ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | โจทย์ใหม่ของประเทศ สู่อวสานระบอบประยุทธ์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกลุ่มเยาวชนปลดแอกโพสต์ภาพพร้อมข้อความว่าจะชุมนุมหน้าสภาวันที่ 17 พฤศจิกายน รัฐบาลก็สั่งการให้ตำรวจขัดขวางการชุมนุมของประชาชนมากจนเหลือเชื่อ

เพราะมีการปิดทางเข้าออกสภาตั้งแต่ถนนสามเสนด้านโรงงานบุญรอดไปจนถึงสามแยกเตาปูน

เจ็ดปีใต้การปกครองของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้คนไทยตระหนักว่าคุณประยุทธ์ไม่รีรอที่จะจับและขวางการรวมตัวของประชาชน แต่ด้วยการปิดสภาขั้นใช้แท่งปูนขนาดยักษ์ซ้อนสามชั้นพร้อมลวดหนามยึดด้วยลวดสะลิง คุณประยุทธ์ได้เป็นที่หนึ่งของนายกฯ ที่สกัดการชุมนุมของประชาชนอย่างสมบูรณ์

ด้วยวิธีขัดขวางคนไทยยิ่งกว่าการตั้งด่านสกัดขบวนการค้ายาเสพติดตามชายแดน

สารที่คุณประยุทธ์ทำให้ประชาชนเห็นคือรัฐบาลมองประชาชนเป็นศัตรูกว่าที่ประชาชนคิด

เพราะคุณประยุทธ์ไม่ใช่นายกฯ คนแรกที่เผชิญการรวมตัวแบบนี้ แต่คุณประยุทธ์เป็นคนแรกแน่ๆ ที่ทำแบบนี้กับประชาชน

หัวใจของการชุมนุมรอบนี้คือความต้องการให้รัฐสภายอมรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชนกว่าแสนคน

และถ้าประเทศนี้เป็นของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ของไม่กี่คนที่ใช้ประชาชนเป็นข้ออ้าง เหตุการณ์ที่ประชาชนต้องชุมนุมไม่ให้รัฐบาลล้มร่างรัฐธรรมนูญประชาชนก็ไม่ควรเกิดขึ้นเลย

คุณประยุทธ์ไม่เคยตอบตรงๆ ว่าอะไรทำให้ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดร่างของประชาชน

แต่ถ้าเทียบกับพฤติกรรมที่รัฐบาลทำทุกทางเพี่อสกัดร่างฝ่ายค้านช่วงก่อนสภาปิดปลายเดือนกันยายน

รัฐบาลก็อาจไม่ได้คิดอะไรเลยก็ได้ นอกจากการประเมินว่าทำแบบไหนที่รัฐบาลจะได้อย่างที่ตัวเองต้องการ

เนื้อหาของร่างประชาชนอาจมีพูดเรื่องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลประยุทธ์เขียนและบังคับให้ทุกรัฐบาลทำตาม, ให้นายกฯ มาจาก ส.ส., สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้งใหม่ ฯลฯ

แต่ก่อนหน้านี้ร่างฝ่ายค้านที่เนื้อหาเบากว่าก็ออกอาการถูกรัฐบาลคว่ำเหมือนกัน

ถ้าร่างไอลอว์ถูกรัฐบาลคว่ำโดยรัฐบาลอ้างว่าเนื้อหาในร่างมีปัญหา แล้วทำไมร่างฝ่ายค้านซึ่งเนื้อหาเบากว่าร่างไอลอว์กลับเกือบถูกรัฐบาลคว่ำไปด้วยในช่วงแรก

จนกระทั่งมีร่างไอลอว์เป็นตัวเปรียบเทียบให้รัฐบาลเลือกว่าต้องยอมโหวตรับสักร่าง ไม่ใช่คว่ำหมดทั้งร่างฝ่ายค้านและร่างไอลอว์

ในโลกตามอุดมคติของเผด็จการ คุณประยุทธ์จะไม่แก้รัฐธรรมนูญเรื่องยกเลิกอำนาจวุฒิสมาชิกและตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเลยก็ได้

แต่ในโลกที่ผู้สนับสนุนเผด็จการไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ การไม่แก้รัฐธรรมนูญสักร่างคือการผลักให้คุณประยุทธ์เผชิญหน้ากับประชาชนทั้งประเทศทันที

บริวารคุณประยุทธ์ที่อยู่ใต้ 2 นายพลซึ่งคุณประยุทธ์ไว้ใจกว่า ทุกคนพยายามบอกคุณประยุทธ์ว่าไม่ต้องแคร์ประชาชน และความเชื่อว่า “ม็อบแผ่ว” เป็นเหตุให้คุณประยุทธ์ตัดสินใจจัดการจนเกิดการเตะถ่วงแก้รัฐธรรมนูญมาแล้วในปลายเดือนกันยายน รวมทั้งคว่ำร่างประชาชนในเดือนพฤศจิกายน

สภาความมั่นคงใต้คุณประยุทธ์ปั่นกระแสตั้งแต่ต้นพฤศจิกายนว่า “ม็อบแผ่ว” เพื่อให้คุณประยุทธ์เชื่อมั่นว่าไม่ต้องฟังเสียงประชาชน

แต่วิธีที่รัฐบาลสกัดผู้ชุมนุมหน้าสภาวันที่ 17-18 พฤศจิกายน คือหลักฐานที่ชัดเจนแล้วว่า “ม็อบไม่แผ่ว” จนรัฐบาลต้องสกัดผู้ชุมนุมแบบที่ไม่เคยมีนายกฯ คนไหนทำเลย

รัฐบาลและกองหนุนพยายามกดดันให้ “ม็อบแผ่ว” โดยโจมตีว่าผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มล้มล้างสถาบัน แต่ด้วยความเป็นจริงที่ “ม็อบแผ่ว” เป็นเพียงอาการปกติของคนที่ชุมนุมต่อเนื่องสี่เดือน การชุมนุมที่แหลมคมขึ้นในเวลาที่สถานการณ์การเมืองแหลมคมขึ้นสะท้อนว่าการโจมตีนี้ไม่มีผลอะไรเลย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชุมนุมแทบทุกเวทีตอนนี้มีปราศรัยเกี่ยวกับสถาบัน และเมื่อเป็นการปราศรัยก็ย่อมมีการพูดทั้งที่เป็นหลักการและเป็นเรื่องกระแหนะกระแหน

ความอึดอัดที่ผู้ชุมนุมพูดถึงสถาบันมีจริงในคนจำนวนหนึ่งแน่ๆ และรัฐก็ไม่มีรอที่จะใช้เรื่องนี้เป็นประโยชน์ในการปกป้องรัฐบาล

โดยพื้นฐานของความขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-วุฒิสภา

แต่ในขณะนี้ ความขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเข้ามาด้วย

เพราะชนวนความขัดแย้งไม่ได้มีแค่รัฐบาลจะรับร่างฝ่ายค้านหรือไม่ แต่ยังเป็นเรื่องเอาไงกับร่างประชาชน

ไม่มีใครรู้ว่าเส้นทางของความขัดแย้งนี้จะมีจุดจบอย่างไร

เพราะการระดมแท่งปูนขนาดยักษ์สกัดประชาชนสะท้อนโอกาสที่รัฐบาลรับร่างนี้ยากยิ่งกว่าปาฏิหาริย์

แต่ต่อให้สถานการณ์บานปลายถึงจุดที่รัฐบาลต้องรับร่างนี้ในวาระแรก ปัญหาในอนาคตคือเนื้อหาในวาระสองและสามเป็นอย่างไร

การเมืองนับจากนี้จะยกระดับสู่ความขัดแย้งที่สภาเป็นเวทีประลองกำลังระหว่างกลุ่มต่างๆ กลุ่มแรก คือฝ่ายประยุทธ์ซึ่งประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐ-วุฒิสภา กลุ่มที่สอง คือพรรคร่วมรัฐบาลอื่น กลุ่มที่สาม คือฝ่ายค้าน โดยตัวแปรที่กดดันทุกฝ่ายคือการเมืองนอกสภาของภาคประชาชน

มักเข้าใจว่าคู่ขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญได้แก่รัฐบาลกับประชาชน แต่ที่จริงรัฐบาลฝั่งที่ไม่ใช่พวกประยุทธ์มีบทบาทในความขัดแย้งนี้น้อยมาก กลุ่มประยุทธ์ในพลังประชารัฐและวุฒิสภาคือฝ่ายที่โจมตีร่างรัฐธรรมนูญประชาชนด้วยเรื่องเหลวไหลที่สุดอย่างล้มสถาบัน, เอาทักษิณกลับไทย ฯลฯ

เครือข่ายประยุทธ์สร้างกระแสว่าร่างรัฐธรรมนูญประชาชนเป็นพวกเดียวกับกลุ่มล้มสถาบัน แต่ที่จริงคำปราศรัยและการแสดงออกที่ดุเดือดบนเวทีชุมนุมต่างๆ ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในสภา

การโจมตีนี้จึงยิ่งทำให้รัฐบาลเข้าสู่มุมอับของการเผชิญหน้ากับประชาชนยิ่งขึ้นโดยปริยาย

ด้วยการที่ “กระแส” ซึ่งกลุ่ม พล.อ.ประยุทธ์โจมตีประชาชนเป็นเรื่องเดียวกับกลุ่มขวาจัดสุดโต่งอย่างไทยภักดี, อาชีวะช่วยชาติ, พุทธะอิสระ, เสี่ยโป้ ฯลฯ ผลจากการโจมตีจึงยิ่งทำให้สังคมแบ่งขั้วระหว่างคนที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ กับกลุ่ม พล.อ.ประยุทธ์ที่มีมวลชนเป็นคนแบบนี้โดยตรง

ยิ่งการเมืองเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเนิ่นนาน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ คือการแบ่งขั้วทางการเมืองเป็นกลุ่มแก้และกลุ่มไม่แก้ที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

การคว่ำร่างประชาชนโดยไม่ให้ผ่านวาระแรกจะผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวนอกสภาที่หนักหน่วงกว่าที่ผ่านมา

ท่ามกลางการเผชิญหน้าที่รุนแรงขึ้นระหว่างกลุ่มประยุทธ์และประชาชน โอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านจะเลือกข้างกลุ่มประยุทธ์นั้นมีน้อยมาก

ความเป็นไปได้ที่มากที่สุดคือปล่อยให้พลังประชารัฐและวุฒิสมาชิกมีภาพพวกเดียวกับไทยภักดีและกลุ่มสุดโต่งอื่น โดยไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวอะไร

ภายใต้ความขัดแย้งและการแบ่งขั้วที่ไม่มีวันยุติลง เครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์จะยกระดับเป็นคู่ขัดแย้งและสัญลักษณ์ของความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต พรรคร่วมและพรรคฝ่ายค้านจะอยู่ด้านข้างของการเผชิญหน้าจนไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นคู่ขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน

แน่นอนว่าการแบ่งขั้วแบบนี้มีโอกาสทำให้ประชาชนที่เคลื่อนไหวนอกสภามีภาพเป็นฝ่ายสร้างความขัดแย้งทางการเมือง

แต่ที่สุดสิ่งที่เครือข่ายประยุทธ์จะทำกับประชาชนได้นี้คือการดำเนินคดี

ขณะที่ผลที่จะเกิดกับฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์คือภาพคู่ขัดแย้งจนไม่ควรเป็นผู้นำประเทศอีกต่อไป

การเมืองไทยหลังการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการเมืองที่การแบ่งขั้วและการเผชิญหน้าทางการเมืองรุนแรงขึ้น

และด้วยเงื่อนไขที่ความขัดแย้งยกระดับขึ้นแบบนี้ โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ต่อไปจึงมีน้อยมากเมื่อเทียบกับความรู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์คือต้นตอของปัญหาในสังคม

ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำประเทศแน่ๆ แต่จุดจบของกระบวนการนี้จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับดุลอำนาจของพลังแต่ละฝ่ายในสังคมซึ่งแตกร้าวจนการจัดพันธมิตรทางอำนาจแบบใหม่เป็นเรื่องที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

 

คนจำนวนมากโจมตีว่าการชุมนุมของกลุ่มปลดแอกและประชาชนกลุ่มอื่นๆ ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนรัฐบาล แต่ที่จริงกระบวนการเปลี่ยนรัฐบาลกำลังก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ จนใกล้ถึงจุดจบที่ปฏิเสธไม่ได้ เพียงแต่เรื่องนี้ไม่ง่าย เมื่อคำนึงว่า พล.อ.ประยุทธ์และพวกเป็นใหญ่เหนือประเทศนี้มาแล้วหกปี

จากนี้ถึงวันที่ พล.อ.ประยุทธ์หมดอำนาจ ใครทำให้สังคมเชื่อว่านำประเทศสู่อนาคตได้ เตรียมรับตำแหน่งนายกฯ ได้เลย