จิตต์สุภา ฉิน : ผิวจะสวย ก็ด้วย AI และ AR

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในบ้านเราจะสงบลงมากและมีกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อที่แทบจะราบเรียบจนหลายๆ คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่หลายประเทศทั่วโลกยังต้องเจอกับกราฟที่เหวี่ยงขึ้น-ลง และในบางประเทศอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาก็กลับมีกราฟที่พุ่งขึ้นในจุดสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดขึ้นเลยทีเดียว

ดังนั้น แม้ว่าเราจะออกจากบ้านไปเรียนหนังสือ ไปทำงาน ไปเที่ยวกันได้แล้ว

แต่สำหรับบางประเทศ การต้องเก็บตัวเองอยู่บ้านมากที่สุดก็ยังคงเป็นแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นต้องทำกันต่อไป

เมื่อต้องอยู่กับการล็อกดาวน์นานๆ เราก็เริ่มเห็นกิจกรรมที่เคยอยู่แต่บนโลกออฟไลน์โดยที่ไม่สามารถจะจินตนาการได้เลยด้วยซ้ำว่าจะย้ายไปอยู่บนออนไลน์ได้อย่างไรกลับกลายเป็นความจริงได้ในที่สุด

ไม่เว้นแม้แต่วงการความงามและแฟชั่น

 

ก่อนการมาถึงของ COVID-19 การจะตรวจสอบสภาพผิวหน้า บำรุงทะนุถนอมผิวพรรณ หรือลองสีเครื่องสำอาง ล้วนเป็นสิ่งที่เราจะต้องออกจากบ้านเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยหรือต้องไปลองของจริงด้วยตัวเอง

แต่ในเมื่อตอนนี้ไม่มีทางเลือก ทั้งหมดก็ต้องถูกย้ายมาบนออนไลน์แบบช่วยไม่ได้

อย่างการวินิจฉัยสภาพผิว ตอนนี้เราก็สามารถทำได้จากที่บ้านผ่านทางอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟนแล้ว โดยมีแบรนด์เครื่องสำอางดังๆ หลายแบรนด์ที่ให้บริการเครื่องมือช่วยวินิจฉัยสภาพผิวแบบเสมือนจริงบนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นของแบรนด์ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาช่วยวิเคราะห์

L”Ore”al Paris เป็นอีกแบรนด์ที่กระโดดเข้ามาในตลาดนี้ได้อย่างว่องไว โดยให้ผู้ใช้งานแค่ถ่ายภาพเซลฟี่ใบหน้าตัวเองส่งเข้ามาพร้อมๆ กับการตอบคำถามบางข้อ AI ของแบรนด์ก็จะช่วยประเมินสภาพผิวหน้าของผู้ใช้งานให้ โดยดูจากหลายๆ เกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นสภาพของรูขุมขน ริ้วรอย ความเหี่ยวย่น ความเปล่งประกาย ความเต่งตึง และโทนสีที่สม่ำเสมอ และจะนำเกณฑ์ที่ได้ไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลภาพผู้หญิงกว่า 10,000 ภาพ

ขั้นตอนต่อไป AI จะสรุปออกมาให้ว่าสภาพผิวแบบนี้ควรจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์อะไร ดูแลผิวหน้าของตัวเองแบบไหน เพื่อที่จะตอบโจทย์ผิวหน้าที่แตกต่างกันของแต่ละคนให้ได้ดีที่สุด ไม่ใช่เรื่องยากที่จะคิดต่อไปได้ว่าผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ผู้ใช้งานก็จะสามารถสั่งซื้อออนไลน์ให้ส่งไปถึงบ้านได้ภายในปลายนิ้วคลิก

นอกจากแบรนด์นี้ แบรนด์อื่นๆ ตั้งแต่ Neutrogena ไปจนถึง Vichy ก็ให้บริการคล้ายๆ กันแล้วเหมือนกันในต่างประเทศ และไม่ใช่แค่วินิจฉัยผิวหน้า แต่ยังวินิจฉัยไปได้ถึงสภาพเส้นผมและหนังศีรษะด้วยเลยเหมือนกัน

 

อีกกิจวัตรความงามที่ย้ายมาทำออนไลน์ได้ง่ายๆ ทันทีที่ COVID-19 มาถึงก็คือการช้อปปิ้งเมกอัพที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นกิจกรรมที่จะต้องไปลองเองถึงร้านเท่านั้นถ้าหากต้องการให้มั่นใจว่าเมกอัพที่ซื้อจะเข้ากับสีผิวหรือสีปากของเราจริงๆ

เทรนด์ของการใช้ Augmented Reality หรือ AR ในการซ้อนภาพเสมือนเข้ากับภาพความจริงในแวดวงความงามก็เริ่มใช้กันมาหลายปีแล้ว แต่ COVID-19 เป็นตัวที่ทำให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดขึ้นมากว่าเทคโนโลยี AR มันช่วยทำให้การช้อปลิปสติกสวยๆ สักแท่งมันง่ายขึ้นได้ขนาดไหน

ลูกค้าที่ไม่อยากจะต้องถ่อไปถึงร้าน ก็แค่เปิดแอพพลิเคชั่นของแบรนด์เครื่องสำอางขึ้นมา เปิดกล้องหน้าของสมาร์ตโฟน แล้วใช้ฟิลเตอร์เพื่อซ้อนสีลิปสติกลงไปบนริมฝีปากของตัวเอง

ความสำคัญของการต้องลองสีลิปสติกบนปากของเราเองจริงๆ เป็นเรื่องที่คนทาลิปสติกทุกคนรู้ดี ลิปสติกบางเฉดสีดูงดงามเหลือเกินเมื่ออยู่บนปากของนางแบบ แต่พอทาลงมาบนปากเราจริงๆ กลับทำให้เราดูป่วยซูบซีดไปในบัดดล

ซ้อนสีลิปสติกไหนลงไปบนหน้าเราแล้วสวยก็กดซื้อลิปสติกสีนั้นให้มาส่งที่บ้านได้เลย

 

ทั้งสองตัวอย่างที่ผ่านมาอาจจะดูไม่ได้แตกต่างจากช่วงก่อนไวรัสระบาดมากสักเท่าไหร่ แต่อีกหนึ่งกิจกรรมด้านความงามที่ก่อนหน้านี้เราจำเป็นจะต้องออกจากบ้านเพื่อไปทำเท่านั้น ก็คือการไปทำหน้ากับผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม

การจะเปลี่ยนให้ห้องน้ำที่บ้านกลายเป็นซาลอนความงามดูเหมือนจะไม่ได้เป็นความหวังที่ห่างไกลอีกต่อไป เพราะช่วงที่ผ่านมา หลายๆ แบรนด์เริ่มปรับตัว จากเดิมที่ลูกค้าจะต้องมารับบริการในซาลอนเท่านั้น ก็เปลี่ยนให้บริการทั้งหมดไปอยู่ในรูปแบบของชุดเครื่องมือที่จะขายให้ลูกค้าไปทำเองที่บ้านได้

อย่างแบรนด์ Optiphi ของแอฟริกาใต้ก็ขอให้ลูกค้าสั่งซื้อชุดเครื่องมือทำหน้าให้ไปส่งที่บ้าน แต่ไม่ได้จะให้ลูกค้าเอาไปลองทำเองตามมีตามเกิดนะคะ เพราะเมื่อชุดเครื่องมือไปถึง ลูกค้าก็จะสามารถนัดหมายกับผู้เชี่ยวชาญของแบรนด์เพื่อให้ประชุมเสมือนจริงกันได้

ขั้นตอนทุกอย่างจะเหมือนกับเวลาที่ลูกค้าไปรับบริการถึงร้านแบบไม่มีผิดเพี้ยน เว้นไปอยู่อย่างเดียวคือ ลูกค้าจะต้องลงมือทำเอง โดยผู้เชี่ยวชาญจะคอยอธิบายขั้นตอนทุกอย่างอย่างละเอียดเพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าทำได้ถูกต้อง ต้องทาครีมลงไปแบบไหน ใช้ปริมาณเท่าไหร่ ฯลฯ

ถึงจะไม่ได้มีเอไอฝังมากับชุดเครื่องมือด้วยแต่หากปราศจากเทคโนโลยีที่ทำให้เราเชื่อมต่อเพื่อวิดีโอคอลล์หากันได้แบบภาพชัดๆ เสียงแจ่มๆ การจะทำอะไรแบบนี้ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้เลย

และถึงแม้ลูกค้าจะไม่ได้ความสบายจากการที่มีมือคนอื่นมานวดไล้ไปตามผิวหน้าให้เราผ่อนคลายจนผล็อยหลับ แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าที่เราไม่ได้ดูแลผิวหน้าของเราตามกระบวนการขั้นตอนของมืออาชีพเลยจริงไหมคะ

 

เทรนด์ทั้งหมดนี้ถึงแม้จะเกิดหรือได้รับความนิยมในช่วงล็อกดาวน์

แต่ก็เชื่อได้ว่าจะยังคงมีอยู่ต่อไปแม้ว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะกลับสู่ปกติแล้ว และไม่ใช่แค่วงการความงาม แต่วงการแฟชั่นเองก็นำเทคโนโลยีอย่าง AR เข้ามาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างล่าสุดก็อาจจะเป็น Dior ที่ให้ลูกค้าใช้สมาร์ตโฟนส่องไปที่เท้าแล้วซ้อนภาพรองเท้าผ้าใบสวยๆ ของแบรนด์ให้ได้ลองกันในห้องนั่งเล่นที่บ้าน

สิ่งที่น่ารอดูก็คือจะมีวงการไหนอีกบ้างที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้เราออกนอกบ้านกันน้อยลง แต่ยังทำทุกอย่างได้เสร็จและดีไม่แพ้วิธีเดิม ในรูปแบบที่เรานึกไม่ถึงมาก่อน

หรือถ้านวดหน้าตัวเองแล้วมันไม่ฟิน หันไปสะกิดคนอื่นๆ ในบ้านให้มาช่วยก็น่าจะยังเป็นอีกทางที่ทำได้นะคะ