เทศมองไทย : วัคซีนโควิด-19 ความหวังที่ยังห่างไกลของคนไทย

พัฒนาการที่น่ายินดีของบรรดาบริษัทเภสัชกรรมและชีวเทคโนโลยีแห่งปี 2020 ของทั้งโลก คงหนีไม่พ้นการคิดค้นจนประสบความสำเร็จในการทดลองวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีไม่น้อยกว่า 3 บริษัทแล้ว

เริ่มต้นจากการประกาศผลการประเมินเบื้องต้นของวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่พัฒนาโดยไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ที่ว่ามีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์

ต่อด้วยวัคซีนชนิดเดียวกันของโมเดอร์นา ที่ประเมินการทดลองระยะที่ 3 เบื้องต้นได้ประสิทธิภาพมากกว่า 94 เปอร์เซ็นต์

และสุดท้ายคือ วัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

ความสำเร็จในเชิงประสิทธิภาพดังกล่าวเกินความคาดหมายของผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาหลายคน

รวมทั้งนายแพทย์แอนโทนี่ ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเฉพาะกิจในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกาอยู่ในเวลานี้

นายแพทย์ฟาวซีกับผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดการณ์เอาไว้ว่า วัคซีนที่พัฒนากันอยู่น่าจะได้ประสิทธิภาพอยู่ที่ระหว่าง 70-75 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น การประเมินประสิทธิภาพได้ในระดับ 70-94-95 เปอร์เซ็นต์ครั้งนี้ จึงมีประสิทธิภาพในระดับที่คาดหวัง หรือดีเกินกว่าที่คาดหมายไว้ทั้งสิ้น

และเป็นผลงานที่ “น่าประทับใจ” ถึงขนาด “น่าทึ่ง” อย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงกรอบเวลาและองค์ความรู้เกี่ยวกับซาร์ส-โควี-2 ที่จำกัดแคบเพียงแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น

 

แต่ในท่ามกลางความตื่นเต้น เต็มไปด้วยความคาดหวังของคนทั้งโลก นายแพทย์ฟาวซีกลับบอกเพียงว่า ปรากฏการณ์ด้านวัคซีนครั้งนี้ เปรียบได้เสมือนเป็นเพียงแค่ “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” เท่านั้นเอง

รัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ผู้ที่รับผิดชอบในการรับมือกับโควิด-19 ของสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ซีเอ็นบีซีเอาไว้ในทำนองเดียวกันอุปมาว่า วัคซีนไม่ใช่ “ซิลเวอร์บุลเล็ต” ของโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักในเวลานี้แต่อย่างใด

วัคซีนไม่สามารถขจัดการแพร่ระบาดได้ในเวลาชั่วกะพริบตาเหมือนกับการใช้กระสุนเงินนัดเดียวสังหารมนุษย์หมาป่าเหมือนในตำนานใดๆ ทั้งสิ้น

คำเตือนของผู้เชี่ยวชาญหลายคนตรงกันว่า เรายังคงอยู่ห่างไกลอย่างมากกับการมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย มากเพียงพอต่อการกำจัดโควิด-19 ให้หมดไป หรือไม่ให้เป็นผลคุกคามต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เราตามวิถีสามัญปกติได้

ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน

 

ประการแรกสุดที่ต้องคำนึงก็คือ ผลการทดลองวัคซีนที่สมบูรณ์ พร้อมกระบวนการพัฒนาที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องและแม่นยำยังไม่มีเกิดขึ้น เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า ในระยะยาว วัคซีนที่พัฒนาขึ้นจะส่งผลในทางลบอย่างหนึ่งอย่างใดต่อผู้ได้รับวัคซีนหรือไม่ เช่นเดียวกับที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นเป็นประสิทธิภาพในการ “ยับยั้ง” การติดและแพร่เชื้อโควิดหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ประสิทธิภาพ เพียงแค่ว่า หากเกิดการติดเชื้อขึ้นมาแล้ว วัคซีนสามารถป้องกันไม่ให้บุคคลนั้นๆ ไม่เกิดอาการป่วยหนัก ชนิดเสี่ยงต่อการเสียชีวิตขึ้นมาเท่านั้น

ประการถัดมาก็คือ ปัญหาในการผลิต จำหน่ายจ่ายแจกวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาได้ จะยังคงไม่ทั่วถึงและตอบสนองความต้องการของทุกคนในทุกประเทศทั่วทั้งโลกได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค มีความยุ่งยากซับซ้อนในการแจกจ่ายมากที่สุด เนื่องจากจำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิต่ำมากถึง -70 องศาเซลเซียส ทำให้แต่ละประเทศอย่างน้อยต้องมีตู้แช่แข็งทางการแพทย์ขนาดใหญ่ไว้เพื่อการนี้ อย่างน้อยหนึ่งจุดเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเก็บรักษา หากจำเป็นต้องใช้วัคซีนตัวนี้ ซึ่งทำให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายหมดสิทธิใช้งานไปโดยปริยาย

วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาเร็วที่สุดหลายตัวนี้ย่อมเป็นที่ต้องการและแย่งชิงของนานาประเทศ โดยเฉพาะชาติร่ำรวยทั้งหลายที่มีความพร้อมในการจัดซื้อจัดหามากกว่า ตัวอย่างเช่น ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค วัคซีนที่ผลิตได้ในช่วงแรกๆ มีผู้จับจองเป็นเจ้าของแล้วทั้งสิ้น เป็นต้น

นั่นหมายความว่า การแจกจ่ายวัคซีนให้ถึงมือประชาชนให้ได้ในจำนวนที่จำเป็นเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ระดับโลกขึ้นมาอีกครั้งย่อมต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ไม่แน่อาจเป็นถึงตอนปลายปี 2021 หรือราวต้นปี 2022 ด้วยซ้ำไป

 

ประการสุดท้าย องค์ประกอบที่จำเป็นในการกำจัดโควิด-19 ไม่ได้มีแค่วัคซีนเพียงอย่างเดียว แต่เราจำเป็นต้องใช้ทุกเครื่องมือเท่าที่เรามีอยู่เพื่อการนี้

ตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบเพื่อยืนยันการติดเชื้อ ไปจนถึงยาสำหรับเยียวยาผู้ป่วยโควิด ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีอะไรรุดหน้าไปมากมายเท่าใดนัก

การตรวจหาเชื้อที่รวดเร็วและแม่นยำที่สุดที่เรามีอยู่ ยังคงเป็นการใช้กระบวนการโพรีเมอเรส เชน รีแอ็กชั่น หรือพีซีอาร์ ที่ยังกินเวลาข้ามวันกว่าจะได้ผลยืนยันออกมาเท่านั้นเอง

ตราบใดที่เรายังไม่สามารถพัฒนาระบบการตรวจหาเชื้อที่แม่นยำพอกันหรือสูงกว่า แต่สามารถบอกผลได้อย่างรวดเร็ว ต้นทุนในการตรวจต่ำ ใช้งานได้โดยง่าย

ตราบนั้นก็ยากที่เราจะควบคุมโควิด-19 ได้ อย่าว่าแต่จะกำจัดมันไปจากโลกนี้เลย