คุยกับทูต : โทโมร์ อมาร์ซานา “ไทย-มองโกเลีย” เพิ่มโอกาสขยายความสัมพันธ์ (1)

ทันทีที่เดินทางมาถึงประเทศไทย นายโทโมร์ อมาร์ซานา ก็เข้ารับการกักตัว ณ โรงแรมที่รัฐกำหนด เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลา 14 วัน ตามหลักเกณฑ์ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม ถึง 12 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นหนึ่งในสมาชิกรุ่นน้องของคณะทูตที่กรุงเทพฯ

นายโทโมร์ อมาร์ซานา (His Excellency Tumur Amarsanaa) คือเอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทยคนล่าสุด ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศเมียนมา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

รวมทั้งเป็นผู้แทนถาวรประจำคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก

ด้วยอายุเพียง 38 ปี ท่านทูตอมาร์ซานาจัดเป็นนักการทูตที่มีประสบการณ์สูง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศมองโกเลีย ก่อนมาประจำประเทศไทยในตำแหน่งเอกอัครราชทูตเป็นครั้งแรก

นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของนักการทูตหนุ่มที่มีอนาคตอันสดใส

จึงไม่น่าแปลกใจเพราะท่านทูตจบการศึกษาปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติมองโกเลีย และปริญญาโทจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคิวชูแห่งญี่ปุ่น

นอกจากภาษามองโกเลีย และภาษาอังกฤษแล้ว ท่านทูตมีความเชี่ยวชาญในการพูดภาษารัสเซียแบบเจ้าของภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว

การทูตเป็นงานที่เต็มไปด้วยความท้าทาย และเป็นที่น่าสนใจสำหรับบุคคลภายนอก

เรามาทราบเหตุผลในการตัดสินใจเข้ารับราชการในกระทรวงต่างประเทศมองโกเลียของท่านทูตอมาร์ซานา

 

“ผมคิดว่า วิธีที่ดีที่สุดในการมองอนาคตคือการสร้างมันขึ้นมาโดยการไล่ตามความฝันของคุณเอง เพราะมีเพียงคุณเท่านั้น ที่จะทำให้ความฝันของตัวเองเป็นจริง ดังนั้น ผมจึงไม่ค่อยเชื่อเรื่องของอุบัติเหตุ ครั้งหนึ่ง ปาโบล ปีกัสโซ (Pablo Picasso) เคยกล่าวว่า “ฉันไม่เชื่อเรื่องอุบัติเหตุ มีเพียงการเผชิญหน้าในประวัติศาสตร์เท่านั้น” (I don”t believe in accidents. There are only encounters in history)”

Pablo Ruiz Picasso เป็นศิลปินชาวสเปนที่เชี่ยวชาญในหลายสาขา ได้แก่ วาดภาพ, ประติมากร, ช่างพิมพ์, นักเซรามิก, นักออกแบบเวที, นักกวี และนักเขียนบทละคร ชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในศิลปินผู้มีอิทธิพลมากที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20

“เนื่องจากคุณพ่อและคุณแม่ของผมเป็นทนายความ ส่วนคุณปู่ทวดเป็นนักการทูตที่มีชื่อเสียง ท่านเป็นผู้นำในการเจรจาหลายครั้งกับประเทศเพื่อนบ้านของเราในช่วงต้นทศวรรษ 1900 การอุทิศตนเพื่ออาชีพและความปรารถนาที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่าของบรรพบุรุษดังที่กล่าวมา ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจให้ผมเลือกที่จะประกอบอาชีพด้านกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อสานต่อหรือเจริญรอยตามสืบต่อไป”

 

มองโกเลียเป็นประเทศในทวีปเอเชียที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลใหญ่ มีพรมแดนทางเหนือติดกับประเทศรัสเซีย และทางใต้ติดกับประเทศจีน

ในอดีตมองโกเลียเคยอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศจีน

ประเทศมองโกเลียจึงแบ่งเขตพื้นที่ออกเป็นสองส่วน

โดยมองโกเลียใน (Inner Mongolia) เขตปกครองตนเองที่อยู่ในส่วนของประเทศจีน

และมองโกเลียนอก (Outer Mongolia) หรือสาธารณรัฐมองโกเลีย (Republic of Mongolia) ในปัจจุบัน

สาธารณรัฐมองโกเลียมีประชากรเพียง 3 ล้านกว่าคน แต่มีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยถึงกว่า 3 เท่า

ซึ่งทำให้มองโกเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยที่สุด ประชากรส่วนมากจะอาศัยอยู่ที่อูลานบาตอร์ (Ulaanbaatar) เมืองหลวงของประเทศ

 

สําหรับการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทย-มองโกเลีย ท่านทูตอมาร์ซานาเล่าว่า

“Covid-19 ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลกและประเทศของเราทั้งสองก็มิได้มีข้อยกเว้น เราจึงต้องสร้างความร่วมมือกันต่อไป โดยมองว่าสถานการณ์ในวันนี้เป็นโอกาสให้ได้ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้นในขณะที่ใช้ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจ”

“เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก รัฐบาลของเราได้ให้ความสำคัญกับสามประเด็นหลัก ประการแรก คือการสร้างความมั่นใจในสุขภาพของประชาชน ประการที่สอง สนับสนุนภาคเอกชนและประชาชน และประการที่สาม สนับสนุนการค้าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งผมคิดว่า ประเด็นหลักในการพิจารณาของเราวันนี้ก็มีความคล้ายคลึงกัน”

“นับตั้งแต่ได้มีการอำนวยความสะดวกขยายกองทุน (Extended Fund Facility) กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เศรษฐกิจของมองโกเลียได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนเติบโตถึง 6.9 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในปี 2018 ซึ่งในความเป็นจริง ในเวลาเพียง 2 ปีมองโกเลียก็ได้กลายเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือของเศรษฐกิจที่มีพลวัตดังเช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน”

“ผมหวังว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจมองโกเลียจะสามารถรักษาไว้ได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหลังโควิด-19”

 

“ในขณะที่ 89.2 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกของเรามาจากภาคการทำเหมือง ได้แก่ ถ่านหิน ทองแดงเข้มข้น แร่เหล็ก และน้ำมันปิโตรเลียม ดังนั้น มองโกเลียจำเป็นต้องกระจายตลาดการส่งออก ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นและกำหนดเป้าหมายการกระจายความเสี่ยงในแนวดิ่ง”

“ในทางกลับกัน การส่งออกที่ไม่ใช่เหมืองแร่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยผ้าขนสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์และเนื้อสัตว์ รัฐบาลตระหนักดีถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความเปราะบางของเศรษฐกิจที่มีต่อความผันผวนของราคาสินค้าส่งออกและการพึ่งพาภาคเหมืองแร่ นั่นคือเหตุผลที่เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเกษตร อาหาร อุตสาหกรรมเบา และการท่องเที่ยว และเราเชื่อว่าการขยายความร่วมมือกับไทยจะเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจใหม่”

“อีกประการหนึ่งคือ วิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (MSMEs) เป็นผู้มีบทบาทหลักในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม การค้าส่ง และการผลิต นั่นคือเหตุผลที่การเสริมสร้างความร่วมมือของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความสำคัญต่อการกระจายเศรษฐกิจและการเติบโตในวงกว้าง ยั่งยืนและครอบคลุมทั้งสองประเทศ”

“ส่วนความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จระหว่างมองโกเลียและไทยในด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ การขนส่งทางบก การพัฒนาเมือง สิ่งทอ อาหารโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นม พลังงานหมุนเวียน แม้แต่การต่อต้านการฟอกเงินและการค้ายา ก็อาจเป็นประโยชน์สำหรับเราทั้งสองฝ่ายเช่นกัน”

“มองโกเลียมีการซื้อ-ขายกับ 154 ประเทศทั่วโลกในปี ค.ศ.2019 เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายรวมจากต่างประเทศสูงถึง 13,700 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ เมื่อเทียบกับปี 2018 มูลค่าการซื้อ-ขายเพิ่มขึ้น 6.7% ปริมาณการส่งออกขยายตัว 8.7% ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น 4.3% จากปี 2018 และดุลการค้าต่างประเทศเกินดุล 1.49 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปริมาณการค้ากับไทยอยู่ที่ 42.2 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นเพียง 0.31% ของดุลการค้านี้”

“ผมเชื่อมั่นว่าเราสามารถเพิ่มการค้าได้อย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มากมายที่ทดแทนความต้องการของเรา และในทางกลับกัน เรามีผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสุขภาพของคนไทย เพราะสามารถผลิตได้ในสภาพอากาศอันหนาวเย็นในประเทศของเรา”

 

ประวัติ

นายโทโมร์ อมาร์ซานา
เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย

การศึกษา

2006-2007 : นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคิวชูแห่งญี่ปุ่น (Kyushu University of Japan)

1998-2003 : นิติศาสตรบัณฑิต / ทนายความระหว่างประเทศ สำนักวิชากฎหมายแห่งชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมองโกเลีย (National University of Mongolia -NUM)

ประสบการณ์

2020-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทยและผู้แทนถาวรองค์กรระหว่างประเทศ ในกรุงเทพฯ

2014-2020 : อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศมองโกเลีย

2012-2014 : รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศและการค้ามองโกเลีย

2008-2011 : เลขานุการโท สถานทูตและคณะผู้แทนถาวรมองโกเลียแห่ง UNODC, IAEA, CTBTO, OSCE, UNCITRAL และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

2003-2008 : นักการทูต และเลขานุการตรี กรมการกงสุลและกฎหมายกระทรวงต่างประเทศมองโกเลีย

2004-2005 : รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมองโกเลีย

2000-2003 : ล่าม บริษัท Euromarkpatmon Co.Ltd, มองโกเลีย

ประสบการณ์อื่นๆ

2004-ปัจจุบัน : สมาชิกเนติบัณฑิตยสภา มองโกเลีย ทนายความที่ได้รับใบอนุญาต

2011-ปัจจุบัน : สมาชิกสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งมองโกเลีย

2013-2020 : สมาชิกสภาความร่วมมือด้านการต่อต้านการฟอกเงินและการจัดหาเงินทุนเพื่อการก่อการร้าย

2015-2016 : สมาชิกของคณะกรรมการ “Monatom” LLC

2015-2016 : หัวหน้าคณะกรรมการกฎหมายระหว่างประเทศ มองโกเลียเนติบัณฑิตยสภา

2016-2020 : สมาชิกของคณะกรรมการ “Mongolian Ship Registry Pte Ltd”

สิ่งพิมพ์ : ผลงานที่ได้ตีพิมพ์และบทความมากกว่า 20 รายการ