วงค์ ตาวัน | “ข่าวกรอง” อาจเป็น “หลุมพราง”ที่ลวงตัวเองได้

วงค์ ตาวัน

ข่าวกรอง-หลุมพรางลวงตัวเอง

มีคำกล่าวว่า รัฐบาลที่โดนประชาชนชุมนุมประท้วงขับไล่ หลายรัฐบาลต้องพังเพราะข่าวกรองนั่นเอง หากเป็นข่าวกรองที่ไม่ตรงไปตรงมา รายงานข่าวกรองอย่างอคติเอนเอียง กระทั่งมีแนวโน้มรายงานโดยเอาใจผู้มีอำนาจ

จำนวนตัวเลขผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงรัฐบาลต่างๆ นั้น มักจะมีปัญหาในการสรุปรายงานเพื่อนำเสนอผู้นำรัฐบาล

แน่นอนว่า ฝ่ายผู้นำในการประท้วงมักจะอวดอ้างจำนวนผู้ร่วมการต่อสู้ชุมนุมไล่รัฐบาลอย่างเกินจริง เพื่อปลุกขวัญกำลังใจมวลชน เพื่อข่มขวัญรัฐบาล เพื่อกดดันผู้นำรัฐบาล

“แต่ฝ่ายรัฐบาลเอง จำเป็นจะต้องยึดข้อมูล จำนวนตัวเลขผู้ร่วมม็อบที่เป็นจริง เพื่อประเมินกระแสการต่อต้านได้ถูกต้อง และแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องนั้นได้ถูกทาง”

แม้จะมีแนวโน้มว่า ทุกรัฐบาลมักหวงอำนาจ กอดอำนาจไว้ไม่ยอมปล่อยง่ายๆ ไม่ยอมถอยตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมง่ายๆ

แต่รัฐบาลที่ชาญฉลาด มีข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมที่ถูกต้อง มักจะเลือกทางถอยเมื่อเห็นว่าถึงจุดนั้นแล้ว เมื่อประเมินได้ถูกว่ากระแสต่อต้านแรงจริงๆ ยอมถอยดีกว่าแตกหัก

การยอมสละอำนาจของรัฐบาลที่คิดรอบคอบ นอกจากเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วง จนกลายเป็นรัฐบาลมือเปื้อนเลือดที่จะติดตัวไปตลอดกาลแล้ว

ยังหมายถึงมีโอกาสจะกลับมาสู่อำนาจได้อีกในอนาคต ตามวิถีทางการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

“ทั้งหลายทั้งปวง ข้อมูลรายงานด้านข่าวกรอง จึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการทำให้รัฐบาลต่างๆ หาทางออกได้ถูกต้อง ถูกจังหวะ หรือไม่ก็ทำให้พังไปเลย พบจุดจบอย่างน่าอนาถไปเลย”

กล่าวสำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังถูกนักเรียนนักศึกษาในนามคณะราษฎรชุมนุมต่อต้านอย่างต่อเนื่องมา 4 เดือนแล้ว กลายเป็นกระแสข่าวใหญ่ในสื่อมวลชนทั้งในประเทศและสื่อทั่วโลก มีการเคลื่อนไหวขานรับในหลายจังหวัดทั่วประเทศ และในหมู่คนไทยในหลายประเทศ

เป็นการเคลื่อนไหวที่กลายเป็นกระแสหลักในบทสนทนาทั่วทั้งสังคมไปแล้ว

แต่การรายงานข่าวกรองของสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ที่ส่งถึงรัฐบาลหลังการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน หลังจากชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเดินขบวนไปยังสำนักพระราชวัง ที่วัดพระแก้ว

“สมช.รายงานว่า มวลชนกลุ่มราษฎรอ่อนแรงลงมาก เห็นได้จากจำนวนของผู้มาร่วมชุมนุมที่ลดลงเยอะ เมื่อเปรียบเทียบกับการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา”

ส่วนการจัดม็อบในต่างจังหวัดที่ดูเหมือนจะเกิดทั่วประเทศ แต่จากที่ประเมินมีผู้มาร่วมเพียงหลักร้อยถึงหลักพัน ขณะที่ใน กทม.ยอดสูงสุดอยู่ที่ 1.5 หมื่นคน เมื่อรวมจำนวนผู้ชุมนุมทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดทั่วประเทศ ยอดมวลชนสูงสุดไม่เกิน 2 หมื่นคน

รายงานข่าวกรองชิ้นนี้ สร้างความปลื้มอกปลื้มใจให้กับแกนนำรัฐบาลหลายคนเลยทีเดียว

เคยมีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ ที่สะท้อนปัญหางานการข่าวของรัฐบาลได้อย่างชัดเจนที่สุดคือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ซึ่งมีการชุมนุมประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรีที่มาจากคณะรัฐประหาร รสช.

ผู้ชุมนุมยึดพื้นที่ถนนราชดำเนินปักหลักขับไล่รัฐบาลต่อเนื่องหลายวัน

ขณะนั้นหน่วยข่าวตำรวจสันติบาล ซึ่งรายงานการชุมนุมประท้วงอย่างละเอียดและอย่างมืออาชีพ มีการแจ้งรายงานผ่านวิทยุสื่อสารข่าย “ราชดำริ” ระบุตัวเลขผู้ร่วมประท้วงอย่างละเอียดว่าเกินกว่าแสนคน ไปจนถึงสองแสน ทั้งระบุแนวโน้มเป็นระยะๆ เช่น ยังคงมีคนเข้าร่วมมากกว่าเดินออก หรือเริ่มเดินออก มากกว่าเดินเข้า

สื่อมวลชน รวมไปถึงผู้ที่มีอุปกรณ์วิทยุสื่อสาร พากันเฝ้ารับฟังรายงานของ ว.ข่ายตำรวจสันติบาลอย่างเกาะติด ถือว่าได้ข้อมูลแม่นยำและเป็นมืออาชีพที่สุด

ขณะเดียวกันภาพข่าวที่สื่อมวลชนรายงานก็เห็นภาพผู้ชุมนุมเนืองแน่นไปทั่วถนนราชดำเนิน ซึ่งตรงกันกับที่สันติบาลรายงาน

“แต่เกิดปัญหาว่า รายงานข่าวกรองของอีกหน่วย ที่นำเสนอถึงผู้นำกลับระบุตัวเลขว่า มีผู้ชุมนุมราว 6 หมื่นคน มีการระบุด้วยว่า ที่เห็นภาพเต็มถนนราชดำเนินนั้น พบว่าตรงกลางของพื้นที่ชุมนุม มีคนบางตา และมีช่องโหว่เป็นหย่อมๆ ดังนั้น ตัวเลขจริงจึงมีแค่ 6 หมื่นคน!?”

ผู้นำรัฐบาลจึงเลือกเชื่อตัวเลขของหน่วยข่าวกรองดังกล่าว ไม่เชื่อตัวเลขของตำรวจสันติบาล ทั้งที่เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชำนาญด้านการเคลื่อนไหวมวลชนมากกว่า

จากนั้นข่ายวิทยุสันติบาลเริ่มถูกก่อกวน โดยบุคคลที่เรียกกันว่าไอ้แหลม เนื่องจากพูดจาด้วยเสียงแหลมสูง แต่ผู้ก่อกวนใช้วิทยุสื่อสารที่มีกำลังคลื่นสูงมาก น่าเชื่อว่ามาจากบางหน่วยราชการ

“ต่อมามีคำสั่งเป็นการภายใน ให้ ว.ข่ายสันติบาล งดการแจ้งจำนวนตัวเลขม็อบผ่านทางวิทยุ จนกล่าวกันว่าศูนย์ ว.ราชดำริ ถูกสั่งปิดแล้ว”

เมื่อผู้นำรัฐบาลเลือกเชื่อตัวเลขหน่วยข่าวกรองที่ใกล้ชิด ซึ่งระบุว่ามีแค่ 6 หมื่นคน จึงมีท่าทีแข็งกร้าวต่อผู้ชุมนุม จนกระทั่งลงเอยเป็นการปราบปรามนองเลือด

กลายเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และนายกฯ ต้องลาออกในที่สุด พร้อมกับหายไปจากวงการอำนาจอย่างสิ้นเชิง

การชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษาในขณะนี้ ใช้รูปแบบใหม่ คือไม่ปักหลักข้ามคืน ชุมนุมเป็นระยะๆ กระจายพื้นที่ไปตามชานกรุงเทพฯ บ้าง พร้อมกับนักเรียน-นักศึกษาในพื้นที่หลายจังหวัดก็จัดชุมนุมต่อเนื่องกันไป ตามสโลแกนทุกคนคือแกนนำ

แต่การนัดชุมนุมใหญ่แต่ละครั้งในใจกลางเมืองกรุง เช่น สี่แยกราชประสงค์ สี่แยกปทุมวัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แยกเกษตร ห้าแยกลาดพร้าว

“ภาพข่าวที่สื่อมวลชนรายงาน การถ่ายทอดสดทางทีวี ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ในทุกๆ ครั้งจะเห็นมวลชนเข้ามาร่วมอย่างเนืองแน่น เกินกว่า 5 หมื่นคนไปจนถึงเกินแสนก็มี”

ที่สำคัญ ในโลกยุคใหม่ การไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก เป็นเสมือนการเปิดให้ผู้คนเข้าร่วมม็อบผ่านออนไลน์

เพราะจะมีการร่วมแสดงความคิดเห็นเข้ามาระหว่างการไลฟ์สด เหมือนร่วมแสดงออกไปกับการประท้วง

“ตัวเลขของผู้ร่วมชุมนุมทางออนไลน์ยังมีจำนวนมากมายอีกต่างหาก”

ขณะที่ตัวเลขผู้ร่วมม็อบของหน่วยงานด้านความมั่นคง เช่น สมช. กลับแตกต่างไปอีกแบบ

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ สมช. เคยให้สัมภาษณ์ก่อนการนัดชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่า จากการข่าวเชื่อว่าจะมีคนร่วมไม่ถึงหมื่นคน

“ผลปรากฏว่าถึงวันชุมนุมจริงเต็มล้นพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนน่าสงสัยในการประเมินของ สมช.อย่างมาก”

แถมรัฐบาลต้องใช้ประกาศภาวะฉุกเฉินเข้าควบคุมสถานการณ์ เมื่อม็อบเคลื่อนขบวนไปล้อมทำเนียบแบบเต็มแน่นทุกด้าน ก่อนจะรีบสลายตัวเมื่อรู้ว่ามีการประกาศภาวะฉุกเฉิน และตำรวจเคลื่อนเข้าคุมพื้นที่รอบทำเนียบในตอนเช้ามืด

แต่ฝ่ายคณะราษฎรตอบโต้ด้วยการชุมนุมในวันถัดมาที่แยกราชประสงค์ ซึ่งก็มีคนร่วมเต็มพื้นที่

จากรายงานของ สมช.หลังการชุมนุมวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ว่าแผ่วลงไป มีแค่ 1.5 หมื่น รวมแล้วทั่วประเทศไม่เกิน 2 หมื่นคน

น่าสนใจว่า เป็นตัวเลขที่ผู้นำรัฐบาลเชื่อขนาดไหน และถ้าเชื่อตามนี้ จะกำหนดท่าทีอย่างไร

“ข่าวกรองอาจเป็นเสมือนเข็มทิศที่แม่นยำ หรือหากเต็มไปด้วยอคติและการเอาอกเอาใจผู้นำอำนาจ ก็อาจกลายเป็นหลุมพรางที่ลวงตัวเองได้”

เพราะข่าวกรองจะเป็นปัจจัยกำหนดจังหวะก้าวให้กับรัฐบาล

จะเดินหน้าหรือถอยหลัง และลงเอยจะผ่านวิกฤตไปได้หรือจะกลายเป็นจุดอวสานในที่สุด!?