มุกดา สุวรรณชาติ : รัฐบาลจะต่อลมหายใจ… ต้องให้รัฐสภาช่วย

มุกดา สุวรรณชาติ

สรุปสถานการณ์ปัจจุบัน

และประเมินอนาคต

ได้ดังนี้

 

1การชุมนุมประท้วงของราษฎร
จัดตรงไหนก็มีคนร่วม
ยิ่งจับ ยิ่งมุ่งมั่น ไม่กลัวฝน คนยิ่งเพิ่ม

เพราะคนไม่กลัวประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรง พวกเขามีความเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง ที่ผ่านมาร้ายแรงมากกว่าและจำเป็นจะต้องแก้ไขให้ได้แล้ว มิฉะนั้น อนาคตของคนทั้งประเทศพังแน่นอน

จากการชุมนุมใหญ่วันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งถูกสลายการชุมนุมตอนเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม

แต่มาชุมนุมต่อตอนเย็น 15 ตุลาคม ที่ราชประสงค์คนกลับมากขึ้น

วันนั้นมีการลังเลเล็กน้อยว่าจะค้างคืนหรือไม่ แต่บทเรียนจากหน้าทำเนียบทำให้เปลี่ยนเป็นเกมเร็ว

การชุมนุมค่ำวันนั้นกลบข่าวการสลายชุมนุมที่หน้าทำเนียบจนหมดสิ้น กลายเป็นว่าประกาศอะไรที่ว่าร้ายแรงไม่มีความหมาย ไม่มีใครสนใจ

การมาชุมนุมต่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่สี่แยกปทุมวัน ก็เป็นโอกาสแก้มือของรัฐบาล เพราะคิดว่าถ้าขืนปล่อยให้เกิดขึ้นอีก ม็อบจะได้ใจ จึงมีทั้งแผนสกัด และแผนสลาย

แต่แผนสกัดโดนแกง เพราะเยาวชนย้ายที่ รัฐบาลจึงตัดการคมนาคมสาธารณะ หวังให้คนน้อยแล้วเข้าสลายเร็ว

การปฏิบัติการวันนั้นหวังโชว์ผลงานและล้างอายที่ถูกหลอก ซึ่งที่จริงฝนตกแบบนั้นม็อบอยู่ไม่นานก็เลิกเอง

การสลายม็อบด้วยกำลังตำรวจและรถฉีดน้ำเคมี ฝ่ายรัฐดีใจได้ไม่กี่ชั่วโมง เพราะภาพข่าวที่รถฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดน้ำเคมีสีฟ้าเข้าใส่เด็กนักเรียนและผู้หญิง ที่มีเพียงแค่ร่มคันจิ๋วเป็นที่กำบัง ต้านได้พักเดียวก็แตกพ่ายไป

แต่พอภาพไปปรากฏทั่วโลก เสียงด่าสาปแช่งก็ตามมา พร้อมกับการไปขุดประวัติผู้เกี่ยวข้องมาด่าตามสื่อต่างๆ ทั่วโลก

งานนี้จึงเหมือนปลาติดเบ็ด แทนที่จะได้กลับเสียหายหนัก

วันที่ 17 ตุลาคม ถือเป็นวันปรับยุทธวิธีครั้งสำคัญ เป็นการชุมนุมที่กระจายออกเป็นหลายจุด มีคนร่วมชุมนุมจำนวนมากทุกจุดเพราะผู้คนไม่ต้องมาไกล แม้รัฐบาลจะตัดรถไฟฟ้า รถเมล์ แต่ราษฎรยอมเดินเท้าและฝ่าฝนอย่างมุ่งมั่น บางคนเดินหลายกิโลเมตรเพื่อไปร่วม แต่ละจุดมีคนเป็นหมื่น การโดนประณามจากการปราบวันที่ 16 ตุลาคม ทำให้ฝ่ายรัฐไม่กล้าทำอะไร พอมาเจอการแบ่งเซลล์ของม็อบยิ่งงง

วันที่ 18-19 ตุลาคม เห็นชัดว่ารูปแบบการประท้วงได้ขยายตัวเป็นแบบอิสระกระจายได้หลายจุด ไม่จำเป็นต้องมีแกนนำแต่มีความคิดเดียวกันสามารถรวมตัวหรือสลายตัวได้แบบรวดเร็ว และกระจายแล้วคนร่วมชุมนุมก็ไม่น้อย

โดยเฉพาะวันที่ 18 ตุลาคม ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีคนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก

แม้การชุมนุมจะใช้เวลาระยะสั้นแต่ก่อให้เกิดผลทางการเมืองอย่างมากมาย ผู้คนกล้าเข้าร่วมมากขึ้น และยิ่งนานวันเข้าคนที่เดือดร้อนจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำติดต่อกันมาหลายปีก็ยิ่งเข้าร่วม เป้าหมายที่เขามองเห็นและต้องการให้รับผิดชอบก็คือกลุ่มที่ทำการรัฐประหารและพยายามสืบทอดอำนาจ

ซึ่งในสายตาประชาชนมองว่าบริหารบ้านเมืองไม่เป็น มีปัญหาเรื่องความสุจริต มีการจำกัดเสรีภาพของประชาชนและพยายามปกครองต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด พวกเขาโกรธมากขึ้น และไม่กลัว

รัฐบาลยิ่งจับ คนยิ่งออกมาชุมนุม ยิ่งนานยิ่งทำมาหากินลำบาก คนยิ่งออกมาไล่รัฐบาล

 

2ฝ่ายรัฐบาลยังไม่ปรับตัว
ให้เข้ากับระบบปกครอง
ยิ่งไปผิดทาง

ปัจจุบัน แม้ฝ่ายรัฐบาลได้สวมสูทประชาธิปไตยไม่ใช่เครื่องแบบทหารและเป็นคณะรัฐประหาร คสช.อีกแล้ว แต่ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเป็นแบบเดิม คือไล่จับกุมคุมขังคนเห็นต่าง ใช้การฟ้องร้องคดีหรือจับไปปรับทัศนคติ ใช้ศาลและกฎหมายเป็นเครื่องมือ ใช้ตำรวจเป็นกองหน้า มีทั้งบุกถึงบ้านถือเป็นการคุกคาม ทิ่เพิ่มขึ้นคือมีเครื่องมือมาตรวจสอบว่ามีคนด่ารัฐบาลวันละกี่ล้านข้อความ ทวิตเตอร์เท่าไร เฟซบุ๊กเท่าไร และมีคนมาปฏิบัติการ IO เพื่อทำสงครามจิตวิทยา

แต่ยังไงก็สู้เยาวชนปากจัดจำนวนแสนๆ คนไม่ได้

ถ้าย้อนดูในอดีตจะพบว่าการกระทำของรัฐบาลแบบนี้มีมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 และทำท่าว่าจะลดลงก่อนเลือกตั้งปี 2562 หลังจากนั้นก็ไปเล่นกันหนักในสภา มีการยุบพรรคตัดสิทธิ์ ส.ส.ฝ่ายตรงข้ามและและซื้อลิงซื้องูเห่ามาเสริมกำลังในสภา

แต่เมื่อมีการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษามากขึ้นในปี 2563 เกมการต่อสู้ก็ย้ายมาอยู่นอกสภา ยุทธวิธีในการจับผู้เห็นต่างจึงถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

แต่ครั้งนี้คนที่เคลื่อนไหวส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา ยิ่งทำไปภาพพจน์รัฐยิ่งเสียหาย

แต่หลังวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ดูเหมือนสถานการณ์บีบคั้นจนกระทั่งคิดจะจับทุกคนคงมีคนให้คำแนะนำว่า ถ้าจับแกนนำสักร้อยคนแล้วการประท้วงจะหมดไป

การกระทำที่เหิมเกริมที่สุด คือบุกเข้าไปที่ทำการคณะก้าวหน้า ซึ่งในคืนนั้นก็ทำการสลายการชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำ และยังทำการไล่จับกุมแกนนำต่างๆ ต่อไป แสดงว่ามั่นใจในยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของตนเองว่าจะเอาชนะการต่อต้านของประชาชนได้

แต่ผลที่ออกมาตรงกันข้าม คือคนมาชุมนุมต่อต้านมากขึ้น

 

3การดึงองค์กรและสถาบันอื่น
มาร่วมค้ำอำนาจ
ทำให้เสื่อมทั้งระบบ

ดันตำรวจออกหน้า…รถไฟฟ้าตามหลัง

เรื่องนี้ทำมานานและทำให้เกิดการเสียหายไปด้วยกัน

ตลอด 14 ปี กระบวนการยุติธรรมก็ถูกดึงให้เข้ามาร่วมชิงและช่วยสืบทอดอำนาจ

องค์กรอิสระเกือบทุกองค์กรก็ถูกดึงเข้ามาเช่นกัน กกต.และ ป.ป.ช.ต้องถูกผลักดันให้ออกโรงช่วยเหลือเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งผิด อีกฝ่ายหนึ่งถูก นักกฎหมายก็ถูกดึงเข้ามา เราจึงได้ความยุติธรรมที่ไร้มาตรฐาน ที่ทุกคนบอกว่าเอียง ได้รัฐธรรมนูญที่แย่ที่สุด ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีใครยอมรับ แม้แต่กฎหมายเลือกตั้งกำหนดวิธีการเลือกตั้ง ที่ประหลาดที่สุดในโลก

ตลอดหลายปี ผู้มีความรู้ มีตำแหน่งกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน พากันเงียบๆ แบบที่ชาวบ้านเรียกว่าเหมือน…อมสากเอาไว้… ไม่มีใครกล้าพูดกล้าต่อต้าน ที่มีบ้างเล็กน้อยก็เห็นจะเป็นพวกเด็กๆ แต่ก็จะถูกจับไปดำเนินคดีต่างๆ อยากเลือกตั้งก็ถูกจับ ต่อต้านรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ถูกจับ นั่งรถไฟไปต่อต้านการโกงก็ถูกจับ ฯลฯ

การปล่อยให้ประเทศนี้ปกครองด้วยกลุ่มคนที่ไร้ความสามารถ แสวงหาประโยชน์ ไม่มีความเชื่อถือในระบอบประชาธิปไตย ทำทุกอย่างเพื่ออยู่ในอำนาจ เป็นหายนะของประเทศ ที่ลุกลามติดต่อกันมานานหลายปีแล้ว

ถึงวันนี้เมื่อความขัดแย้งขยาย จะเห็นว่า องค์กรตำรวจกลายเป็นหนังหน้าไฟ ตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งควรจะประจำอยู่ชายแดนกลับถูกเรียกมาปราบนักเรียนตัวเล็กๆ ในกรุงเทพฯ ตำรวจทุกโรงพักต่างจังหวัด ต้องคอยวิ่งไปตามบ้านผู้เห็นต่างจากรัฐบาล เพื่อปรามไม่ให้มาเคลื่อนไหว ปกติความขัดแย้งและพึ่งพาระหว่างตำรวจกับประชาชนก็มีอยู่แล้ว ยิ่งทำแบบนี้องค์กรตำรวจแย่เลย

ยังมีการดึงเอาองค์กรรถไฟฟ้าใต้ดินเหนือดินที่เป็นบริการสาธารณะมาเป็นเครื่องมือเพื่อขัดขวางการชุมนุม ถือเป็นการกระทำที่น่าเกลียดมาก

การชุมนุมครั้งหลังๆ รัฐบาลมีข้อมูลอยู่แล้วว่าคนที่มาชุมนุมเดินทางด้วยรถไฟฟ้าและรถสาธารณะมากเท่าใด ก็เลยใช้วิธีปิดสถานีหรือหยุดการเดินรถทั้งสาย สร้างความเดือดร้อนและความโกรธแค้นให้กับประชาชนทั้งหมด

เพราะทั้งผู้มาชุมนุมและผู้ที่ไม่มาชุมนุม จำเป็นต้องเดินทาง ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สามารถสกัดการมาร่วมชุมนุมของประชาชนได้ ตอนนี้ประชาชนจึงไม่พอใจการบริหารงานขององค์กรเหล่านั้น พวกเขาโกรธมากและเรื่องนี้จะมีผลในการหาเสียงเลือกตั้ง

แน่นอนว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือผู้ว่าฯ กทม. ก็จะมีผลต่อองค์กรต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาสัมปทาน ความสามารถในการบริหาร หรือแม้แต่การซื้อขายหุ้น

 

4ยังมีโอกาสแก้ปัญหาผ่านระบบรัฐสภา

ถ้าทั้ง ส.ว. และ ส.ส.ร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เพื่อลดอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. วุฒิสภาจะยังคงอยู่ต่อได้ เพราะความต้องการมี หรือ ไม่มี ส.ว.ในอนาคตก็ต้องขึ้นอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐบาลจะอยู่นานเท่าไร? ขณะนี้ชี้ขาดที่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย คือจะลาออกหรือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็ได้

อีกตัวแปรหนึ่ง คือพรรคร่วมรัฐบาลที่มีขนาดใหญ่ ถ้าถอนตัวออกก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

แต่เรื่องนี้ไม่ง่ายเพราะพรรคร่วมทุกพรรคก็อยากอยู่ใช้งบประมาณหมื่นล้าน แสนล้าน ลองคิดดูขนาดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ยังมีโครงการสร้างงานและพัฒนา (1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล) มีงบประมาณเกินหมื่นล้าน นี่เป็นแผนได้ทั้งเงินทั้งหัวคะแนน เรียกว่าแบ่งๆ กันไป

ตอนนี้ก็เลยไม่แปลกใจที่ ปชป.ลังเลไม่กล้าโดดออกจากเรือ อาจเพราะยังไม่มีเสบียงเมื่อขึ้นฝั่ง แต่ถ้าไม่โดดก่อนเรือล่ม การชิงคะแนน 5 ล้านเสียงคืนจาก พปชร. ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ปมสำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองคือ ส.ว.แต่งตั้ง ที่ประชาชนเรียกร้องให้ทิ้งอำนาจเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่แก้ไขได้ ถ้าไม่แก้ข้อนี้ การประท้วงก็จะไม่ลดลง

ระบอบประชาธิปไตยได้มีวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งไว้แล้ว เพียงแต่จะยอมแก้กันหรือไม่ เพราะถ้าปล่อยให้ปัญหาขยายต่อไป การแก้ปัญหาก็จะอยู่นอกระบอบประชาธิปไตย มันจะกลายเป็นการปฏิวัติหรือรัฐประหาร แล้วลุกลามไปอย่างไรก็ไม่รู้

เฉพาะหน้าคือต้องไม่ให้ทหารไปคุมสภา และต้องยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินที่ร้ายแรง เพราะทั่วโลกจะมองว่านี่เป็นการรัฐประหารแบบไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ (ที่ร่างเอง) สภาต้องแสดงบทบาทสมเป็นตัวแทนราษฎร

 

5ข้อเสนอให้ปฏิรูปในหลายๆ ด้าน
ยังมีเวลาร่วมกันแก้ไข

ไม่ว่าจะเป็นระบบยุติธรรม สถาบันพระมหากษัตริย์ องค์กรตำรวจ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รัฐสวัสดิการ ฯลฯ ล้วนแต่มีรายละเอียดที่คนมีความเห็นแตกต่าง ซึ่งจะต้องผ่านการถกเถียง ในการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีตัวแทนสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งยังเป็นเรื่องไกลออกไป กว่าจะยุติและสรุปความเห็นได้ ออกมาเป็นกฎหมาย คงต้องใช้เวลาพอควร

การปฏิรูปสื่อ ที่เคยมีการกล่าวถึงนานแล้ว บัดนี้ไม่ค่อยมีคนพูดถึง นั่นคงเป็นเพราะคนทั่วไปไม่ให้ความเชื่อถือสื่อมากเหมือนเมื่อก่อน เพราะคิดว่าสื่อไม่เสนอความจริง และยังมีการแทรกแซงจากอำนาจต่างๆ ถ้าโกหกไม่ได้ ก็ห้ามเสนอข่าวทั้งๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่

ล่าสุดมีความพยายามที่จะบล๊อกช่องทางการสื่อสาร แม้การพยายามไม่ให้ถ่ายทอดสดก็ไม่ควรทำ เพราะนั่นคือการไม่ให้ประชาชนเห็นความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น จะไปโกหกว่ามีคน 2,500 คน ในขณะที่มีคนหลายหมื่น มันทำไม่ได้แล้วในวันนี้

เรื่องนี้ขอเตือนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าไม่ควรทำ ถ้าเสรีภาพส่วนนี้ถูกกระทบ สงครามสื่อสารจะเกิด อย่าประมาทแฮ็กเกอร์เด็กๆ พวกเขามีเครือข่ายกันทั่วโลก ถ้ารู้สึกว่าพรรคพวกถูกรังแก อาจมีการโจมตีจนระบบข้อมูลพิการได้ ขนาดประเทศมหาอำนาจยังกลัว

การปฏิรูปสื่อไม่ใช่การจำกัดหรือซื้อ แต่ต้องส่งเสริมทุกด้านเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และธุรกิจของประเทศ ยิ่งควบคุมเรายิ่งแพ้ทั่วโลก

 

6บทบาทของปัญญาชนและนักธุรกิจ

การเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะปฏิรูปและจะทำให้ประเทศก้าวหน้าต่อไป ต้องผ่านความขัดแย้งแบบนี้แรงผลักดันที่สำคัญ จากนี้ไปคือ

ความเห็นและความร่วมมือที่จะแสดงเจตจำนงของปัญญาชนมีความรู้ มีความคิด ที่อยู่ในประเทศนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือออกมาแสดงปัญญา ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างสันติในแนวทางปฏิรูปเพื่อให้รอดพ้นจากความยากลำบาก ทั้งปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เรามีผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และด้านสังคมอื่นๆ จำนวนมาก การเรียกร้องของกลุ่มแพทย์เป็นตัวอย่างหนึ่ง ไม่เพียงแสดงเจตจำนงด้วยการลงชื่อ แต่อยากให้ทุกสาขาอาชีพแสดงภูมิปัญญาเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติด้วย

ส่วนพ่อค้านักธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงของประเทศจะมีผลต่อธุรกิจการค้าของท่านโดยตรง การนิ่งเงียบอยู่ต่อไปทำให้สถานการณ์เลวลง จะส่งผลต่อธุรกิจการค้าของคนทั้งประเทศไม่ว่ารายใหญ่หรือรายเล็ก และยังส่งผลสะเทือนไปยังพนักงานทั่วทั้งประเทศ

การแสดงความคิดเห็นและเจตจำนงที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูป จึงเป็นเรื่องจำเป็น ความหวาดกลัวต่างๆ และการอยู่นิ่งเฉย มีแต่จะทำให้ทุกอย่างเลวลง

 

บัดนี้มีคนจํานวนหนึ่งออกหน้า เอาชีวิตและอนาคตตัวเองไปเสี่ยง เป็นความกล้าหาญที่พวกเราต้องยอมรับว่า เราไม่กล้าเท่าพวกเขา จะถูกจับ ถูกขังก็ยอมเสี่ยง ถ้าไปดูความรู้ความคิดของพวกเขาก็จะรู้ว่าพวกเขาเป็นคนฉลาดอยู่ระดับนำของประเทศจำนวนมาก แต่ไม่ใช่พวกเอาตัวรอด เพราะว่าเขาประเมินอนาคตออกว่าประเทศและประชาชนจะเป็นอย่างไร ในเมื่อโลกมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น เขาจึงอยากเปลี่ยนไทยให้ทันโลก

ในโลกปัจจุบันปัญญาชนและพ่อค้านักธุรกิจ ถือว่าตามโลกได้ทันมากที่สุดแล้ว ถ้ามัวแต่นิ่งเฉยเหมือนคนที่นั่งอยู่ในเรือรั่วที่น้ำกำลังไหลเข้า ในที่สุด เรือและทุกคนก็จะจมไปพร้อมกัน จะเห็นว่าทุนต่างชาติไม่ยอมจมไปพร้อมกับเรา พวกเขาไม่มีอะไรผูกพัน เมื่อเรือเรารั่ว เขาก็ย้ายไปลงเรือเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ทีมวิเคราะห์เราพูดถึงยุทธศาสตร์ 20 ปี ว่าไม่มีโอกาสได้ใช้เพราะเราเห็นว่าผู้บริหารไปต่ออีกแค่ 20 สัปดาห์ก็ผ่านยากแล้ว เพราะมีทั้งปัญหาเศรษฐกิจ โควิด การเมือง

ตอนนี้ผ่านมาสัปดาห์ที่ 12 แล้ว ทีมงานเราหวังว่าวิกฤตการเมืองครั้งนี้จะผ่านได้ตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ต้องอาศัยอำนาจนอกระบบ แต่ข้างหน้าคลื่นลูกใหญ่กำลังมา…ลมบนก็แรง…เราอาจเดาผิดก็ได้

 


โค้งสุดท้ายกับโปรโมชั่นเอาใจคอนิตยสารในเครือมติชน

สมาชิกตลอดปีลดทันที 40%
.
มติชนเอาใจนักท่าน จัดโปรโมชั่นให้กับผู้สมัครนิตยสารในเครือมติชน ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน – 31 ตุลาคม 2563 ที่ลดราคาพิเศษมากถึง 40% จัดส่งลงทะเบียน ได้แก่
.
📷มติชนสุดสัปดาห์ 52 ฉบับต่อปี
จากราคา 3,692.- เหลือเพียง 2,652.-
*รวมค่าจัดส่งแบบลงทะเบียน
[https://cutt.ly/wgo32TT](https://cutt.ly/wgo32TT?fbclid=IwAR04elXa3x7sarnLW6XV_rpaz_iBPRjklMsARiSFCmwI8bPV2XvtUFpz9cU)
.
📷ศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับต่อปี รวมค่าจัดส่งแบบลงทะเบียน
จากราคา 1,692.- เหลือเพียง 1,116.-
*รวมค่าจัดส่งแบบลงทะเบียน
[https://cutt.ly/8go39qV](https://l.facebook.com/l.php?u=https%3A%2F%2Fcutt.ly%2F8go39qV%3Ffbclid%3DIwAR1_bNE5QNkuUrUk6AWV4IErd2yJV8C_KxbMMGSNF8uuBEyv5zeMizXPOxA&h=AT1cca8T767PgQR-dUL9viQ1qaiYSrdmaaW9dZDtCLJMj3kbmKG8yPlD6Lq7C8CP64TXzlRK-G-9iqvTLMMLhaA6c6QR56P1rhwurkRDtYJfHQkxt2EETYa9RXxdrTarfmUX&__tn__=-UK*F)
.
📷เทคโนโลยีชาวบ้าน 24 ฉบับต่อปี รวมค่าจัดส่งแบบลงทะเบียน
จากราคา 1,704.- เหลือเพียง 1,224.-
*รวมค่าจัดส่งแบบลงทะเบียน
[https://cutt.ly/cgo39D2](https://l.facebook.com/l.php?u=https%3A%2F%2Fcutt.ly%2Fcgo39D2%3Ffbclid%3DIwAR3nl3HmZQY84OGLn5Vc3NCx171_Z1ZOvM6MgJxSO6wx6jpjp-pTJuhTrCE&h=AT0SV643sUGwxQ_ruE9zOfxa3FiVXunxX6fu2is3d9XgyM9wIvdcudrui57szQKMjSRDq-6ZB0YWalSeCg1y9dmeY8GjhXv_WATOMRXhBnZAilZ5EA8W7NfGP7UsZff6tpjG&__tn__=-UK*F)
.
📷สมาชิกนิตยสาร 3 ปกรายปี ประกอบด้วย
– นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์รายปี (52 ฉบับ)
– นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ)
– นิตยสารศิลปวัฒนธรรมรายปี (12 ฉบับ)
.
จากราคา 7,088.- เหลือเพียง 4,992.-
*รวมค่าจัดส่งแบบลงทะเบียน
[https://cutt.ly/qgo8uAY](https://l.facebook.com/l.php?u=https%3A%2F%2Fcutt.ly%2Fqgo8uAY%3Ffbclid%3DIwAR3u7VdRS2d10lbrzDE9GIlXmQPQDBPbt8VEyVqPVVLtQcecsnS3D5o-pXU&h=AT2JZSVkP3xc6ZAYXUEhYE5-OoU9GZpqfHNrMZlbESEZ3WC3r6GeJSIBrCREr46o_XiAPxn_c_AMY4bpyY0yFXRWV6PbC9n4yake5awbYZxj8YKhekmyI2uejHsfhhar8Rki&__tn__=-UK*F)
.
.
ดูโปรโมชั่นพ็อกเก็ตบุ้คและนิตยสารต่างๆ ได้ที่ [www.matichonbook.com](https://l.facebook.com/l.php?u=http%3A%2F%2Fwww.matichonbook.com%2F%3Ffbclid%3DIwAR2Uq1niVpjq0kG5tUTK8MPPt_eU5Sl6MrpFgUOWG3dGqTEJYRidtfPrgms&h=AT2ApMefnkFj0WaHM-IguZ_FsN4TSvnJTkmkPRjmiWsZT8DETR8kRqI19OrJRUy6bNuCqq3tgDXFb1NCojzfwKawg7Cdtx7RmIOWjCMpUTuD0WmrszBFZZFOWjrktJfn40E7&__tn__=-UK*F)
.
ห้ามพลาด
สมัครสมาชิกนิตยสารในเครือมติชน
ลดราคาพิเศษ 40%
ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน – 31 ตุลาคม 2563