เพ็ญสุภา สุขคตะ : นาค มกร กิเลน ปัญจรูป วิวัฒนาการของศิลปะทวารวดี ขอม ลังกา พุกาม จีนในล้านนา (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เท่าที่ได้ศึกษาประติมากรรมรูปกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน-ครึ่งบกครึ่งน้ำกึ่งจินตนาการ ที่ถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ของห้วงมหรรณพ ความชุ่มชื้น อุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงการเชื่อมโลกทั้งสามคือ บาดาล โลกมนุษย์ และสวรรค์นั้น

พบว่าในดินแดนล้านนา ประติมากรรมรูป “นาค” มีอายุเก่าแก่ที่สุด ถัดมาก็คือ “มกร” จากนั้นเริ่มพบรูป “กิเลน” และท้ายสุดจึงเป็นตัว “ลวง” หรือ “ปัญจรูป”

รูปสัตว์ทั้งหมดเหล่านี้ สร้างขึ้นเพื่อใช้ประดับสถาปัตยกรรม

วิวัฒนาการเริ่มจากสมัยหริภุญไชย มีการทำตัวนาคเดี่ยวๆ ไม่มีความสัมพันธ์กับมกร ถัดมาก็พบมกรคายพวงอุบะ

ครั้นถึงสมัยล้านนา พบมกรคายลิ้นตัวเอง ควบคู่ไปกับมกรคายนาค เริ่มจากนาคหลายเศียร และในท้ายที่สุดก็ทำเป็นมกรคายนาคเศียรเดียว แต่เป็นนาคที่ผสมกับมังกรของจีนไปเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังพบตัวกิเลนที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างตัวมกร (ของอินเดีย) กับมอม (ของจีน) ทำหน้าที่คายพวงดอกไม้อีกด้วย

นาค มกร กิเลน ปัญจรูป มีทั้งที่อยู่แบบเดี่ยวๆ ไม่เกี่ยวข้องกันกับสัตว์อื่น ในขณะเดียวกันก็มีทั้งถูกจัดวางให้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันกับสัตว์อื่น นอกจากนี้ ยังมีทั้งการนำสัตว์ชนิดหนึ่งเข้ามาแทนที่สัตว์อีกชนิดหนึ่ง

ปัจจุบันสัตว์ทั้ง 4 ยังอยู่ครบ แต่กลายรูป แปลงร่างห่างไกลไปจากจุดกำเนิดดั้งเดิมค่อนข้างมาก

นาครุ่นเก่าสุดยุคหริภุญไชยตอนต้น

นาครุ่นแรกสุดบนแผ่นดินล้านนา คือนาคแบบทวารวดีที่ทำขึ้นในสมัยหริภุญไชยตอนต้น พบทั้งวัสดุปูนปั้นและดินเผา เช่นที่เวียงมโน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นนาคปูนปั้น ส่วนที่วัดสันป่ายางหลวง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นนาคดินเผา เป็นต้น

นาคเหล่านี้เหลือแค่เศษเสี้ยวชิ้นส่วนขนาดเล็ก จึงไม่อาจทราบได้ว่าในอดีตเคยใช้ตกแต่งส่วนใดของศาสนสถาน เช่น ควรเป็นส่วนหนึ่งของบันไดนาคสำหรับประกอบทางขึ้นสู่วิหาร? หรือเคยใช้ประดับซุ้มจระนำของเจดีย์มาก่อนหรือไม่? หรือสร้างแบบแยกเป็นเอกเทศวางบนแท่นบูชา?

การที่กล่าวว่านาคเหล่านี้เก่าถึงยุคหริภุญไชยตอนต้นราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 นั้น ก็เนื่องมาจากเป็นนาคที่มีลักษณะละม้ายกับนาคที่พบในศิลปะทวารวดีรุ่นแรก คือกลุ่มอู่ทอง (สุพรรณบุรี) อย่างมาก

กล่าวคือ มีดวงตาพองโตกลม (ไม่มีการทำกรอบตาเป็นรูปหางหงส์ตวัดขึ้นผิดกับนาคยุคหลัง) รูจมูกใหญ่ดูแด่นๆ คล้ายหมู คิ้วโค้งหนา หว่างคิ้วเป็นร่องลึก ริมฝีปากยิ้มเซื่องๆ มากกว่าแยกเขี้ยวดุดัน อีกทั้งยังไม่เน้นเครื่องประดับศีรษะพวกกระบังหน้าสูงหลายชั้น ผิดกับนาคยุคหลัง

น่าสนใจทีเดียวที่ในวัฒนธรรมหริภุญไชย ทั้งบริเวณตัวเมืองเก่านครลำพูนและที่เวียงมโน ต่างมีการพบนาครุ่นเก่ามากร่วมสมัยกับนาคทวารวดีของทางภาคกลาง อันเป็นพัฒนาการมาจากนาคศิลปะอมราวดีและคุปตะของอินเดียอีกชั้นหนึ่ง

 

มกรเก่าสุดยุคหริภุญไชย

คติการทำตัว “มกร” (อ่าน “มะกอน” หรือ “มะ-กะ-ระ” ก็ได้) เริ่มต้นที่อินเดีย โดยจินตนาการให้มกรเป็นสัตว์ผสมระหว่าง “ช้าง” กับ “จระเข้-เหรา” เป็นการจับเอาพญาสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนบกคือช้าง มาสัมพันธ์รวมกับสัตว์ที่ดุร้ายที่สุดในน้ำคือจระเข้

อันที่จริงกุศโลบายของการนำรูปสัตว์ต่างๆ มาใช้เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาหรือศาสนาฮินดูนั้น ก็เพื่อต้องการกลืนชนเผ่าพื้นเมืองที่เคยนับถือสัตว์ประจำตระกูลของตน (Animism) มีการสร้างสัญลักษณ์เป็นเสารูปสัตว์ต่างๆ ปักไว้หน้าหมู่บ้านมาก่อนเรียก Totem

ในศิลปะอินเดียยุคโบราณนิยมทำตัวมกรค่อนข้างกลมป้อม มีเกล็ดแบบจระเข้ ส่วนหางตวัดคล้ายปลา อ้าปากชูงวงช้าง มีงาเล็กๆ คล้ายเขี้ยว ยังไม่ใช่รูปแบบของมกรคายพวงอุบะหรือมกรคายนาค

มกรที่พบในศิลปะหริภุญไชย ไม่เก่าถึงยุคต้น แต่เป็นศิลปะหริภุญไชยยุคกลางค่อนข้างจะเป็นยุคปลายแล้ว (ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18) เนื่องจากมกรที่พบนั้น ตกแต่งลำตัวด้วยลายเส้นขูดขีดคมลึกตามรูปแบบรสนิยมของศิลปะหริภุญไชยยุคกลางเป็นต้นมา

มกรที่พบเป็นมกรที่คายพวงอุบะหรือมาลัย ซึ่งชูจากปลายสุดของงวงช้าง แล้วทิ้งช่อลงมา ไม่ใช่มกรคายนาค ซึ่งการทำมกรคายพวงอุบะนี้ เคยพบครั้งแรกในศิลปะชวาเช่นที่บุโรพุทโธ จากนั้นส่งอิทธิพลให้ศิลปะขอมในยุคบันทายสรี ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16

มกรคายพวงอุบะของชวา ใช้ตกแต่งราวบันไดทางขึ้นศาสนสถาน ในตำแหน่งที่เรียกว่าบันไดนาค แต่ในศิลปะขอมนำไปตกแต่งปลายกรอบหน้าบันที่ตัวปราสาท

ส่วนการทำมกรคายพวงอุบะของหริภุญไชย ไม่ว่าจะพบในลักษณะชิ้นส่วนดินเผาที่แตกหักเหลือแค่เศษเสี้ยวก็ดี หรือปูนปั้นซึ่งยังคงประดับอยู่ปลายกรอบซุ้มจระนำ (ซุ้มพระพุทธรูป) ของพระเจดีย์ ดังเช่นที่เจดีย์สุวรรณจังโกฏ วัดจามเทวีก็ดี

พบว่ามีลักษณะพิเศษที่เหมือนกันกับมกรคายพวงอุบะที่ปราสาทบันสายสรีของขอมก็คือ ไม่มีการทำลำตัวของมกร ทำแค่เศียรของมกรเท่านั้น เศียรมกรโผล่ออกมาจากลายกระหนกพันธุ์พฤกษา เน้นใบหน้าด้านข้างของมกรที่ดุดัน ดวงตาพองโตถมึงทึง รอบกรอบปากตกแต่งด้วยริ้วแหลมๆ เล็กๆ ดูเป็นมกรประดิษฐ์มากกว่าธรรมชาติ

การเอาแค่หัวมกรมาชูพวงอุบะมาลัยโดยไม่ให้เห็นส่วนของลำตัวที่เป็นเกล็ดจระเข้นี้ ก็เพื่อต้องการเน้นความเป็นมกรในส่วนของช้าง นั่นคือภาคของ “คชะ” ให้โดดเด่นมากกว่าลำตัวที่เป็นจระเข้

ส่วนพวงอุบะมาลาที่พวยพุ่งออกมาจากงวงของมกร นักวิชาการด้านเจติยวิทยาชาวออสเตรเลียนชื่อ ดร.เอเดรียน สน็อตกราด ตีความว่า นี่คือสัญลักษณ์ของ “คชลักษมี” หมายถึงช้างสองเชือกกำลังสรงน้ำมงคลให้แก่นางศรี ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งคติฮินดู ที่เชื่อว่า “ศรี” คือ “ลักษมี” ชายาของพระวิษณุ ส่วนคติพุทธเห็นว่า “ศรี” คือพระนางสิริมหามายา (เรื่องนี้ดิฉันเคยเขียนไว้แล้วในบทความเมื่อหลายปีก่อนในเรื่อง คชลักษมี)

กล่าวโดยสรุปก็คือ ในศิลปะหริภุญไชย เรายังไม่พบการนำมกรหรือนาคไปใช้ในงานประดับราวบันไดทางขึ้นศาสนสถานที่เรียกกันว่า “บันไดนาค” แต่อย่างใด

ทว่าพบมกรในรูปแบบการคายหรือชูพวงอุบะ แถมยังประดับที่ปลายกรอบซุ้มจระนำ

 

มกรคายนาค เริ่มจากซุ้มจระนำ

ที่ซุ้มจระนำของเจดีย์แม่ครัวหรือเจดีย์เชียงยัน นอกเขตพุทธาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย ด้านทิศตะวันออก ได้พบปูนปั้นรูปมกรคายนาค 1 คู่ เศียรนาคหลุดร่วงไปหมดแล้ว เหลือแต่หัวมกรอ้าปากกว้างกำลังคาบลำตัวนาคขนาดใหญ่ ซึ่งหากเศียรไม่หักหายคงเป็นนาค 3 เศียร

จุดเริ่มต้นของการทำมกรคายนาคไม่ได้พบที่ศิลปะทวารวดี แต่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของศิลปะขอมยุคหลังๆ คือตั้งแต่ศิลปะบาปวน นครวัด ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นต้นมา ซึ่งนิยมตกแต่งเศียรนาคด้วยกระบังหน้ายกสูงหลายชั้น แต่ละชั้นจำหลักลวดลายพันธุ์พฤกษาอย่างอลังการ

มกรคายนาคที่เจดีย์แม่ครัวนี้ น่าจะสร้างขึ้นช่วงรอยต่อของศิลปะหริภุญไชยตอนปลายกับล้านนาตอนต้น คือราวพุทธศตวรรษที่ 19 แม้ว่าประวัติความเป็นมาของเจดีย์องค์นี้ระบุว่าเก่าถึงยุคพระญาอาทิตยราชสมัยหริภุญไชย คือราวพุทธศตวรรษที่ 16-ต้น 17

แต่มกรคายนาคที่นี่น่าจะเป็นการสร้างเสริมขึ้นภายหลังในยุคล้านนาตอนต้น ตั้งแต่สมัยพระญามังรายลงมาจนถึงสมัยพระญาแสนภู ถือเป็นมกรคายนาคชิ้นเก่าสุดของล้านนา ที่เป็นต้นแบบให้แก่มกรคายนาคชิ้นงามที่ประดับตามมุมฐานเรือนธาตุเจดีย์วัดป่าสัก เชียงแสน และกลุ่มบันไดนาคในยุคต่อมาอีกด้วย

กรณีของมกรคายนาคที่ใช้เป็นราวบันไดสมัยล้านนายุคทอง คือวัดที่ได้รับการสร้างเสริมบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าติโลกราชจนถึงพระเมืองแก้ว (พุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลายจนถึง 21)

อาทิ บันไดนาคที่วัดสวนดอก วัดอุโมงค์ วัดเจดีย์หลวง ทั้งหมดอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ นาคกลุ่มนี้สวมกระบังหน้าสูงหลายชั้น แต่ละชั้นตกแต่งด้วยลวดลายกระหนก พันธุ์พฤกษา มีความคล้ายคลึงทั้งศิลปะขอม ผสมจีน และสุโขทัย

กล่าวคือ กรอบนอกโดยรวมของการทำนาคแผ่พังพานสวมกระบังหน้าอย่างอลังการโดยถูกมกรคาบนั้น เป็นอิทธิพลของศิลปะขอม ตัวอย่างที่เรารู้จักกันดีคือบันไดนาคที่ปราสาทนครวัดในกัมพูชา

แต่ลวดลายใบไม้ดอกไม้ที่ประดับบนแผงกระบังหน้านั้นกลับมีกลิ่นอายของศิลปะสุโขทัยและศิลปะจีนเข้ามาปะปนอยู่มาก

เท่านั้นยังไม่พอ เริ่มเห็นร่องรอยการทำเครานาคเป็นกรวยแหลมย้อยลงมาที่คาง อันไม่ใช่รูปแบบที่พบในศิลปะขอม

แต่เป็นการนำกิเลนของจีนเข้ามาผสมผสานแล้ว

ในส่วนของตัวมกรที่คายหรือคาบนาคนี้ เน้นความสำคัญในภาค “จระเข้” มากกว่าช้าง เราแทบมองไม่เห็นงวง-งาของช้าง เห็นแต่ตาพองโต ฟันแหลมคมอันดุร้าย กับมือ 1 คู่ของจระเข้ที่ฉวยยึดลำตัวนาคไว้อย่างแน่น

ที่น่าสนใจคือ ลำตัวของมกรนี้ทำแผงสามเหลี่ยมคล้ายปีกอยู่บนสันหลัง ต่อจากแผงสามเหลี่ยมยาวไปจนสุดลำตัว กลับกลายเป็นเกล็ดนาคและครีบนาค คล้ายกับว่าลำตัวนาคที่มกรคาบอยู่นั้นได้ทะลุผ่านร่างของมกรไป

นี่คือสิ่งที่สร้างความสับสนให้กับผู้พบเห็นมักถามดิฉันว่า นี่คือตัวอะไรกันแน่ พอตอบว่า “มกรคายนาค” คนก็จะถามต่อว่า “มกร” ทำไมจึงมีเกล็ดตามลำตัวเหมือนนาค

ข้อสงสัยนี้มีไปถึงการตั้งคำถามว่า “มกรคายนาคสร้างเพื่ออะไร เป็นสัญลักษณ์ของอะไร”

เรื่องนี้ดิฉันได้มีโอกาสเรียนถามปราชญ์ใหญ่ด้านโบราณคดีหลายท่าน บางท่านตอบว่า นาคคือ “อวิชชา” มกรคือ “วิชชา” จำเป็นต้องเอา “วิชชาครอบอวิชชา”

ท่านศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ปราชญ์ใหญ่แห่งสยาม อธิบายว่า “นาค” เป็นสัญลักษณ์ของคนพื้นเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ส่วน “มกร” เป็นสัญลักษณ์ของชาวอินเดียหรืออารยัน การทำมกรคายนาค จึงหมายถึง การที่ชาวอินเดียนำเอาพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ให้แก่ดินแดนอุษาคเนย์

เรื่องนาค มกร ยังปรากฏอีกหลายรูปแบบที่ต้องช่วยกันวิเคราะห์ ฉบับหน้าจะพาไปไขปริศนาว่า ทำไมมกรบางแห่งต้องคายลิ้นตัวเอง บางแห่งมกรถูกแทนที่ด้วยกิเลน

และในที่สุดนาคหลายเศียรค่อยๆ กลายร่างจำแลงเป็นนาคเศียรเดียวหรือที่เรียกว่าตัว “ลวง” (ปัญจรูป) ได้อย่างไร