E-DUANG : ​​สังคมไทย ดินแดน แห่งรอยยิ้ม กับภาพ ดุดัน นครศรีธรรมราช

มีความรู้สึก”ร่วม”ในหมู่ผู้อาวุโสโดยเฉพาะที่แสดงตนเป็น”มินเนี่ยน”ตั้งข้อสังเกตต่อการปรากฏขึ้นของ”เยาวชนปลดแอก”ว่าหยาบคาย ก้าวร้าว เสี่ยงต่อการใช้กำลังและความรุนแรง

แต่เมื่อมีความพยายามจัดคนต่างวัย คนต่างรุ่นออกมาอยู่บนเวทีของการถกแถลงเสวนาร่วมกัน

“ภาพ” ที่ออกมาและสร้างความรู้สึกกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะว่าภาพของ”คนรุ่นใหม่” ไม่ว่าจะเป็นน้องฟอร์ด ไม่ว่าจะเป็นน้องมายด์ ไม่ว่าจะเป็นน้องไผ่ กลับสุภาพ นุ่มนวล มากด้วยความอดทนอดกลั้น

ตรงกันข้าม ภาพของลุงไพบูลย์ ภาพของลุงสิระ ภาพของป้าปารีณา ภาพของป้าอุ๊ กลับกระโชกโฮกฮาก ข่มขู่ คุกคามและถึงกับดุด่าว่ากล่าวทั้งโดยตรงและไม่อ้อมค้อม

ความรุนแรงมิได้อยู่ที่น้องไผ่ หากแต่อยู่ที่ป้าอุ๊ ความหยาบกร้าวมิได้อยู่ที่น้องมายด์ หากแต่อยู่ที่ป้าปารีณา

ยิ่งเห็นการอาละวาดของ”เสื้อเหลือง” ยิ่งสร้างความหวาดเสียวให้บังเกิดในสังคม

 

ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของคุณพี่เสื้อเหลืองอันเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของคุรพี่เสื้อเหลือง แห่งจังหวัดนครศรีธรรมราช

ท่าทีที่เรียงแถวกันเข้าหาเด็กๆ มิได้เป็นท่าทีของผู้ใหญ่อันเปี่ยม ด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ

ตรงกันข้าม ต้องการเห็นความรุนแรง ความก้าวร้าว

ใครที่ติดตามบทบาทของคุณพี่เสื้อเหลืองแห่งนครศรีธรรมราชที่ตรูกันล้อมรถยนต์ซึ่งเข้าใจว่ามี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นั่งอยู่ข้างในนั้นก็ต้องยอมรับในความดุดัน

เป็นความดุดันที่โกรธกันมาแต่ชาติปางก่อน เป็นความดุดันที่ไม่ยอมอยู่ร่วมฟ้าเดียวกันแม้แต่วินาทีเดียว เป็นความดุดันที่อาจทำร้ายมากกว่าต้องการให้บาดเจ็บ

ภาพแห่งสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2519 เด่นชัด ภาพแห่งสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 เด่นชัด

 

เมื่อภาพจากเดือนตุลาคม 2519 หวนมา เมื่อภาพจากเดือนพฤษภาคม 2553 หวนมา เสียงเน้นย้ำที่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมพุทธจึงขัดกับความเป็นจริงอันน่าสยดสยอง

ที่เคยนิยามว่าไทยเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้มจึงน่าสงสัย

น่าสงสัยว่ารอยยิ้มอันเปี่ยมด้วยความเมตตา ประสานประโยชน์ทางความคิด ทางการเมืองยังคงมีอยู่หรือไม่