วิรัตน์ แสงทองคำ : ทุนลดาวัลย์ กับสยามไบโอไซเอนซ์ (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ผมสนใจเรื่องราว ข่าวนี้เช่นกัน
“วันที่ 5 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เดินทางไปที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี …โรงงานผลิตไบโอฟาร์มาอย่างครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย”( http://www.matichon.co.th/ 5 พฤษภาคม 2560)

ขณะเดียวกัน ข่าวทางการทำเนียบรัฐบาล(http://www.thaigov.go.th/news/ ) ได้รายงานด้วย โดยได้กล่าวบุคคลสำคัญคนหนึ่ง —ดร.เสนาะ อุนากูล ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งได้กล่าวรายงาน มีอีกบางตอนที่น่าสนใจ “บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ออกสู่ประชาชน หรือออกจากหิ้งมาสู่ห้าง …เพื่อให้อุตสาหกรรมไบโอฟาร์มาสามารถช่วยชับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพได้เป็นอย่างดีหลาย ๆ ประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ รัสเซีย บราซิล ได้ออกมาตรการส่งเสริม โดยเน้นการให้สิทธิพิเศษในการจัดซื้อแก่ผู้ผลิตในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการลงทุน ทั้งจากแหล่งทุนในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศดังกล่าวอีกด้วย”



เรื่องราว ดร.เสนาะ อูนากูล กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มีเค้าโครงและแนวคิดสำคัญปรากฏไว้ในหนังสือชีวประวัติของเขา

“ขณะที่ผมลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้เมื่อปี พ.ศ.2552 ผมตั้งใจว่าเมื่อเขียนหนังสือเสร็จ จะใช้เวลาในการพักผ่อนและปฏิบัติธรรมมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าผมยังต้องทำงานชิ้นใหญ่อีกชิ้นหนึ่งตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นั่นคือการพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุในประเทศ ซึ่งเป็นยาประเภทโปรตีน ที่มีอยู่ในประเทศไทยมีเฉพาะยาที่ทำจากสารเคมี ซึ่งไม่สามารถรักษาโรคจำนวนมากได้ เรื่องนี้มีความจำเป็นมาก เนื่องจากในปัจจุบัน สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งภาระทางด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจะเป็นโจทย์ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายมหาศาลที่จะต้องสูญเสียไปกับการนำเข้ายาชีววัตถุที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เอง

ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตยาชีววัตถุ แม้กระทั่งยาชีววัตถุคล้ายคลึง (biosimilars) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune disease) และยังไม่ต้องพูดถึงยาชีววัตถุต้นแบบ เนื่องจากการวิจัยและพัฒนายาประเภทนี้ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ต้องใช้เวลายาวนานนับสิบปี การขาดความสามารถในการผลิตยาชีววัตถุทำให้ผู้ป่วยไทยต้องประสบปัญหายาราคาแพง และมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงยา อย่างไรก็ตาม 4-5 ปีต่อจากนี้ จะมียาหลายชนิดที่หมดสิทธิบัตร ผมจึงคิดว่านี่เป็นช่วงจังหวะที่ดีที่ประเทศไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุคล้ายคลึงในประเทศ ทั้งเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม อันเป็นการเชื่อมโยงการวิจัยสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ ที่สำคัญ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสมได้มากขึ้น”

บางตอนจากหนังสือ “พลังเทคโนแครต ผ่านชีวิตและงานของ เสนาะ อูนากูล” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน (ปรับปรุงใหม่จากหนังสือ “อัตชีวประวัติและงานของ เสนาะ อูนากูล” พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2552 โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย)

ดร. เสนาะ อูนากูล เป็นข้าราชการผู้โดดเด่น และมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะทำงานอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้บุกเบิกหน่วยงานเกี่ยวกับการวางแผนทางด้านเศรษฐกิจ-สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนขึ้นตำรงตำแหน่งเลขาธิการ(ครั้งแรก 2516-2518 ครั้งที่สอง 2523-2532) รวมทั้งมีบทบาทด้านโยบายการเงิน (ผู้ว่าแบงก์ชาติ2518-2522) ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในยุคปรับโครงสร้าง นโยบายทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับอิทธิพลสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเวียดนาม

หลังจากอยู่เงียบๆพอนานสมควร เขาเข้ามีบทบาททางการเมืองช่วงสั้นๆ หลังการัฐประหารปี2534 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน

จากนั้นไปมีบทบาทางธุรกิจในฐานะประธานและประธานกรรมการบริหารธนาคารเอเชีย( 2535-2538) ในช่วง ตระกูลเอื้อชูเกียรติ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และ ยศ เอื้อชูเกียรติ ยังเป็นผู้บริหารสำคัญ

ที่สำคัญ ดร. เสนาะ อูนากูล เข้าเป็นกรรมการบรษัทปูนซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี( 2535-2558) และกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพรtมหากษัตริย์(2536-ปัจจุบัน)

 

นอกจากนี้สื่อบางแห่งได้รายงานความเคลื่อนไหวของบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์โดยตรง โดยเฉพาะอ้างถึง อภิพร ภาษวัธน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เปิดเผยแผนยการการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตยาไบโอฟาร์มาแห่งที่ 2 มูลค่า 3 พันล้านบาท โดยเป็นการร่วมทุนกับคิวบาภายใต้ชื่อบริษัท ABINIS โดยบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ ถือหุ้นใหญ่ 70% ที่เหลือคิวบาถือหุ้น 30% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562(จะขอเพิ่มเติมในตอนต่อไป)

ข่าวเกี่ยวกับเรื่องสำคัญข้างต้น ตบท้ายด้วยข้อมูลพื้นฐานอย่างคร่าวๆโดยระบุว่าบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ ก่อตั้งโดยบริษัททุนลดาวัลย์ จำกัด(กิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)

เกี่ยวกับทุนลดาวัลย์ ผมเองเคยเสนอมาบ้าง มานานพอสมควร (ปี2552 )

“ทุนลดาวัลย์ ผู้คนเริ่มสนใจมากขึ้น ในฐานะกิจการลงทุนใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ปรากฏรายชื่อในฐานะผู้ถือหุ้นรายเล็กในกิจการตลาดหุ้นหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีการลงทุนอย่างเงียบๆอีกบางกิจการ เท่าที่ทราบเป็นสร้างยุทธ์ศาสตร์ใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ จากเคยเป็นกิจการที่มีผู้มาเสนอขอร่วมทุน หรือในฐานะดูแลกิจการสำคัญโดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ และเอสซีจี ที่เกิดขึ้นตามกรรมต่างวาวระ มิใช่ยุทธ์ศาสตร์ร่วม จากองค์กรเก่าที่ส่วนใหญ่ทำหน้าที่บริหารจัดที่ดินแบบดั้งเดิม มาเป็นองค์กรที่แสวงโอกาสใหม่เพื่ออนาคต” โดยระบุว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ จัดตั้งบริษัททุนลดาวัลย์ ขึ้นมาประมาณปี 2544

ในช่วงเวลาไกล้เคียงกัน ผู้บริหารสำนักงานทรัพย์สินฯได้กล่าวถึงกรณีก่อตั้งบริษัททุนลาดวัลย์ไว้เช่นกัน

“ในอดีตมีบริษัทเอกชน รัฐบาลชักชวนให้ถือหุ้นมากมาย แม้ไม่ใช่เงินจำนวนเยอะ เพราะเขาเข้ามาเพราะความน่าเชื่อถือของสำนักงานทรัพย์สินฯ แต่เมื่อเกิดวิกฤตปี 2540 พบว่าเงินทุนเหล่านี้จะต้องมีการจัดการอย่างมืออาชีพเพื่อให้เกิดประโยชน์ ส่วนไหนที่ไม่ต้องการจัดการให้เกิดประโยชน์ก็จะให้พาร์ตเนอร์ซื้อคืนกลับไป งานส่วนนี้มีการจัดตั้ง “บริษัททุนลดาวัลย์” ขึ้นมาดูแล” (อ้างจาก”ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “สมบูรณ์ ชัยเดชสุริยะ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สนักงานทรัพย์สินฯ ปี2554

เท่าที่ปรากฏข้อมูล(นำมาจากประวัติคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี) ปรากฏว่ าคณะกรรมการเอสซีวีส่วนหนึ่ง เป็นคณะกรรมการบริษัททุนลดาวัลย์ด้วย

ที่น่าสนใจ ยศ เอื้อชูเกียรติ หลังจากขายกิจการธนาคารเอเชียไปแล้ว เขาเข้ามามาเป็นที่ปรึกษาการลงทุนและการเงิน สำนักงานทรัพย์สินฯ ตั้งแต่ 2540 ในปีต่อมา(2541) เข้าเป็นกรรมการเอสซีจี และตั้งแต่ 2544 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัททุนลดาวัลย์ จำกัด

จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ในฐานะประธานกรรมการเอสซีจี ก็ดำรงตำแหน่งกรรมการทุนลดาวัลย์ ตั้งแต่ปี2549 ซึ่งเข้าใจเป็นช่วงเดียวกันกับการเข้ามาของกรรมการอีกคน —พนัส สิมะเสถียร( อดีตรัฐมนตรีคลัง และกรรมการสำนักงานทรัพย์สินฯตั้งแต่ปี2543)

ส่วน ชุมพล ณ ลำเลียง อดีตผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ปัจจุบันเป็นทั้งกรรมการเอสซีจีและธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นกรรมการทุนลดาวัลย์ในปี2554

 


มีอีกบางตอนที่เกี่ยวข้องกัน

“โครงการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ในนามSiam Biosciences ซึ่งเชื่อมั่นว่าเป็นแนวทางใหม่ของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตยา หรือเวชภัณฑ์อื่น โดยมองว่าเป็นธุรกิจใหม่ในอนาคตเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยอภิพร ภาษวัธน์ อดีตผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ เอสซีจี เข้ามาดูแลกิจการนี้”

ผมเคยเสนอเรื่องเกี่ยวกับ บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ไว้เมื่อปี2553 เชื่อว่าน่าจะอ้างถึงชื่อทางการของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Biosciences) เป็นครั้งแรกๆในวงกว้าง ทั้งนี้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ไว้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี2552

เมื่อพิจารณาเรื่องราวสยามไบโอไซเอนซ์ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง เรื่องราวยิ่งน่าสนใจมากขึ้น

นอกจากดร.เสนาะ อูนากูล เป็นประธานกรรมการ แล้ว ได้ปรากฏรายนามกรรมการอื่นๆที่น่าสนใจอีก กลุ่มแรกมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ นายแพทย์ อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลคนปัจจุบัน และ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา แห่งศิริราชพยาบาล ในฐานะประธานวิชาการของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์

อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นทั้งอดีตผู้บริหารเอสซีจี คือ อภิพร ภาษวัธน์ อดีตผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ และ อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินฯ กรรมการทุนลดาวัลย์ และประธานกรรมการบริหารบริษัทเทเวศร์ประกันภัย(เครือสำนักงานทรัพย์สินฯ) รวมทั้ง ผู้บริหารเอสซีจีในปัจจุบัน อย่าง ชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ และผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ กลุ่มที่สองดังกล่าว มีบทบาททั้งในภาพใหญ่และเกี่ยวกับธุรกิจโดยตรง

จากข้อมูลพื้นฐานข้างต้น จะนำไปสู่บริบทอ้างอิง และบทวิเคราะห์ในบางมิติต่อไป