ชี้รัฐบาลเมินวิกฤต ‘อังกฤษ’ ดิ่ง ฉะงบศึกษาเพิ่ม-แต่อันดับ ‘ภาษา’ ร่วงทุกปี

ชี้รัฐบาลเมินวิกฤต ‘อังกฤษ’ ดิ่ง ฉะงบศึกษาเพิ่ม-แต่อันดับ ‘ภาษา’ ร่วงทุกปี ‘สมพงษ์’ จี้ถาม ศธ.จะรับผิดชอบแบบไหน

ภาษาอังกฤษ – ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกรณีดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ ซึ่งจัดอันดับโดย Education First หรืออีเอฟ ได้เปิดเผยการจัดอันดับทั้ง 100 อันดับ โดยประเทศไทยตกลงมาอยู่อันดับที่ 89 เกือบรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน ว่า สาเหตุที่อันดับความสามารถทางภาษาอังกฤษของประเทศไทยลดลง และเกือบรั้งท้ายของโลก เกิดจากการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทยผิดพลาด คือเน้นการสอนแกรมม่า และให้ท่องจำ มากกว่าการสอนเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งรู้ต้นเหตุ รู้ปัญหาอยู่แล้ว เพราะปัญหานี้พูดกันมา 20-30 ปี แต่ไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น

“จะพบว่าเมื่อมีการประกาศอันดับความสามารถทางภาษาอังกฤษแล้ว ไทยอยู่ในอังดับที่ไม่ดี ก็จะมีการรับปาก มีนโยบายมาแก้ไขปรับปรุง แต่กลายเป็นว่าอันดับของไทยยิ่งตกลงมาเรื่อยๆ ผมมองว่าไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาจำนวนมาก มีโรงเรียนนานาชาติจำนวนมาก มีซอฟต์แวร์ที่รองรับการสอนภาษาอังกฤษที่ดีมาก แต่ไม่เคยนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ และนำสิ่งเหล่านี้ไปแก้ไขปัญหาความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนไทยเลย” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คุณภาพการศึกษาในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังฤษ ทักษะการอ่าน หรือผลการสอบในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA อยู่ในระดับที่แย่ทั้งหมด แล้วยังจะบอกว่าประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษาอยู่อีกหรือ และเมื่ออันดับความสามารถทางภาษาอังกฤษของประเทศลดลง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องการสอนภาษาอังกฤษในประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะแสดงความรับผิดชอบแบบไหน เพราะในขณะที่ ศธ.ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น บุคลากรได้รับค่าตอบแทนดีขึ้น แต่อันดับความสามารถทางภาษาอังกฤษกลับตกทุกปี ถือว่าสวนทางกันโดยสิ้นเชิง

“ศธ.จะปล่อยให้เรื่องเหล่านี้ดำเนินไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่อับอาย แล้วควรแก้ไขอย่างจริงจังหรือ พอมีข่าว ก็ประกาศนโยบายแก้ไขอยู่อีกหรือ ผมมองว่าขณะนี้ยังไม่มีการแก้ไขจริงจัง หรือไม่มีการดำเนินนโยบายที่ชัดเจน และต่อเนื่องเลย แต่เมื่อมองไปที่เวียดนาม ที่ก่อนหน้านี้อันดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษตามหลังไทย แต่ปัจจุบันนำหน้าไทยไปแล้ว เพราะรัฐบาลเห็นความสำคัญ จึงมีนโยบายชัดเจนว่าจะต้องทำให้ประชาชนพูดภาษาอังกฤษให้ได้ ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม มีสื่อการเรียนการสอน มีพื้นที่สาธารณะให้ฝึกพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นต้น” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า แต่เมื่อเป็นประเทศไทย ปัญหาเรื่องนี้ใหญ่ แต่กลับมีคนรับผิดชอบน้อย และวิธีแก้ไขนั้น ไม่สามารถทำให้คุณภาพ และความสามารถทางภาษาอังกฤษของคนในประเทศดีขึ้นได้เลย ถ้าตราบใดที่กระบวนการแก้ไขยังเป็นแบบนี้อยู่ และคนที่รับผิดชอบด้านการศึกษา ไม่ได้ตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สร้างความเสียหาย สร้างผลกระทบให้กับประเทศอย่างรุนแรง ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ไปได้ แล้วรัฐบาลก็ยังนิ่งนอนใจ เพราะมองว่าติดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำให้ครูต่างชาติเข้าประเทศไม่ได้ แต่ตนมองว่า แม้จะนำเข้าครูต่างชาติมามากเท่าใด ความสามารถทางภาษาอังกฤษของประเทศก็ไม่ดีขึ้น และตราบใดที่รัฐบาลยังไม่คิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาวิกฤตของประเทศ เพียงแต่รับฟังว่ามีปัญหาเกิดขึ้น และรับปากว่าจะแก้ไข และปล่อยผ่านไปแบบนี้ จะไม่มีทางพัฒนาความสามารถทางภาษาอังกฤษของประเทศได้

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์รายปี ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่