แมลงวันในไร่ส้ม /มรสุม ‘ม็อบ’ กระหน่ำ เวทีดีเบตเสียท่า ‘น้องๆ’ รัฐนาวายื้อ-ซื้อเวลา

แมลงวันในไร่ส้ม

มรสุม ‘ม็อบ’ กระหน่ำ

เวทีดีเบตเสียท่า ‘น้องๆ’

รัฐนาวายื้อ-ซื้อเวลา

 

การเมืองประเทศไทย ไฮไลต์ยังอยู่ที่การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ในชื่อ “คณะราษฎร”

แม้แกนนำจะโดนตำรวจตามอายัดตัว ดังที่สื่อฉบับหนึ่งพาดหัวว่า “จองเวร” หลังจากศาลปล่อยหรือยกคำร้องฝากขัง จนเกิดกรณีที่ สน.ประชาชื่น เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดรายการทัวร์ลงการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหนัก

แต่การชุมนุมแบบ “ออร์แกนิก” ก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เข้าร่วมหนาแน่นในทุกจุด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังแกนนำหลายคนด้วยกัน รวมถึงนายอานนท์ นำภา, เพนกวิน หรือนายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง และรุ้ง หรือปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

การชุมนุมของคณะราษฎรทำให้เกิดประเด็นโต้แย้งในทางข้อกฎหมายและสิทธิของประชาชน รวมถึงประเด็นการทำงานของรัฐบาล

รายการประเภททอล์กโชว์ที่เชิญผู้มีความเห็นต่างมานั่งถกเถียงได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะรายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ ทางไทยรัฐทีวี ที่มีจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมากได้แก่ รายการที่เชิญ “น้องมายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักศึกษาวิศวะ มหาวิทยาลัยมหานคร มาออกรายการร่วมกับปารีณา ไกรคุปต์

รายการที่เชิญนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กับนายนันทพงศ์ ปานมาศ แกนนำกลุ่มรามคำแหง ที่ถึงพริกถึงขิง ด้วยคำถามสำคัญว่า นายไพบูลย์เป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับเท่าไหร่ของพรรคพลังประชารัฐ

รวมไปถึงรายการที่เชิญนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ มาดีเบตกับฟอร์ด นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี แกนนำม็อบอีกคน ที่มีการตอบโต้หลายประเด็น รวมถึงการที่นายสิระระบุว่าม็อบมีอีแอบสั่งการ เพราะแกนนำต้องเปิดมือถืออ่านคำสั่งตลอดเวลา แม้แต่ตอนปราศรัยบนเวที

และโดนฟอร์ดโต้ว่า จะมีอีแอบที่ไหนมาสั่งการผู้ชุมนุมขนาดนี้ได้ การที่เปิดมือถือก็เพื่อดูประเด็นที่ทำการบ้านกันมาอย่างรอบคอบ

นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรตติ้งรายการของคุณจอมขวัญกระฉูดจริงๆ

เพราะทุกคู่ที่คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ จัดดีเบตระหว่าง ส.ส.รัฐบาลกับเด็กๆ ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในม็อบ เช่น คุณปารีณา ไกรคุปต์ กับน้องมายด์ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล คุณไพบูลย์ นิติตะวัน กับนายนันทพงศ์ ปานมาศ น.ส.กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา กับ น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นายสิระ เจนจาคะ กับฟอร์ด ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ทำให้เห็นความต่างระหว่างคนยุคอะนาล็อกกับดิจิตอล

นพ.เรวัติระบุว่า ประชาชนที่รับชมคงตัดสินได้ไม่ยากว่าเด็กกับ ส.ส.รัฐบาล ใครมีปฏิภาณ ไหวพริบ และข้อมูลที่ล้ำลึกและแหลมคมกว่ากัน

และที่สำคัญยิ่งกว่าคือความนิ่ง และความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจระหว่างการโต้แย้งกัน

เพียงคำถามเดียวว่า หลังจากที่คุณไพบูลย์ยุบพรรคตัวเองแล้วไปเป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับที่เท่าไหร่ของพลังประชารัฐก็กระอักแล้วครับ

 

การรับมือของภาครัฐยังดำเนินไปแบบเดิมๆ

ข้อเสนอ 3 ข้อของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังอยู่ในสภาพแบ่งรับแบ่งสู้

ในเรื่องการชุมนุม ใช้กลยุทธ์จับๆ ปล่อยๆ แกนนำ โดยบทบาทหลักเป็นของตำรวจ ซึ่งต้องถือว่ารอบนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เกิดสภาพ “ทัวร์ลง” อยู่บ่อยๆ

และยังกลายเป็นการเรียกแขกทางอ้อมให้กับการชุมนุม

ความพยายามตั้งคณะกรรมการปรองดองหรือสมานฉันท์ อันเป็นข้อเสนอจากการประชุมรัฐสภาวิสามัญ เมื่อ 26-27 ตุลาคม ก็ไม่ได้รับการขานรับมากนัก

เพราะเคยตั้งมาหลายชุด หลังเหตุการณ์สลายม็อบที่มีผู้เสียชีวิต 99 ศพเมื่อปี 2553 แต่ข้อเสนอคณะกรรมการไม่ได้รับการสนองตอบ ไม่มีการปฏิบัติที่เป็นจริง

ทำให้ถูกมองว่าเป็นเกมซื้อเวลาของรัฐบาลอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวในรัฐสภาสมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ว่า จะผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดือนธันวาคมนี้

เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตาว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ในเรื่องนี้ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ว่า จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน หรือไอลอว์ บรรจุในระเบียบวาระ ประมาณวันที่ 17 พฤศจิกายน หรือ 18 พฤศจิกายน พร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอีก 6 ฉบับ

โดยรัฐสภาจะพิจารณาพร้อมกันทั้ง 3 ร่างที่มีเนื้อหาคล้ายกันคือร่างของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และไอลอว์ ที่ให้แก้ไขมาตรา 256 และให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก

ส่วนท่าทีของ ส.ว.สัญญาณเริ่มดีขึ้นจากการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 กันยายน ดังนั้น จึงอยู่ที่การลงมติว่าจะออกมาอย่างไร ทั้งนี้ ยืนยันว่าวันนี้เราไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เป็นไปตามระบบขั้นตอนที่เราได้กำหนดไว้

สำหรับรูปแบบ ส.ส.ร.ในรายงานของ กมธ.ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ ซึ่งฝ่ายค้านและไอลอว์ ให้มาจากเลือกตั้ง 100% ส่วนร่างรัฐบาลมีทั้งเลือกตั้งและมาจากสัดส่วนอื่น นายวิรัชระบุว่า พูดคุยกันมากว่าควรเอาร่างของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งไม่สอดคล้องกับร่างของฝ่ายค้านและไอลอว์

ซึ่งถ้าจะแก้ไขก็ไปทำในวาระที่ 2 ได้ ถ้าจำนวนและที่มาของ ส.ส.ร.ไม่ตรงกันก็แก้ไขในวาระ 2 ได้ ซึ่งอาจจะเห็นด้วยกับรัฐบาลหรือผสมผสานกันก็ได้

 

ทั้งหมดนี้ ทำให้การเมืองปลายปี 2563 มีคลื่นลมและความเข้มข้นอย่างมาก

นอกจากเรื่องการชุมนุม การแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ยังจะมีการเลือกตั้ง อบจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 20 ธันวาคม

ซึ่งจะเป็นการ “รีสตาร์ตการเมืองท้องถิ่น” ที่ถูกปิดตายมาหลายปี แน่นอนว่าการแข่งขันย่อมดุเดือดร้อนแรง ระหว่างกลุ่มการเมืองและพรรคต่างๆ เพื่อช่วงชิงเก้าอี้นายก อบจ. 76 ตำแหน่ง และ ส.อบจ.อีกจำนวนมาก

พล.อ.ประยุทธ์และรัฐนาวาเรือแป๊ะ จะฝ่าผ่านไปได้อย่างไร คือข่าวสารร้อนๆ ที่จะปรากฏผ่านสื่อต่างๆ