ต่างประเทศ : แผ่นดินไหวการทูต เชื่อม “กรีซ-ตุรกี”

เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงที่ประเทศตุรกีและกรีซ ที่วัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 7.0 แมกนิจูดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของตุรกี ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากแต่ในความหายนะที่เกิดขึ้น กลับเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “แผ่นดินไหวการทูต” ขึ้น เมื่อคู่อริกันระหว่างกรีซกับตุรกี กลายเป็น 2 ประเทศที่ต้องเจอเข้ากับภัยพิบัติเดียวกัน

และหันมาแสดงความเสียใจต่อกันและกัน

 

กรีซกับตุรกีมีความขัดแย้งกันมานาน ว่าด้วยเรื่องดินแดนในเขตพื้นที่ทะเลอีเจียนที่กั้นระหว่างสองประเทศเอาไว้ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองตกอยู่ในสภาพอริกันมาช้านาน รวมไปถึงสถานการณ์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตึงเครียดมากขึ้น หลังจากตุรกีได้ส่งเรือที่มีกองทัพหนุนหลังอยู่เข้าไปสำรวจแหล่งทรัพยากรพลังงานในเขตน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทระหว่างสองประเทศ จนทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศย่ำแย่ลงไปอย่างหนัก

และด้วยความที่มีพื้นที่อยู่ใกล้กัน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศจึงได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวนี้พร้อมๆ กัน โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับเมืองอิซมีร์ของตุรกี และใกล้กับเกาะซามอสของประเทศกรีซ

ขณะที่เมืองอิซมีร์ได้รับผลกระทบหนักที่สุด และมีตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่กู้ภัย ที่ต้องต่อสู้กับเวลาเพื่อค้นหาผู้ที่อาจจะรอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้

 

ท่ามกลางความอึมครึมของสถานการณ์ นายคีเรียคอส มิตโซทากิส นายกรัฐมนตรีกรีซ ได้ต่อสายถึงนายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี หลังเกิดแผ่นดินไหว ได้มีการกล่าวแสดงความเสียใจและเสนอความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

โดยสำนักงานประธานาธิบดีของตุรกีแจ้งว่า ผู้นำทั้งสองประเทศได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ และต่างแสดงความปรารถนาที่จะฟื้นฟูประเทศจากความเสียหายโดยเร็ว

ขณะที่นายมิตโซทากิสได้ทวีตข้อความระบุว่า “ไม่ว่าเราจะต่างกันแค่ไหน ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่คนของพวกเราต้องยืนอยู่ด้วยกัน” โดยนายแอร์โดอานได้ทวีตตอบกลับว่า “ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี การที่เพื่อนบ้านทั้งสองแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ถือเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าหลายๆ อย่างในชีวิต”

ด้านนายฟาห์เรตติน อัลตุน ผู้ช่วยของแอร์โดอาน ได้ทวีตข้อความระบุว่า “เหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ทำให้เราหวนรำลึกได้อีกครั้งว่า เราใกล้ชิดกันเพียงใด แม้ว่านโยบายของทั้งสองประเทศจะแตกต่างกันก็ตาม”

 

ภาพของการต่อสายหากันระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศได้รับการชื่นชมจากสหรัฐอเมริกา โดยนายโรเบิร์ต โอบรีน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ กล่าวว่า “เป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นทั้งสองประเทศลงมาช่วยเหลือกันและกันในช่วงเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ และสหรัฐอเมริกาเองก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเช่นกัน”

ขณะที่สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับกรีซดูเหมือนจะมีความคืบหน้าไปในทางที่ดี ท่ามกลางภัยพิบัติร้ายแรง

แต่พอผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ตุรกีก็ออกมาประกาศจะเดินหน้าการส่งเรือเข้าไปในเขตน่านน้ำที่มีข้อพิพาทกับกรีซต่อ โดยอ้างว่า เพื่อเป้าหมายเรื่องการ “วิจัย” ด้วยการส่งเรือวิจัยที่ชื่อว่า “โอรุค รีส” เข้าไป

ซึ่งการส่งเรือเข้าไปในเขตน่านน้ำพิพาทกับกรีซโดยอ้างเรื่องการวิจัยนั้น เป็นสิ่งที่ตุรกีทำมานับสิบครั้งแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

และตุรกีประกาศจะเดินหน้าการวิจัยดังกล่าวต่อไป บนสิทธิขั้นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ

การกระทำดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับกรีซกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง

“แผ่นดินไหวการทูต” จึงเป็นเพียงปรากฏการณ์สั้นๆ ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลใดๆ ขึ้นมาแต่อย่างใด

คู่อริกัน ยังไงก็ยังคงเป็นคู่อริกันต่อไป