จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2563

จดหมาย

0 ปฏิวัติ (1)

ผมเป็นผู้ซื้อประจำมาหลายสิบปี

เพราะชอบอ่านความเห็นของผู้รู้หลายท่าน เช่น อ.นิธิ. อ.สุรชาติ

และพยามทำความเข้าใจกองทัพ ผ่านรายงานพิเศษ

ซึ่งมีโทนเสียงเข้าข้างทหารที่กุมอำนาจ แต่ก็ยังถือว่าไม่ล้ำเส้น

แต่คราวนี้ต้องขอแสดงความไม่พอใจอย่างตรงๆ

ต่อบทความหัวข้อ “การเมือง กองทัพ พันตูฯ” ในฉบับที่ 2099

เพราะมีลักษณะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้กับกองทัพ

ที่จะเข้ามาทำรัฐประหาร โดยใช้ข้ออ้าง (ที่เชื่อกันผิดๆ) ว่า ปกป้องสถาบัน

เมื่ออ่านจบทั้งบทความแล้ว มันเหมือนกระบอกเสียงของฝ่ายกองทัพ

ที่มองว่าหน้าที่ทหารคือ ปกป้องสถาบันด้วยการใช้กำลังกับผู้เสนอปฏิรูปสถาบัน

ถึงขั้นมีความชอบธรรมในการรัฐประหารซึ่งเป็นแนวคิดที่ตกยุคมากๆ

และจะทำให้นิตยสารของท่านสูญเสียฐานนักอ่านรุ่นใหม่ ซึ่งคือคนที่เขาลงถนนกันอยู่ทุกวัน

นับถือ

ป. พิบุลย์พหล

 

ต้องค้อมหัวรับฟังความคิดเห็น แฟนประจำ

ด้วยความขอบคุณ

และเอาใจใส่

เพราะจุดยืนของ ป. พิบุลย์พหล

มิได้แตกต่างจากจุดยืนของเรา

คือต่อต้านรัฐประหาร

แต่กระนั้น ก็คงต้องกลับมาครุ่นคิดไตร่ตรอง

และทบทวนการนำเสนอ

อย่างที่ ป. พิบุลย์พหล ยึดเป็นแนว (และเราก็พยายามเช่นนั้น)

คือ “ความพยามทำความเข้าใจกองทัพ”

โดยไม่ทำให้ถูกมองว่าเป็นกระบอกเสียงให้กองทัพ

 

0 ปฏิวัติ (2)

 

มิจฉาวาทการ (โฉด)

 

วาทกรรมผู้นำเผด็จการ

สร้างความร้าวรานให้ชาติฉันใด

ความต้องการแห่งผู้คนส่วนใหญ่

ก็โหมไหม้ “ใจเผด็จการ” ฉันนั้น

 

…โหมไหม้มิจฉาสติ

…โหมไหม้มิจฉาสมาธิ

…โหมไหม้มิจฉาทิฐิ

…ติติงมิจฉาสังกัปปะ…วายามะ

…ชำระสะสางมิจฉาชีพ-วาจา-จาร

“วิงวอน”…เหล่า “ทหาร (หาญ)” กลับสู่กรมกอง

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

จุดยืน

ที่วิงวอนให้ทหาร (หาญ) กลับกรมกอง

ของสงกรานต์ บ้านป่าอักษร

น่าจะชัดเจน

ที่จะไม่ถูกตั้งข้อสงสัย

ว่า เป็น “กระบอกเสียงของกองทัพ”

 

0 กรณีฉีดน้ำ

กรณีผู้อำนวยการโรงพยาบาลไล่แพทย์หญิงที่คิดต่างทางการเมืองออกจากงาน

ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว

หากมีผู้บริหารแบบนี้อีกในโรงพยาบาลอื่นๆ ของประเทศ

คงจะต้องถามหาหลักจรรยาบรรณวิชาชีพอีกครั้งหนึ่ง

แพทย์ทุกคนทราบดีว่าพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันเคยตรัสเรื่องจรรยาบรรณ

โดยหวังประโยชน์ต่อพสกนิกรสูงสุด

และให้แพทย์พึงสำนึกตัวเอง

ดังคำที่พูดว่า ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง แต่ประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง

คุณธรรม 10 ประการ (จรรยาบรรณแพทย์)

ที่เป็นอาภรณ์ประดับกายใจของแพทย์ทุกคนในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนต้องมี คือ

  1. มีเมตตาจิตแก่คนไข้ ไม่เลือกชั้นวรรณะ
  2. มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยกตนข่มท่าน
  3. มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป
  4. มีความละเอียดรอบคอบ สุขุม มีสติใคร่ครวญเหตุผล
  5. ไม่โลภเห็นแก่ลาภของผู้ป่วยแต่ฝ่ายเดียว
  6. ไม่โอ้อวดวิชาความรู้ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ
  7. ไม่เป็นคนเกียจคร้าน เผอเรอ มักง่าย
  8. ไม่ลุอำนาจแก่อคติ 4 คือ ความลำเอียงด้วยความรัก ความโกรธ ความกลัว ความหลง (โง่)
  9. ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่เป็นโลกธรรม 8 คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และความเสื่อม
  10. ไม่มีสันดานชอบความมัวเมาในหมู่อบายมุข

หากผู้บริหารโรงพยาบาล ยึดถือได้อย่างเคร่งครัด เหตุการณ์ที่จะไล่แพทย์หญิงออกจากงานคงจะไม่เกิดขึ้น

เพราะท่านจะรับฟังเหตุผลอย่างมีเมตตาจิต

ไม่ยกตนข่มท่านตามจรรยาบรรณข้อที่ 2

ท่านจะมีความสุขุม มีสติใคร่ครวญเหตุผลดังที่เขียนไว้ในข้อที่ 4

ไม่ลุแก่อำนาจ แก่อคติในข้อที่ 8

และจะไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่เป็นโลกธรรมซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมได้อย่างที่ระบุไว้ในข้อที่ 9

การใช้อำนาจไล่ผู้เป็นแพทย์ด้วยกันออกจากงานอย่างง่ายดาย เพียงเพราะไปลงชื่อร่วมเห็นอกเห็นใจเยาวชนที่ถูก ตชด.ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีฉีดไปที่ฝูงชนโดยไม่มีความจำเป็น

ท่านจะตอบอย่างไร

ขณะที่คณะบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมลงนาม 1,008 คน

ออกแถลงการณ์เรียกร้อง

ให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบของรัฐต่อผู้ชุมนุม เป็นการรับฟังอย่างสันติวิธี

ให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชายึดหลักสากลในการควบคุมฝูงชน

ให้โรงพยาบาลต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย และเป็นกลางทางการเมือง

ให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งพึงได้รับของพลเมือง

ให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยและผู้ประสบภัยทุกคนอย่างเสมอภาค

ให้การดูแลการชุมนุมต้องปฏิบัติตามหลักสากล

ให้มาตรการที่ใช้ควบคุมฝูงชนจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

สมศรี หาญอนันทสุข

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

 

ขออนุญาตปรับเนื้อหาให้สั้นลงเพื่อความพอดีกับพื้นที่

กรณีแพทย์หญิง แม้ซาไป

แต่กรณีฉีดน้ำ

กลับมาเป็นประเด็นอีก

ถึงจะมีการขอโทษจากตำรวจ

แต่ก็คงเป็นเรื่องคาใจ (อีกครั้ง)

ให้ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป