ย้อนสัมพันธ์ “ชวน – พล.อ.สุรยุทธ์” แน่นปึ๊ก 3 สถานะ “สี่เสาฯ คอนเน็กชั่น” จับสัญญาณ “อานนท์” ประนีประนอม

ความคืบหน้าในการตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์” โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นแม่งานหลัก หลังจากติดต่อพูดคุยกับ “อดีตนายกฯ” เพื่อสนับสนุนการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวไปหลายคน ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายอานันท์ ปันยารชุน, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

โดยเฉพาะชื่อที่ถูกจับตาคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี

ถือเป็นการพูดคุยระหว่างประธาน 2 ตำแหน่ง คือ ประธานองคมนตรี กับประธานรัฐสภา ที่ต่างมีบทบาทสำคัญในบ้านเมืองยุคนี้

หากย้อนกลับไป 20 ปีก่อน ก็จะพบ “ความสัมพันธ์” ระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ กับนายชวน ที่มีอีก 2 สถานะในการพูดคุย นั่นคือเป็นอดีตนายกฯ เหมือนกัน

อีกสถานะคือระหว่างอดีตผู้บังคับบัญชาและอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อครั้งนายชวนเป็นนายกฯ ส่วน พล.อ.สุรยุทธ์เป็น ผบ.ทบ.ในขณะนั้น

ช่วงที่นายชวนเป็นนายกฯ ควบเก้าอี้ รมว.กลาโหมด้วยนั้น ชื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ที่ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.จึงผ่านตานายชวนมาแล้ว

โดยขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งหลัก หรือ 5 เสือ ทบ.ที่จะขึ้นชิงเป็น ผบ.ทบ. แต่อยู่ในกรุ ทบ. ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. หลังโดนโยกเข้ากรุยุค “บิ๊กเหวียง” พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ขณะเป็น ผบ.ทบ.

ซึ่งในขณะนั้นมีการมองว่าการโยก พล.อ.สุรยุทธ์จากแม่ทัพภาคที่ 2 เข้ากรุ ทบ. ไม่ชอบธรรม นายชวนจึงต้องคืนความชอบธรรมให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ถือเป็นเรื่องฮือฮาเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ ผบ.ทบ.มาจากตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ.นั่นเอง

ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์กับนายชวนอยู่ในเครือข่าย “บ้านสี่เสาเทเวศร์คอนเน็กชั่น” หรือเป็น “ลูกป๋า” ทั้งคู่ เพราะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นชาว จ.สงขลา ส่วนนายชวนเป็นชาว จ.ตรัง และเป็นอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีฐานเสียงอยู่ในภาคใต้

อีกทั้งนายชวนยังเคยเป็น “รัฐมนตรี” หลายตำแหน่งในยุค พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ สะท้อนถึงสายสัมพันธ์ของ “ป๋าเปรม-ชวน” ได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ นายชวนเป็นหนึ่งในบุคคลที่เข้าออกบ้านสี่เสาฯ เพื่อพบ “ป๋าเปรม” อยู่เสมอ โดยหลังจาก “ป๋าเปรม” ถึงแก่อสัญกรรม นายชวนได้เผยความในใจที่มีต่อ พล.อ.เปรม ว่า นอกเหนือจากคุณงานความดี การทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองต่อเนื่อง และการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือที่เราเรียกท่านว่าป๋า ยังให้ความรักความเมตตา เป็นกันเองต่อพวกเราตลอดมา

“โดยเฉพาะความไว้วางใจเมื่ออยู่กันเฉพาะส่วนตัว ท่านจะพูดภาษาถิ่นใต้กับพวกเรา เมื่อมีพวกเราบางคนเดือดร้อน ป๋าช่วยเหลือด้วยเงินส่วนตัว ผมทราบดี เพราะป๋าไว้ใจให้ผมนำเงินไปให้ แม้เมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว พวกเรายังคงไปเยี่ยมท่านเป็นระยะๆ เป็นส่วนตัว ไม่ให้เป็นข่าวในสื่อ อันจะเป็นเรื่องการเมือง กระทบต่อฐานะตำแหน่งประธานองคมนตรี และทุกครั้งที่ได้พบท่านในงานพระราชพิธีหรือพิธีต่างๆ ป๋าก็จะถามถึงสถานภาพของแต่ละคน รวมไปถึงคนที่ไม่ได้พบด้วย” นายชวนกล่าว

ทั้งนี้ มีเรื่องเล่าว่า พล.อ.เปรมติดตามการประชุมสภานัดแรกเพื่อเลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 25 พฤษภาคม 2562 ก่อนถึงแก่อสัญกรรม เช้ามืด 26 พฤษภาคม 2562 ด้วย

สําหรับ พล.อ.สุรยุทธ์แม้ไม่ได้เป็น “ทหารม้า” เหมือนกับ “ป๋าเปรม” แต่เป็นสายรบพิเศษ ย้อนกลับไปสมัย “ป๋าเปรม” เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. เมื่อปี 2521 หลังจาก พล.อ.สุรยุทธ์พ้นจากการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียน เสธ.ทบ. จากนั้นได้สมัครใจไปเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบ กรมทหาราบที่ 23 จ.นครราชสีมา โดยมีผู้การกรม เป็นอดีตผู้บังคับบัญชา ในตำแหน่งผู้หมวด สมัย พล.อ.สุรยุทธ์เป็นนักเรียนนายร้อย จปร.

ซึ่งช่วงที่ พล.อ.สุรยุทธ์อยู่ที่ จ.นครราชสีมา ทาง พล.อ.เปรมได้ติดต่อผ่านผู้การกรมคนดังกล่าว ให้ พล.อ.สุรยุทธ์มาช่วยงาน พล.อ.เปรม ทำหน้าที่นายทหารฝ่ายเสธ.

ทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ต้องเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทำหน้าที่ 2 ตำแหน่งอยู่ตลอด

ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์เคยกล่าวขณะเป็นประธานเปิดงาน PREM The Great Iconic Statesman จากคมหญ้าสู่ยอดคน เมื่อ 26 สิงหาคม 2562 ตอนหนึ่งว่า ช่วงที่อยู่กับ พล.อ.เปรม ต้องตอบคำว่า “ทำไม” หลายครั้ง ซึ่งเราจะต้องหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น

เช่น มีห้วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์เกิดความแตกแยกภายใน ท่านก็ถามผมว่าทำไมจึงเป็นแบบนั้น ซึ่งผมไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ต้องไปหาข้อมูลมาว่า ทำไมถึงเกิดความแตกแยก แล้วผมก็นำมาชี้แจง ว่าปัญหาเป็นอย่างไร พี่ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะทราบดี ผมไม่ได้เป็นคนในพรรค แต่ต้องไปหาข้อมูลมาตอบ เพราะมีผลกระทบ

สะท้อนว่า พล.อ.สุรยุทธ์เองก็มีสายสัมพันธ์กับ “พรรคประชาธิปัตย์” เช่นกัน

ทั้งนี้ ในช่วงที่ พล.อ.สุรยุทธ์เป็น ผบ.ทบ.ในยุครัฐบาลชวนได้สร้างผลงานสำคัญไว้คือเหตุการณ์ “ก๊อดอาร์มี่” ที่กองกำลังกะเหรี่ยงได้จับคนไทยเป็นตัวประกันที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี พล.อ.สุรยุทธ์เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ครั้งนั้น โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นยาวนานกว่า 20 ชั่วโมง

ผ่านมา 20 ปี บทบาทของ พล.อ.สุรยุทธ์ขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานองคมนตรี อยู่ในตำแหน่งสำคัญยิ่ง

ดังนั้น การวางบทบาทจึงสำคัญตามมาด้วย โดยนายชวนได้เปิดเผยหลังโทรศัพท์ถึง พล.อ.สุรยุทธ์ ถึงแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ในฐานะองคมนตรี ไม่สามารถให้ความเห็นทางการเมืองได้ แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ก็ขอให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายชวนชี้แจงว่าจะพูดคุยกับ พล.อ.สุรยุทธ์ในฐานะอดีตนายกฯ ก็จะไปกราบเรียนในฐานะเป็นผู้ใหญ่เช่นกัน และในฐานะผู้มีประสบการณ์ โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องสถาบัน เพราะไม่มีเหตุผลที่จะไปคุยเรื่องนั้น

ทว่าการที่นายชวนเลือกพูดคุยกับ พล.อ.สุรยุทธ์ ในแง่อีกหนึ่งถือเป็นนัยสำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เพดานข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม 1 ใน 3 ข้อ คือการปฏิรูปสถาบัน

ซึ่งการพูดคุยเพื่อหาทางออกผ่านคณะกรรมการสมานฉันท์ ต้องจับตาว่าจะตีกรอบและมีโมเดลแบบอย่างไร

อีกท่าทีสำคัญคือ นายอานนท์ นำภา ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำคนสำคัญของกลุ่มราษฎร ผู้เปิดประเด็นการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันคนแรกๆ ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นำมาสู่การบรรจุเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องที่ยกระดับขึ้นมาจากเดิมคือ นายกฯ ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเลิกคุกคามประชาชน

ทั้งนี้ “ทนายอานนท์” ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวอย่างเป็นนัยให้ตีความเรื่องทางออกสังคม คือ “การประนีประนอม” ว่า

“ทหารเขาก็เดาว่าม็อบจะยืมมือทหารฉีกรัฐธรรมนูญ เขาจึงไม่รัฐประหาร เพราะถ้าทำนี่ฉิบหายกันหมดทุกองคาพยพ ที่สำคัญ เขารู้ว่ามีคนเตรียมรัฐธรรมนูญอีกฉบับไว้ประกาศทันทีที่รัฐประหารแล้ว ทางออกของสังคมจึงเป็นการประนีประนอม อย่างที่ในหลวงบอกนั่นแหละ เพียงแต่จะอย่างไร เมื่อไรเท่านั้น ผมยังเห็นความพยายามของทั้งสองฝ่ายที่จะไม่ให้เกิดความสูญเสียอยู่ ขอให้ทั้งสองฝ่ายหนักแน่นจุดนี้ แล้วหาทางออกไปด้วยกัน”

การที่ “ทนายอานนท์” ออกมาระบุเช่นนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยและงุนงงต่อความเห็นที่เกิดขึ้นว่าเป็นการ “ลดเพดาน” ข้อเรียกร้องหรือไม่

หรือมีกระบวนการ “พูดคุย-เจรจา” ใดๆ กับ “ทนายอานนท์” หรือไม่ นับจากได้รับการ “ปล่อยตัวชั่วคราว”

อย่างไรก็ตาม “ทนายอานนท์” ได้โพสต์ชี้แจงว่าไม่มีการลดเพดานใดๆ ยังยึด 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน ถือเป็นการประนีประนอมแล้ว ไม่เช่นนั้นย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิด “ฉันทามติใหม่” ขึ้นแทน

ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้น โดยเมื่อ 7 กันยายนที่ผ่านมา ที่มีการปล่อยตัว “ทนายอานนท์-ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก” หลังพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยกเลิกคำร้องฝากขัง โดยให้เหตุผลว่าสอบปากคำได้บางส่วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องคุมขังระหว่างการสอบสวนอีกต่อไป โดยมี พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ ขณะเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้เดินออกมาส่งทั้งคู่ด้วยตัวเอง

แม้ต่อมาจะมีการจัดกิจกรรมชุมนุมคณะราษฎร ที่สนามหลวง 19-20 กันยายน และการชุมนุมที่ทำเนียบฯ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา

แต่นับจากที่ “ทนายอานนท์” ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวครั้งล่าสุด ก็มีท่าทีที่ “นิ่งขึ้น” ต่างจากที่ผ่านๆ มา รวมไปถึงแกนนำระดับแถวหน้าคนอื่นๆ ด้วย

หรือนี่คือประนีประนอมค้ำจุนสังคม?