ไทยเตรียมทวงคืนเจ้าส่งออกข้าว | เคาะ 9 มาตรการบริหารน้ำ | ชงแผนฟื้นฟู ขสมก.เข้า ครม.

แฟ้มข่าว

ศอ.บต.แก้ปัญหาตกงาน

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ศอ.บต.จะร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ขับเคลื่อนผู้ประกอบการภาคเกษตร โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างงานในพื้นที่ เพราะปัจจุบันแรงงานในพื้นที่ส่วนใหญ่ตกงาน เด็กจบใหม่หลักหมื่นคนเลือกไปทำงานประเทศมาเลเซีย โดยปี 2564 พบว่า 63 สถาบันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีคนจบใหม่กว่า 36,000 คน จำนวนนี้ ศอ.บต.ตั้งเป้าหมายสร้างงานในพื้นที่กว่า 50% หรือกว่า 18,000 คน ปัจจุบันพื้นที่ชายแดนใต้มีเด็กจบใหม่เฉลี่ย 30,000-40,000 คนต่อปี มีงานทำเป็นหลักแหล่งไม่เกิน 20-30% เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมา 4-5 ปีแล้ว โดย 2 หน่วยงานร่วมตั้งศูนย์ประสานงานฝึกอบรมเพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ย้ายจุดสร้าง “หอชมเมือง”

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ กับกองทัพบก ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการสร้างสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ซึ่งเป็นสวนป่าที่มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ มีแหล่งพันธุ์ไม้หายาก เป็นสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกาย แหล่งเรียนรู้ พื้นที่ 259 ไร่ งบประมาณ 652 ล้านบาท ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด เปิดบริการทางการเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต่เปิดระยะแรกมิถุนายนปี 2564 เพื่อจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการ โครงการสวนป่าเบญจกิติ เดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อพิจารณาแผนการก่อสร้างโครงการหอชมเมือง กลางบึงน้ำภายในสวน เพื่อเปิดสถานที่ท่องเที่ยวในกลางกรุงเทพฯ แห่งใหม่ โดยมีการเก็บค่าใช้บริการหอชมเมือง ทั้งนี้ เดิมโครงการหอชมเมือง กรมธนารักษ์ได้ทำสัญญาให้บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่รายหนึ่ง เมื่อปี 2560 เพื่อพัฒนาโครงการหอชมเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่บริษัทแจ้งชะลอโครงการ เนื่องจากเกรงว่าหากเดินหน้าก่อสร้างในสถานการณ์โควิด-19 อาจไม่คุ้มค่าการลงทุน

เคาะ 9 มาตรการบริหารน้ำ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีมติเห็นชอบแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/2564 หรือตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563-30 เมษายน 2564 ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ เพื่ออุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ เพื่อการเกษตรกรรม และเพื่อการอุตสาหกรรม โดยจากการประเมินปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 พบว่า มีปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ 41,879 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถนำมาจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2563/2564 ทั้งประเทศ รวม 22,847 ล้าน ลบ.ม. ที่เหลือเป็นปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2564 และที่ประชุมได้เห็นชอบ 9 มาตรการหลักรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง เน้นจัดการน้ำให้สมดุลระหว่างน้ำต้นทุน และความต้องการใช้น้ำ

เร่งสรุปโรงไฟฟ้าชุมชน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยแผนพลังงานระยะ 20 ปี ว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอให้รวบ 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) แผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี) แผนน้ำมัน และแผนก๊าซ เป็นแผนบูรณาการ 1 แผนเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แบ่งดำเนินการทุก 5 ปี คาดใช้เวลา 6-8 เดือนดำเนินการทำแผนระยะสั้น คือ 2563-2565 เป็นแผนตัวอย่างก่อน ส่วนความคืบหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนอยู่ในขั้นตอนที่ใช้ความระมัดระวังเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรผู้ปลูก คาดเดือนตุลาคมนี้ได้กรอบของโรงไฟฟ้าชุมชน ขนาดกำลังการผลิต 100-150 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นำแผนโรงไฟฟ้าชุมชนจะเข้า กพช.เดือนพฤศจิกายนนี้

ไทยทวงคืนเจ้าส่งออกข้าว

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออกข้าวไทย ว่า ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงตุลาคมนี้คำสั่งซื้อข้าวนึ่งสูงขึ้น และดันให้ตัวเลขส่งออกรวมข้าวไทย 10 เดือนถึง 4.8-4.9 ล้านตัน หาก 2 เดือนที่เหลือข้าวทุกชนิดส่งได้ 6 แสนตันต่อเดือน จะทำให้ส่งออกทั้งปี 2563 ได้ 6 ล้านตัน ตามคาดไว้ แต่ยังผู้ส่งออกอันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย 12.5 ล้านตัน รองลงมาคือเวียดนาม 7 ล้านตัน สำหรับปี 2564 คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ 7 ล้านตัน จากปัจจัยหลักผลผลิตข้าวนาปี 2563/2564 และนาปรัง 2564 เพิ่มกว่าปีนี้ ส่งผลต่อราคาข้าวภายในราคาต่ำลง แข่งขันได้มากขึ้น

ชงแผนฟื้นฟู ขสมก.เข้า ครม.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้หารือถึงแผนการฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แล้ว โดยต้องการให้กระทรวงการคลังช่วยรับภาระหนี้ที่มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท โดยการลดภาระการผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งกระทรวงการคลังได้ข้อยุติ 7 ประเด็นที่กระทรวงการคลังเคยตั้งข้อสังเกต คาดว่าแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงใหม่จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ หนี้สิน ขสมก.มีราว 127,786 ล้านบาท ตามแผน ขสมก.การันตีว่า ระหว่างปี 2563-2571 จะขอรับเงินชดเชยจากรัฐอีกไม่เกิน 9,674 ล้านบาท และผลประกอบการจะกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2572

รฟม.ลุยประมูลสายสีส้ม

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) คืบหน้า 69.82% กำหนดเปิดให้บริการปี 2567 ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งทุเลา ไม่ได้มีคำสั่งให้ชะลอการประกวดราคา ดังนั้น รฟม.จะเดินหน้าเปิดรับข้อเสนอในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ และ รฟท.เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด

ส่วนจะมีการเลื่อนวันยื่นซองหรือยกเลิกประกวดราคาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 36