อว่ารสชาติดี

ในป่าด้านตะวันตกพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ เป็นแหล่งอาศัยที่มีความหวังของเหล่าสัตว์ป่า เป็นพื้นที่ซึ่งมีการศึกษาเรื่องเสือและเหยื่อของมันมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปกป้องดูแลอย่างจริงจัง

กลับถึงสถานี คนพักผ่อน นังนวลเดินทางเข้าอู่ซ่อมบำรุง

 

ทํางานในป่าด้านตะวันตก คนที่เคยขับรถ “อีแก่” ทั้งหลาย ถูกพูดถึงบ่อยๆ หลายคนเกษียณจากงานไปแล้ว อย่างพี่จอน ป่าทุ่งใหญ่ตะวันออก น้ามืด ป่าทุ่งใหญ่ตะวันตก หรือรุ่นต่อมาอย่างจิตติ จนมาถึงรุ่นเล็กอย่างพิทักษ์

ลุงอ๊อดแห่งเขานางรำ ก็เป็นตำนานที่คู่มากับ “ท่านแก่”

เรื่องราววีรกรรมของรถและคนเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงในวงสนทนาบ่อยๆ

“พี่จอนขับนำหน้า เราตามหลัง บางทีทางยากๆ แกผ่านไปเฉยๆ พวกเราต้องขุดต้องวินช์”

“ตอนข้ามสะพานนั่นอีก ไม้ข้างละท่อน แกผ่านไป เราตก”

เรื่องเล่าถึงบรรดา “มือหนึ่ง”

เดินทางในป่า หากหล่มลึกเป็นคล้ายอุปสรรค

มีหลายคนผ่านไปได้ง่ายๆ แต่หลายคนทำไม่ได้เช่นนั้น

 

ในป่า บางเส้นทางเราต้องใช้หากจะเดินทางไปจุดหมาย มีหล่มลึกอยู่บนเส้นทางที่ผมเคยลงไปติด

หล่มนั้น มองเผินๆ ดูพรางตา

บนหนทางที่ใช้ทุกวัน เรารู้ดีว่า หล่มลึกอยู่ตรงไหน ด้วยสมรรถนะของรถทุกวันนี้ รวมกับทักษะ ประสบการณ์ ช่วยให้ผ่านพ้นหล่มมาได้

หล่มคือสิ่งที่ผมพูดถึงบ่อย นานมากแล้ว ผมเคยพูดถึงหล่มไว้ว่า เมื่อพลาดพลั้งลงไปติด เรามีคำว่าชะตากรรมไว้ปลอบใจ

ในวัยหนึ่ง ผมรู้สึกเช่นนี้ เชื่อว่า ชะตากรรมกำหนด ราวกับว่าหล่มคือสิ่งอันหลีกเลี่ยงไม่พ้น

 

ผ่านมาถึงวันนี้ ผมยังเดินทางในป่า แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่นำรถลงไปติดหล่ม อาจเพราะด้อยทักษะ ประมาท ใจร้อน ไม่ยอมลงจากรถเพื่อพิจารณาดูให้รอบคอบ บางครั้งไม่สังเกตด้วยซ้ำว่ามีทางเบี่ยงข้างๆ

สำหรับผม การผ่านพ้นหล่มไปเพื่อไปให้ถึงจุดหมายจำเป็น

ทุกวันนี้ เมื่อนำรถลงไปติดในหล่ม สิ่งที่ผมทำคือ ใช้เวลาทั้งหมด คิดหาทางนำรถขึ้นจากหล่ม

ผ่านพ้นมาได้ ต้องจำไว้เป็นบทเรียน มันคือ “ผล” จากความพลาดพลั้ง ด้อยทักษะ

และไม่ใช่ “ชะตากรรม”…