อนุช อาภาภิรม : สารพัดปัญหามนุษย์ก่อนโควิดมาเยือน

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (29)
ความอ่อนล้าของมนุษย์ก่อนโควิด-19

ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ได้ปรากฏความอ่อนล้าของมนุษย์อย่างทั่วด้าน

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะด้านประชากร ที่เป็นพื้นฐานของความอ่อนล้าและใกล้ชิดกับผลการระบาดของโควิด-19 ความอ่อนล้านี้เห็นชัดในประเทศพัฒนาแล้ว ที่เป็นศูนย์ความเจริญ อำนาจและความมั่งคั่งของโลก แกนนำของตะวันตก ได้แก่ อเมริกา-อังกฤษ ซึ่งสืบทอดการเป็นผู้นำตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลานานราว 150 ปี

ความอ่อนล้าของมนุษย์ด้านประชากร แสดงออกที่สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่

ก) อายุคาดหมายเฉลี่ยที่ลดลง หรือเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำ สะท้อนความเป็นอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย

ข) อัตราการเกิดลดลง ความอ่อนล้าด้านประชากร ส่งผลสำคัญต่อกำลังหรือพลเมืองแห่งชาติในทุกด้าน ในทางเศรษฐกิจทำให้การผลิตอ่อนกำลัง การบริโภคขยายตัวน้อย

ทางการเมืองเกิดความขัดแย้งทางแนวคิดก้าวหน้าและอนุรักษนิยม

ทางสังคมเกิดช่องว่างระหว่างรุ่น คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า

จะกล่าวถึงความอ่อนล้าทั้งสองด้านเป็นลำดับไป

 

1)อายุคาดหมายเฉลี่ยที่ลดลง จะเริ่มต้นจากการยกตัวอย่างที่อเมริกา-อังกฤษ อังกฤษเป็นมหาอำนาจมาก่อน เป็นเจ้าอาณานิคมทั่วโลก ในรอบ 170 ปีที่ผ่านมา จนถึงปี 2012 อายุคาดหมายเฉลี่ยของชาวอังกฤษเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

แต่นับแต่ปี 2013 สถิติได้บ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นนั้นได้ยุติลง

ในหลายพื้นที่จำนวนประชากรลดลง การที่อายุคาดหมายเฉลี่ยของคนอังกฤษที่ลดลงนี้เป็นสัญญาณว่า ในยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษจะกลายเป็นประเทศที่มีปัญหาประชากรรุนแรงที่สุดในยุโรปตะวันตก

นักวิชาการด้านประชากรและระบาดวิทยาของอังกฤษหลายคนเห็นว่า การเสื่อมถอยของอายุคาดหมายเฉลี่ยในอังกฤษนี้ น่าจะเป็นผลโดยตรงจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลที่เริ่มต้นในปี 2010

มาตรการรัดเข็มขัดดังกล่าวคือการลดเงินอุดหนุนสวัสดิการสุขภาพบริการส่งอาหารถึงบ้านแก่ผู้ยากไร้ บริการรถประจำทางในชนบท รวมถึงการใช้จ่ายพยาบาลเยี่ยมบ้านและบริการอื่นๆ ของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ

เหล่านี้ได้เพิ่มการเสียชีวิตของกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอังกฤษนี้ ได้ปรากฏในสหรัฐในรูปแบบเดียวกัน โดยในสหรัฐ-อังกฤษต่างมีอัตราภาษีและงบประมาณประกันสุขภาพต่ำ ระบบสุขภาพดำเนินการโดยบริษัทเอกชนเป็นหลัก

(ดูบทความของ Rpbin McLoe ชื่อ Why is life expectancy faltering? ใน theguardian.co 23/06/2019)

 

สําหรับกรณีของสหรัฐ มีรายงานเกี่ยวกับภาวะการลดลงของอายุคาดหมายเฉลี่ยว่า ระหว่างปี 1959 ถึง 2014 อายุคาดหมายเฉลี่ยของสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น แต่หลังจากนั้นได้เริ่มลดลงสามปีต่อเนื่อง

การลดลงของอายุคาดคาดหมายเฉลี่ย ไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ ชาติพันธุ์ เพศภาวะหรือเขตภูมิศาสตร์ หากแต่เกิดขึ้นในทุกกระดับอายุ โดยเฉพาะระหว่าง 25 ถึง 64 ปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากในสหรัฐ ซึ่งเกิดจากปัญหาทางสุขภาพจำนวนหนึ่ง ได้แก่ การติดยาระงับปวดโอปิออยด์ โรคอ้วน โรคตับแข็งเนื่องจากพิษสุรา และการฆ่าตัวตาย

ดังนั้น แม้ว่าสหรัฐจะมีการใช้จ่ายทางด้านสุขภาพต่อหัวสูงสุด แต่ชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตก่อนอายุ 65 ยิ่งกว่าประชาชนในประเทศใด

ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานของสหรัฐมีอัตราการตายสูงมาก ต่างกับประเทศร่ำรวยทั้งหลาย

การศึกษาอย่างต่อเนื่องของอายุคาดหมายเฉลี่ยในสหรัฐพบว่า ในทศวรรษ 1970 อายุคาดหมายเฉลี่ยในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญ แต่เมื่อถึงทศวรรษ 1990 อัตราการเพิ่มเริ่มเป็นเส้นระนาบ เมื่อถึงปี 2011 อายุคาดหมายเฉลี่ยของสหรัฐถึงขีดสูงสุด และสามปีหลังจากนั้นได้เริ่มลดลง ในปัจจุบันอายุคาดหมายเฉลี่ยของสหรัฐอยู่ในลำดับราว 45 ของโลก อยู่ระหว่างประเทศเลบานอน คิวบา และชิลี ซึ่งประเทศเหล่านี้มีจีดีพีต่อหัวต่ำกว่ามาก

มีการศึกษาประชากรทั่วโลกพบว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำจะตายเร็วกว่าผู้มีรายได้สูง ผู้มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำจะมีอายุคาดหมายเฉลี่ยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้เขียนหลักของงานวิจัยนี้กล่าวว่า “คนจนในประเทศอื่นมีอายุยืนกว่าคนจนในสหรัฐของเรา”

เนื่องจากช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนไม่ได้จำกัดในด้านสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมเท่านั้น หากยังหมายถึงความไม่เท่าเทียมกันทางด้านสุขภาพด้วย

(ดูบทรายงานของ Aylin Woodward ชื่อ Life expectancy in the US keeps going down, and a new study says American”s worsening inequality could be to blame ใน businessinsider.com 30/11/2019)

 

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอายุคาดหมายเฉลี่ยในบรรดาประเทศที่รายได้สูง 18 ประเทศของโลก มีสเปน สวีเดน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐ เป็นต้น พบว่าระหว่างปี 2014 ถึง 2015 เกือบทั้งหมด (14) ของประเทศเหล่านี้ มีอายุคาดหมายเฉลี่ยลดลง มีเพียงสี่ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เดนมาร์ก และนอร์เวย์เท่านั้นที่อายุคาดหมายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทั้งชายและหญิง

กลุ่มประชากรที่เผชิญภาวะคาดหมายเฉลี่ยลดลง (นอกจากสหรัฐ) ล้วนเกิดขึ้นในหมู่ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป สาเหตุการตายอาจเนื่องจากความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ประจำปี สะท้อนถึงแนวโน้มปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศที่ร่ำรวยแล้วที่ไม่สามารถรับมือกับการระบาดนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล

รายงานยังได้ชี้ว่าโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจขาดเลือด โรคสมองเสื่อม และความผิดปรกติของระบบประสาท เป็นสาเหตุใหญ่ในการทำให้อายุคาดหมายเฉลี่ยของผู้ที่อายุเกิน 65 ลดลง

(ดูบทรายงานของ Rory Smith ชื่อ Life expectancy drops in the US and the UK, rises in Australia, a new study finds ใน cnn.com 17/08/2018)

 

2) การลดลงของจำนวนประชากร ญี่ปุ่นเป็นประเทศประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านทำให้ประชากรของตนอยู่ยืนยาว ทั้งนี้ เนื่องด้วยความสำเร็จสามด้านใหญ่ๆ คือ

ก) สามารถลดอัตราการตายของเด็กทารกลงได้มาก

ข) ลดอัตราการตายของโรคที่เป็นสาเหตุการตายสำคัญ ได้แก่ มะเร็งและโรคหัวใจขาดเลือด

ค) ด้านโภชนาการ ชาวญี่ปุ่นกินอาหารที่ค่อนข้างสมดุล บริโภคเนื้อสัตว์ไม่มากเท่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แต่บริโภคปลาและผักมาก

อย่างไรก็ตาม การที่ประชากรของประเทศญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวขึ้น คล้ายเป็นพร แต่ในอีกด้านหนึ่งก่อปัญหาร้ายแรงต่อความอยู่รอดในระยะยาว เมื่ออัตราการเกิดได้ลดลง เบื้องต้นทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศคนแก่ (ปี 2014 ประชากรอายุเกิน 60 ปี มีถึงร้อยละ 33 ของจำนวนประชากรทั้งหมด)

ในประการต่อมาคือจำนวนประชากรจะลดลงอย่างรวดเร็ว ในปี 2018 ญี่ปุ่น มีประชากรราว 127 ล้านคน ในปี 2049 คาดว่าจำนวนประชากรจะต่ำกว่า 100 ล้านคน

ภาวะที่ประชากรญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจของสมาคมวางแผนครอบครัวญี่ปุ่นในปลายปี 2016 พบว่า ที่สำคัญเกิดจากอัตราการแต่งงานแบบไม่มีเพศสัมพันธ์ในญี่ปุ่นสูงมากเกือบครึ่งหนึ่งของคู่สมรสทั้งหมด (คือร้อยละ 47.2) ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดจากการสำรวจในปี 2004

การแต่งงานแบบไม่มีเพศสัมพันธ์นี้ ทางสมาคมให้ คำจำกัดความว่าหมายถึงคู่สมรสที่ไม่มีกิจกรรมทางเพศเป็นเวลานานหนึ่งเดือนหรือกว่านั้น

และสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลงในระยะหนึ่ง

คู่สมรสฝ่ายชายให้เหตุผลของการไม่มีกิจกรรมทางเพศสูงเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 35.2) ว่าเกิดจากการอ่อนล้าจากการทำงาน

อันดับที่สอง (ร้อยละ 12.5) ว่าเนื่องจากเห็นภรรยาเป็นเหมือนญาติ เป็นสมาชิกครอบครัวชิดใกล้ที่สุด ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่กว่าร้อยละ 30 ของฝ่ายชายตอบว่า เขาอ่อนล้าจากการทำงานจนไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์

สำหรับฝ่ายหญิงตอบว่า เหตุที่ไม่มีกิจกรรมทางเพศ เป็นเพราะว่า “ทำงานมากเกินไป” (ร้อยละ 22.3)

เหตุผลข้อที่สองที่ตามมาไล่ๆ กันได้แก่ เห็นว่ามีลูกคนเดียวก็พอแล้ว (ร้อยละ 20.1)

ดังนั้น ทั้งชายและหญิงมีเหตุหลักตรงกัน ว่าทำงานมากเกินไปจนอ่อนล้า

(ดูบทรายงานชื่อ Almost half of Japanese in sexless marriages : survey ใน mainichi.jp 11/02/2017)

 

ภาวะที่จำนวนประชากรลดลงนี้เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว ช่วงหนึ่งเพ่งเล็งไปในประเด็นว่าภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีลดลง เช่น กล่าวว่าสตรีตะวันตกมีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำเกินไป (สตรีคนหนึ่งควรจะได้มีลูก 2.1 คน เพื่อที่จะรักษาจำนวนประชากรเดิมไว้)

มีการศึกษาพบว่าสตรีในประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มประเทศโออีซีดี 28 ประเทศ มีอัตราเจริญพันธุ์ทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9 ในปี 1960 ลดลงเหลือ 2.04 ในปี 1975 และเหลือเพียง 1.6 ในตอนปลายทศวรรษ 1990

แต่การศึกษาที่กว้างขวางครอบคลุมขึ้นได้ชี้ว่า ภาวะการมีบุตรยากหรือการเจริญพันธุ์ต่ำ (Infertility) ฝ่ายชายก็มีส่วนรับผิดชอบด้วย และในบางด้านมีความรุนแรงมากกว่าจากฝ่ายสตรีด้วยซ้ำ

นั่นคือการศึกษานับสเปิร์มของเพศชายของประเทศตะวันตกในเอเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ตั้งแต่ปี 1975 พบว่า มีการลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2017 ได้มีคณะนักวิชาการได้ร่วมกันประเมินผลการวิจัยเกี่ยวกับการนับสเปิร์มเกือบ 200 ชิ้น ระหว่างปี 1973 ถึง 2011 ซึ่งพบว่าได้ลดลงถึงราวครึ่งหนึ่งในช่วงเวลาไม่ถึง 40 ปี โดยมีการลดลงของการกระจุกตัวของสเปิร์มร้อยละ 52.4 และการลดลงของจำนวนสเปิร์มร้อยละ 59.3

หัวหน้าคณะนักวิจัยได้แสดงทัศนะว่า “ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเคมีภัณฑ์ที่เราสัมผัสเป็นประจำวัน ก็จะเป็นที่น่าวิตกมากสำหรับอนาคต… ในที่สุดแล้ว เราก็จะมีปัญหาการสืบพันธุ์โดยทั่วไป และมันอาจจะเป็นการสูญพันธุ์ของเชื้อสายมนุษย์”

(ดูบทรายงานข่าวของ Pallab Ghosh ชื่อ Sperm count drop “could make humans extinct” ใน bbc.com 23/07/2017)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการอ่อนล้าของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นจากการทำสงครามยืดเยื้อกับโควิด-19 และการยับยั้งสงคราม