การศึกษา / จับตา ‘ควบรวม ร.ร.เล็ก’ ตอบโจทย์คุณภาพการศึกษา??

การศึกษา

 

จับตา ‘ควบรวม ร.ร.เล็ก’

ตอบโจทย์คุณภาพการศึกษา??

 

ส่งสัญญาณชัดเจนอีกครั้ง ในการ “ควบรวม” โรงเรียนขนาดเล็ก หลังนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการเป็นประธานการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ศธ.ต้องควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก หลบไม่ได้แล้ว เพราะเรากำลังทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง เรื่องนี้ยากที่จะทำ แต่ต้องทำ เราต้องโอบอุ้มเด็กทุกคนให้เขามีศักยภาพ มีพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือสแตนด์อโลน มีความสามารถอยู่ได้ ก็ไม่ต้องควบรวม

“หากใครมาบอกว่าทำไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการโรงเรียน และครู คุยยาก และผู้อำนวยการ สพท.คิดว่ายาก แสดงว่าเรากำลังคิดถึงคนที่สำคัญน้อยกว่าเด็ก เพราะเด็กถือเป็นคนที่สำคัญที่สุด” นายณัฏฐพลระบุ

ทั้งนี้ นายณัฏฐพลย้ำว่าต้องไม่หลอกตัวเอง และเมื่อทำการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว จะบริหารจัดการเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น รถรับ-ส่งนักเรียน ผู้อำนวยการและครูจะไปปฏิบัติหน้าที่ที่ใด เรื่องเหล่านี้มองว่ามีวิธีการจัดการแน่นอน

แต่การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องสร้างแรงจูงใจให้โรงเรียนใหญ่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย โดยต้องสร้างคุณภาพเพื่อดึงดูดให้ผู้ปกครองส่งลูกเข้าเรียน

ดังนั้น ผู้อำนวยการ สพท.ต้องไปหารือ และตรวจสอบว่าจะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กพื้นที่ของตนกี่แห่ง เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป!!

 

ขณะที่ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รับลูกนโยบายดังกล่าวทันที โดยระบุว่า แนวทางในการดูแลบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ มีดังนี้

  1. การสร้างโรงเรียนคุณภาพให้ชุมชน โดยผ่านโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ต้องเน้นการสร้างโรงเรียนให้มีคุณภาพของชุมชน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องการให้นโยบายเกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว แต่ต้องไม่ได้เกิดจากการสั่งการจากข้างบน ให้คิดในระดับจังหวัด คือให้จังหวัดเป็นฐานในการขับเคลื่อนภูมิภาค โดยที่จังหวัดนั้นๆ ควรมีโรงเรียนคุณภาพของชุมชนอย่างแท้จริง โดยเป็นโรงเรียนที่มีปัจจัยพร้อม ซึ่งอาจเป็นการสร้างขึ้น หรือรีโนเวตโรงเรียนที่มีอยู่เดิมให้มีปัจจัยพร้อม มีสมรรถนะ มีศักยภาพ เพื่อให้บริการชุมชนตามบริบทของชุมชน
  2. การสร้างโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง เนื่องจากพบปัญหาโรงเรียนแข่งขันสูงตามต่างจังหวัด มีนักเรียน 4,000-5,000 คน แต่พื้นที่โรงเรียนมีจำกัด ควรทำให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเท่ากับโรงเรียนแข่งขันสูง เพื่อลดการแออัดของนักเรียนในโรงเรียนแข่งขันสูงได้

และ 3. ต้องพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือสแตนด์อโลน ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อสร้างโรงเรียนที่มีคุณภาพในแต่และพื้นที่ได้แล้ว คนในชุมชนเห็นศักยภาพของโรงเรียน การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กบริเวณโดยรอบก็จะสามารถทำได้ง่ายขึ้น

จึงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ทิศทางของ ศธ.ต่อจากนี้ คือการดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจัง…

ซึ่ง ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เห็นด้วยกับนโยบายนี้เช่นกัน โดยระบุว่า ถ้าจะให้นโยบายนี้สำเร็จ ต้องควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก หรือการควบรวมโรงเรียนเพื่อคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น โดยการควบรวมโรงเรียนต้องมองเป้าหมายว่าเป็นการควบรวมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการ

“แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้เลิกคือ เวลาจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ผู้บริหารการศึกษาต้องเลิกวัฒนธรรมเดิมๆ ที่คำนึงถึงแต่ตำแหน่ง และผลประโยชน์ มากกว่าคุณภาพการศึกษาที่จะเกิดกับเด็ก ถ้าวัฒนธรรมนี้ไม่เลิก จะแก้ไขปัญหาการศึกษายาก” ดร.เอกชัยระบุ

 

จากการสำรวจของ สพฐ.พบว่า “โรงเรียนขนาดเล็ก” ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนลงมา ปี 2563 มีโรงเรียนขนาดเล็ก 14,976 แห่ง มีนักเรียนรวม 968,992 คน ครู 63,744 คน และผู้อำนวยการโรงเรียน 13,189 คน

ทั้งนี้ “การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกลายเป็นประเด็นที่สังคมถกเถียงกันมานาน

อย่างในปี 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ สพฐ.พิจารณาดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับการศึกษา

ซึ่งมีผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เพราะการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ก็มีข้อดีและข้อเสีย แตกต่างกันออกไป

บางส่วนมองว่า หากยุบโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว ต้นทุนต่อหัวในการจัดการศึกษาลดลง ครูไม่ต้องรับภาระเรื่องการสอนที่หนัก บางรายอาจไม่ต้องสอนในสาขาที่ต้องมีความเชี่ยวชาญ อุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนดีขึ้น นักเรียนมีสังคมที่กว้างขึ้น สามารถปฏิสัมพันธ์อยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย คุณภาพการศึกษาดีขึ้น

แต่บางส่วนก็เห็นว่า หากควบรวมโรงเรียนแล้ว ชุมชนอาจไม่มีความผูกพันกับโรงเรียน และรัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางมากขึ้น

ประเด็นนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า มองว่าปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก หากมีนวัตกรรม มีองค์ความรู้อื่นๆ มีความร่วมมือจากชุมชน ก็สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาแก้ไขปัญหาได้มากกว่าการยุบโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม การยุบโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องระมัดระวังให้ดี เพราะปัจจุบันความเหลื่อมล้ำในสังคมมีสูงขึ้นทุกวัน ควรกลับไปดูให้ดีว่าโรงเรียนขนาดเล็กแห่งใด สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ซึ่งโรงเรียนนี้จะกลายเป็น “คำตอบ” และเป็น “ทางเลือก” ของเด็กต่อไป มากกว่าจะยุบโรงเรียนเพียงอย่างเดียว

“ต้องมองว่าจะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กดีขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่มองว่าโรงเรียนขนาดเล็กเป็นตัวถ่วงเรื่องคุณภาพ และงบประมาณ แต่ต้องคิดว่าปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เกิดจากปัญหาเด็กเกิดน้อยลง หรือเกิดจาก ศธ.เนื่องมาจากปัญหาการบริหารงาน ทรัพยากร บุคลากร หรือการบรรจุแต่งตั้ง ดังนั้น การจัดการโรงเรียนขนาดเล็กต้องมองอย่างละเอียด และรอบคอบ ไม่ใช่เดินหน้ายุบอย่างเดียว” ศ.ดร.สมพงษ์ระบุ

จากนี้คงจับตาดูว่านโยบายควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ครั้งนี้ จะสร้างคุณภาพ และตอบโจทย์ในการพัฒนาการศึกษาไทยได้จริงหรือไม่??

ที่สำคัญ เด็กๆ จะได้ประโยชน์จากการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก มากน้อยแค่ไหน??