ศัลยา ประชาชาติ : เบื้องลึก “ศักดิ์สยาม-บีทีเอส” ชักเย่อสัมปทานรถไฟฟ้าแสนล้าน จับ “คนกรุง-สายสีเขียว” เป็นตัวประกัน

จากคนคุ้นเคย กลายเป็นคนแปลกหน้า หลัง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ออกโรงขย่มปมขยายสัญญา 30 ปี สัมปทานแสนล้าน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว”

เป็นสัมปทานในมือเจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส “คีรี กาญจนพาสน์” ที่ปัจจุบันกลายเป็นหุ้นส่วนธุรกิจยักษ์รับเหมาค่ายสีน้ำเงิน “ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” ใต้ลมปีกครอบครัว “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อ “บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” เจ้ากระทรวงคลองหลอด ในฐานะต้นสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) คู่สัญญา บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้ กทม.ลงนามสัญญาต่ออายุสัมปทานกับ BTSC เป็นวาระจร เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา หลังขุนคลังคนใหม่ทำความเห็นแนบวาระเป็นที่เสร็จสรรพ

โดยกระทรวงการคลังทำหนังสือยืนยัน 3 ประเด็น

1. การเจรจาสัมปทานไม่ขัดกับ พ.ร.บ.ร่วมทุน เนื่องจากดำเนินการตามคำสั่ง คสช.

2. ทำตามข้อตกลงคุณธรรมตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง

3. การรับโอนหนี้งานโยธาช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ กว่า 6 หมื่นล้าน จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่ขัดกับการบริหารหนี้สาธารณะ

เมื่อกระทรวงการคลังเคลียร์คัตให้แล้ว “บิ๊กคลองหลอด” ก็คิดว่ารถไฟฟ้าสายนี้จะฉลุย จึงเสนอที่ประชุม ครม.ขอไฟเขียว เพราะมั่นใจว่าได้เดินหน้าเจรจาตามคำสั่ง คสช.ที่ออกมาเมื่อเดือนเมษายน 2562 ครบถ้วน ทุกอย่างผ่านการเจียระไนมาหลายรอบ ตอบคำถามในสภา-นอกสภาหลายครั้ง

แต่สุดท้ายกลับแฉลบตกราง จนปิดดีลไม่ลง

 

วันนั้น ครม.รับทราบตามที่มหาดไทยเสนอ ยกเว้น “ศักดิ์สยาม” ที่งัด 4 ประเด็นมาหักล้างการขยายสัมปทาน โดยกรมการขนส่งทางราง กรมน้องใหม่ ทำความเห็นเพิ่มเติมเสนอให้ ครม.พิจารณาประกอบ ก่อนการประชุม 1 วัน

จะว่าไปแล้ว “คมนาคม” เคยทำรายงานเสนอ ครม.ช่วงเดือนมิถุนายน 2563 เป็นการรายงานภาพรวมไม่ได้ให้ความเห็นไม่ว่าจะบวก-ลบ แต่ครั้งนี้พุ่งเป้าชัด 4 ประเด็นคือ

1. ความครบถ้วนตามหลักการ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562

2. ค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาท แพงเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเก็บค่าโดยสารสูงสุดเพียง 42 บาท

3. รัฐจะเสียโอกาสใช้ประโยชน์สินทรัพย์ที่จะรับโอนจากเอกชนภายหลังหมดสัญญาในปี 2572 หรือไม่

และ 4. กรณีจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายเมื่อปี 2555 ซึ่งถูกร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ควรรอผลการพิจารณาของ ป.ป.ช. ก่อนหรือไม่

นั่นทำให้ “บิ๊กป๊อก” ต้องโต้กลับว่า ที่ผ่านมาคมนาคมไม่เคยมีความเห็นแย้ง ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รีบตัดบทให้มหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำความเห็นตามที่คมนาคมเสนอเพิ่มเติม

ปฏิบัติการค้านหัวชนฝาของ “ศักดิ์สยาม” เอาสัมปทานสายสีเขียวเป็นตัวประกัน ถูกตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมีนัยยะสำคัญบางอย่างเบื้องหลัง ไม่งั้นคงไม่ออกตัวแรงขนาดนี้

มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจติดพันมาจากรถไฟฟ้าสายสีส้มบางขุนนนท์-มีนบุรี ที่การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังเปิดประมูล PPP net cost ให้เอกชนหาเงิน 128,128 ล้านบาท ก่อสร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม จัดหาระบบ ขบวนรถ และรับสัมปทานเดินรถ 30 ปี ที่กำลังกลายเป็นปมพิพาทคาอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด จากที่ รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลใหม่ หลังปิดขายซองทีโออาร์ไปแล้ว

 

“ศักดิ์สยาม” ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นการเสนอไปตามหลักการ ตามที่ ครม.ขอความเห็น และขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติมเข้ามา ยืนยันว่าไม่ได้ขวางลำใครทั้งนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เป็นการทำงานร่วมกัน ส่วนที่ถูกมองว่าเป็นเกมการเมือง และเกี่ยวโยงกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตนไม่เห็นจะเป็นประเด็นตรงไหน เพราะบีทีเอสก็ได้เข้าร่วมยื่นซองประมูล

ขณะที่ “คีรี กาญจนพาสน์” บิ๊กบอสบีทีเอส ย้ำชัด ที่ผ่านมาคมนาคมมีความเห็นถึง ครม. 3 ครั้ง และการเจรจากับทุกหน่วยงานจบไปนานแล้ว คิดว่าไม่เคยมีโครงการไหนจะถูกซักเยอะมากขนาดนี้

ส่วนการนำค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท เทียบกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 42 บาทคงไม่ได้ เพราะทั้ง 2 ระบบแตกต่างกัน ทั้งการลงทุน ต้นทุน และระยะทาง ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในสัมปทานฉบับใหม่บีทีเอสต้องใช้เงินลงทุน 100,000 ล้านบาท พร้อมแบ่งผลตอบแทนให้ กทม.ด้วย

อย่างไรก็ตาม พร้อมให้ความร่วมมือภาครัฐ

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า บีทีเอสทำหนังสือทวงหนี้ค่าเดินรถสายสีเขียวส่วนขยาย 8,000 ล้านบาท ที่ กทม.ติดค้างมาตั้งแต่ปี 2561 พร้อมขู่จะหยุดวิ่ง และจะกระทบถึงการเปิดบริการส่วนต่อขยายที่ไปถึงสถานีคูคตวันที่ 16 ธันวาคมนี้

ซึ่งในประเด็นดังกล่าว “คีรี” ออกมาแจงทันควันว่า ทำหนังสือทวงถามถึงค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายกับ กทม. 8,000 ล้านบาทที่ กทม.ยังไม่จ่ายให้ 3 ปีจริง แต่เป็นการทวงถามปกติ เพราะรายได้บริษัทลดลงจากสถานการณ์โควิด

อย่างไรก็ตาม ยืนยันจะดูแลผู้โดยสารเต็มที่ ไม่หยุดให้บริการแน่นอน

 

หากย้อนดูรายละเอียดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งคณะทำงานที่มี “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ปลัดกระทรววงมหาดไทยเป็นประธาน เจรจากับคู่สัญญามาแล้ว 10 ครั้ง จนได้ข้อสรุปว่าจะขยายอายุสัญญาเดิมให้ BTS อีก 30 ปี หลังหมดอายุ 4 ธันวาคม 2572-2602 สำหรับส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง, ตากสิน-บางหว้า, แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่จ้าง BTS เดินรถจะให้หมดอายุวันที่ 4 ธันวาคม 2572 จากนั้นจะนำมารวมกัน และเริ่มนับหนึ่งสัมปทานใหม่

ขณะที่ค่าโดยสารเขย่าโครงสร้างใหม่ทั้งโครงข่าย 68.25 ก.ม. จากเดิมเก็บค่าโดยสารหลายต่อ รวมแล้วอยู่ที่ 158 บาท เป็นเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เริ่มต้น 15-65 บาท ปรับขึ้นทุก 2 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)

ส่วนผลตอบแทน BTS แบ่งรายได้ให้ กทม. 15 ปีแรก 2572-2587 อัตรา 10% ของรายได้ค่าโดยสาร ระยะ 10 ปีต่อไป ปี 2588-2597 อัตรา 15% ของรายได้ค่าโดยสาร และ 5 ปีสุดท้าย 2598-2602 อัตรา 25% ของรายได้ค่าโดยสาร แต่หากผลตอบแทนเกินกว่า 9.60% จะแบ่งให้ กทม.เพิ่มเติม

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ถึงที่สุดแล้ว เกมชักเย่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีกระทรวงคมนาคมปักหลักขวางคลองอยู่ในขณะนี้จะลงเอยแบบไหน

อาจจบแบบ “วิน-วิน” ทั้งรัฐและเอกชน แต่อาจไม่ถูกใจคนกรุง โดยเฉพาะค่าโดยสาร 65 บาท ที่ถูกวิจารณ์และตั้งคำถามว่าแพงไปหรือเปล่า