สุจิตต์ วงษ์เทศ / บางปะอิน (บางขดาน) พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ก่อนอยุธยา

สุจิตต์ วงษ์เทศ

บางปะอิน (บางขดาน)
พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ก่อนอยุธยา

บางปะอิน (อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา) สมัยอยุธยาตอนต้น เป็นเขตอำนาจท้องถิ่นเรียก “บางขดาน” พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มีมาก่อนสมัยอยุธยา
“บางขดาน” ที่บางปะอิน มี “ดินสะดือ” บริเวณทำพิธีไล่น้ำหลากให้ลดจากท่วมข้าว ซึ่งเป็น “นาฏกรรมแห่งรัฐ” เพื่อผดุงอำนาจคนชั้นนำด้วยพิธีกรรมไล่เรือ (วัฒนธรรมลาวเรียก “ไหลเฮือ”) เริ่มด้วยพระราชาเสด็จทางชลมารคจากอยุธยาล่องตามแม่น้ำลงทางใต้ มีบอกในกฎมณเฑียรบาลและทวาทศมาสโคลงดั้น

“บางขดาน” มี “ดินสะดือ”

“ดินสะดือ” อยู่ “บางขดาน” ระบุชัดเจนในวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น แต่งเป็นโคลงดั้น 2 เล่ม คือ ทวาทศมาส กับกำสรวลสมุทร (กำสรวลศรีปราชญ์) ปัจจุบันเป็นพื้นที่บ้านเลน-บางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
1. บางขดาน หมายถึง ย่านซึ่งมีพื้นที่ราบเรียบราวแผ่นกระดานกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ซึ่งเกิดจากตะกอนโคลนเลนแม่น้ำพัดพามากับน้ำป่าจากทางเหนือ หลากท่วมแล้วตกตะกอนทับถมต่อเนื่องนานมากนับไม่ถ้วน อาจหลายแสนหลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว (ขดาน เป็นภาษาเขมร แปลว่า แผ่นกระดาน)
บ้านเลน-บางปะอิน เป็นบริเวณโค้งแม่น้ำเจ้าพระยาจากเหนือลงใต้ สบกับคลองโพธิ์และคลองสาขาของแม่น้ำป่าสัก (สายเดิม) ซึ่งไหลทำแนวตะวันตก-ตะวันออก ทำให้ปริมาณเพิ่มมากของตะกอนโคลนเลนทับถมต่อเนื่องเป็นพื้นที่กว้างขวางราบเรียบเหมือนแผ่นกระดานลาดลงไปทางทิศใต้ จึงมีภูมิสถานเรียก “บ้านเลน” (อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา) ต่อเนื่อง “เชียงราก” (คำเดิมภาษาเขมรว่า เชิงราก หมายถึง เชิงเลน)
2. ดินสะดือ หมายถึง บริเวณที่เฮี้ยนหรือศักดิ์สิทธิ์ของบางขดาน (บางปะอิน) ซึ่งเป็นที่รับรู้กว้างขวางทั้งในชุมชนและราชสำนักอยุธยาตอนต้น จึงพบชื่อ “ดินสะดือ” ในวรรณกรรม 2 เรื่อง แต่งเป็นโคลงดั้น ได้แก่ ทวาทศมาส, กำสรวลสมุทร
[ปกติพื้นที่ “สะดือ” มักอยู่กลางหมู่บ้าน ถ้าในอีสานเรียก “บือบ้าน” (บือ เป็นคำลาว ตรงกับคำไทย ว่า ดือ หมายถึงสะดือ) เมื่ออยู่กลางเมืองเรียก “สะดือเมือง”]
ดินสะดือทางกายภาพ หมายถึง พื้นดินอ่อนด้วยโคลนเลนซึ่งวนเป็นเกลียวลักษณะเหมือนสะดือมนุษย์
ทั้งนี้ พื้นดินอ่อนนั้นเป็นผลของน้ำใต้ดินจากตาน้ำพวยพลุ่งพุพลั่งหลั่งไหลล้นออกไม่ขาดสายชั่วตาปีตาชาติทำให้นานเข้าก็นองเป็นหนองน้ำ
สะดือ (ก่อนความรู้วิทยาศาสตร์) หมายถึง ส่วนลึกที่สุดซึ่งหยั่งมิได้ว่าลึกมากขนาดไหน? แต่เชื่อว่าลึกลงถึงโลกบาดาลที่มีพญานาคเป็นใหญ่ เพราะมีตาน้ำและรูนาคอยู่บนพื้นที่เดียวกัน
(1.) ตาน้ำ หมายถึงพื้นดินมีรูลึกลงไป แล้วมีน้ำจากใต้ดินไหลล้นออกมาไม่ขาดสายชั่วตาปีตาชาติ ซึ่งคนเชื่อว่าเป็นน้ำจากบาดาลของพญานาค
ตาน้ำคือแหล่งน้ำ ซึ่งหมายถึงอำนาจ ใครคุมพื้นที่มีแหล่งน้ำ คนนั้นมีอำนาจ เพราะแหล่งน้ำเป็นต้นกำเนิดชุมชนที่จะเติบโตเป็นบ้านเมืองและราชอาณาจักร
จอมปลวก คือดินเหนียวคลุมตาน้ำ จึงมีนิทาน 2 เรื่องเกี่ยวกับจอมปลวก ได้แก่ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง กับพระเจ้าปราสาททอง
พระเจ้าสายน้ำผึ้ง สมัยก่อนอยุธยา เมื่อเป็นเด็กเลี้ยงวัวเล่นกับเพื่อน ได้นั่งบนจอมปลวกสมมุติตนเป็นกษัตริย์ ครั้นโตขึ้นได้เป็นกษัตริย์
พระเจ้าปราสาททอง ฝันว่าเมื่อเป็นเด็กได้เล่นบนจอมปลวก แล้วใต้จอมปลวกมีปราสาท จึงให้ขุดจอมปลวกก็พบปราสาททองเป็นจัตุรมุข จากนั้นได้นามปราสาททอง
(2.) รูนาค หมายถึงพื้นดินมีรูตาน้ำนั้น คือช่องที่พญานาคใช้เป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายขึ้นลงระหว่างโลกมนุษย์กับโลกบาดาลซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บมวลน้ำมหึมาสำหรับเลี้ยงโลกเลี้ยงมนุษย์ใช้ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร

สะดือสมุทร

ดินสะดือเป็นชื่อทางกวีโวหารซึ่งอาจเรียกอีกอย่างก็ได้ว่า “สะดือดิน” เป็นสะดือบนพื้นดินหรือบนบก (คนมองเห็นได้เป็นปกติ) ส่วนใต้น้ำก็มีสะดือ โดยเฉพาะในทะเลเรียก “สะดือสมุทร” จะเห็นได้ก็ต้องดำน้ำลงไปลึกมากถึงก้นทะเล
“สะดือสมุทร” เป็นตาน้ำมีโคลนผุดใต้ทะเลอันดามัน พบหลักฐานสำคัญในเพลงยาวรำพันพิลาปของสุนทรภู่ (ซึ่งรู้จากคำบอกเล่าของชาวต่างชาติเป็นนักเดินเรือ) ว่ามีน้ำพุผุดพลุ่งสูงลิ่วจากทะเลขึ้นฟ้าเกิดน้ำวนเป็นเกลียวมีพลังแรงดูดเรือพ่อค้าที่ผ่านทางนั้นต้องแล่นวนไม่พ้นสะดือสมุทร จนบรรดาเรือทั้งหลายไม่กล้าแล่นใกล้สะดือสมุทรนั้น ดังกลอนบทหนึ่ง ว่า

ออกลึกซึ้งถึงชื่อสะดือสมุทร เห็นน้ำสุดสูงฟูมดังภูมิผา
ดูพลุ่งพลุ่งวุ้งวงหว่างคงคา สูดนาวาเวียนวนไม่พ้นไป

“สะดือสมุทร” ในรำพันพิลาป ไม่พบคำอธิบายโดยตรงว่าคืออะไร? แต่อาจเทียบกับปรากฏการณ์ธรรมชาติจากรายงานสำรวจที่นักธรณีวิทยาเรียก “เนินโคลนผุด” (Mud Volcano) หรือ “สะดือทะเลอันดามัน” คือบริเวณลึกที่สุดของทะเลอันดามันประมาณ 2,800 เมตร (2.8 กิโลเมตร) มีอุณหภูมิใกล้ 100 องศาเซลเซียส (ขณะที่น้ำโดยรอบมีอุณหภูมิ 5 ํc เท่านั้น) เกิดจากการเคลื่อนตัวและบีบอัดของเปลือกโลก อยู่ห่างจากเกาะภูเก็ตไปกลางทะเลอันดามันทางตะวันตกประมาณ 300 กิโลเมตร
(มติชน ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2549 หน้า 1)

ตาน้ำ เป็นต้นตอคำว่า “สยาม”

ตาน้ำเป็นต้นตอคำว่า “สยาม” มีเหตุจากประชาชนลุ่มน้ำโขงสมัยดั้งเดิมดึกดำบรรพ์เรียกตาน้ำว่า ซัม หรือซำ หรือสาม แล้วกลายคำเป็น “สยาม” (จึงเรียกคนที่มีหลักแหล่งในดินแดนสยาม ว่า “ชาวสยาม”)
พื้นที่สองฝั่งโขงรวมถึงที่ราบสูงในอีสาน ตาน้ำคือน้ำซับน้ำซึมเป็นตาน้ำพุน้ำผุดซึ่งโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน อันเกิดจากน้ำฝนที่รากต้นไม้อุ้มไว้บนภูเขาและบนเนินดอน แล้วค่อยๆ เซาะซอนใต้ดินไปพุไปผุดขึ้นบริเวณดินอ่อนหรือดินโคลนที่ราบเชิงเขาหรือเชิงเนินดอน จนนานเข้าบางแห่งกลายเป็นที่ลุ่มหรือเป็นห้วยเป็นหนองเป็นคลองบึงเป็นบุ่งทาม เช่น หนองหาน (สกลนคร-อุดรธานี), หนองเอี้ยง (กว๊านพะเยา พะเยา), บึงบอระเพ็ด (นครสวรรค์) เป็นต้น
(สรุปสาระสำคัญจากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519)

ใต้ภาพ
แผนที่แสดงบริเวณที่ราบลุ่มราบเรียบราวแผ่นกระดาน อันเกิดจากการทับถมของโคลนเลนสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาจากเกาะเมืองอยุธยา ลงทิศใต้ถึงบางปะอิน และต่ำลงไป (โดยทนงศักดิ์ หาญวงษ์ กันยายน 2563)