ฉัตรสุมาลย์ : ความสัมพันธ์ศรีลังกา-ไทย

ปีนี้เป็นปีที่ผู้เขียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของคำว่า “ลงพื้นที่” สำหรับผู้บริหาร ไม่ว่าระดับใด

หากผู้บริหารไม่ได้ลงพื้นที่ ไม่ได้สัมผัสสถานที่ เนื้องาน บุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง การแก้ปัญหาจะผิวเผินมาก

มารดาของผู้เขียนได้ถวายที่ดิน 6 ไร่ให้สร้างวัดสำหรับภิกษุสงฆ์ ที่ดินสวยมากอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี พยายามดำเนินการทำเรื่องขอสร้างเป็นวัดมานานกว่า 40 ปี ไม่สำเร็จ จนท่านมรณภาพไป

มาถึงผู้เขียน ได้ไปทบทวนการทำเอกสารใหม่ ไปเสนอตามลำดับขั้น คือตั้งแต่เจ้าคณะตำบลขึ้นมา เรื่องเงียบหายไป น้ำก็เซาะตลิ่งเข้ามามาก จนต้องไปสร้างเขื่อนให้ใน พ.ศ.2550 เรื่องการขอเป็นวัดก็ยังไม่ไปถึงไหน มีภิกษุสงฆ์เข้ามาจำพรรษา

ในที่สุดเพิ่งสำเร็จเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563

ทั้งนี้ทั้งนั้น บอกได้คำเดียวว่าผู้บริหารระดับตำบลก็ดี ระดับอำเภอก็ดี ท่านไม่ลงพื้นที่

โชคดีเหลือเกิน ที่เจ้าคณะอำเภอสามพรานท่านลงพื้นที่ เข้ามารับทราบปัญหา คลี่คลาย จนในท้ายที่สุด วัดกัลยาณีฯ จึงเป็นวัดที่ได้รับตราตั้งอย่างสมบูรณ์

 

คราวนี้มาพูดถึงการลงพื้นที่ในระดับประเทศ เอกอัครราชทูตของศรีลังกาประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน ท่านลงพื้นที่ค่ะ

เพิ่งได้พบท่านเมื่อเดือนกันยายน 2563 ท่านมาพบภิกษุณีธัมมนันทาที่วัตรทรงธรรมฯ เพราะก่อนที่ท่านจะมาประเทศไทยท่านได้อ่านหนังสือที่ท่านภิกษุณีเขียน เรื่อง My Sri Lankan Lineage แปลเป็นไทยประมาณว่า การสืบสายจากศรีลังกา ท่านเล่าว่า อยากมาพบท่านธัมมนันทาจากหนังสือเล่มนั้น

ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจบอกมานะคะ จะส่งให้ฟรี (โทร.0-3425-8270) ขอให้บอกที่อยู่เท่านั้นเองค่ะ

อยากแนะนำท่านทูตท่านนี้ เป็นคนที่น่าสนใจ อ้อ ท่านเป็นผู้หญิงค่ะ งามสง่า แต่งตัวตามแบบศรีลังกา ใส่ส่าหรี แต่การใส่ส่าหรีของศรีลังกาจะต่างจากของอินเดีย ต้องดูในรายละเอียด ส่าหรีผืนเดียวกันนั่นแหละค่ะ แต่วิธีใส่ต่างกัน

ท่านชื่อสมันตา ชัยสุริยะ

ท่านเพิ่งไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยสยาม เมื่อ 21 กันยายนที่ผ่านมานี้เอง ขอเล่าเนื้อหาที่ท่านบรรยายโดยย่อนะคะ

 

บริบทก็คือ วันที่ 21 กันยายนของทุกปีนั้น ประเทศสมาชิกแห่งสหประชาชาติร่วมกันฉลองเป็นวันสันติภาพสากล โดยมุ่งเน้นไปที่ความสำคัญของการไม่ใช้ความรุนแรง และการเสริมสร้างอุดมคติแห่งสันติภาพ รวมถึงการเรียกร้องให้ฝ่ายที่ทำสงครามมีส่วนร่วมในการหยุดยิง ในหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อตั้งใน พ.ศ.2524 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเน้นวัตถุประสงค์คือการยุติสงครามกับศัตรูที่มองเห็น

แต่ปีนี้แตกต่างออกไป เมื่อโลกทั้งโลกกำลังถูกคุกคามจากศัตรูที่มองไม่เห็น นั่นคือไวรัสที่ส่งข่าวว่า “หากเพื่อนบ้านของท่านยังไม่ปลอดภัย ท่านก็ไม่ปลอดภัยเช่นกัน”

ในการต่อสู้กับไวรัสนี้ ไม่มีชาติใดเลยที่จะมีชัยได้ตามลำพัง แต่ต้องต่อสู้ร่วมกัน และปฏิบัติการร่วมกัน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะหาทางออกที่ยั่งยืนร่วมกัน พวกเราต้องวางความแตกต่างและทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อเอาชนะศัตรูตัวใหม่ที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ขณะนี้

สิทธิในสันติภาพนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่ปีนี้ พ.ศ.2563 เกือบจะครบ 75 ปีแล้ว หลังจากที่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง แม้กระนั้นก็ยังมีประเด็นความขัดแย้งในด้านการใช้อาวุธที่ยังค้างคาอยู่กว่า 40 ประเด็น

ในบทนำในธรรมนูญของยูเนสโกประกาศว่า “สงครามเริ่มต้นที่จิตใจของมนุษย์ฉันใด ความหวงแหนสันติภาพก็มาจากจิตใจของมนุษย์ด้วยฉันนั้น”

ท่านทูตเน้นว่า หัวใจสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติภาพคือการเรียนรู้ที่จะอดกลั้น ยอมรับในพลังแห่งความหลากหลาย เราต้องยึดมั่นทั้งกับตัวเองและส่วนรวมว่า การสร้างหรือทำลายสันติภาพนั้นขึ้นอยู่กับตัวเรา หน้าที่ของเราคือสร้างสะพานเชื่อมระหว่างประเทศและประชาชนโดยเอื้อต่อบริบทระหว่างวัฒนธรรม

ศรีลังกาเองผ่านความเจ็บปวดจากความขัดแย้งภายในประเทศมายาวนานกว่า 26 ปี จึงมีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในทุกมิติเพื่อป้องกันสงครามที่อาจจะเกิดขึ้น และร่วมสร้างสันติภาพไปด้วยกัน

 

ที่น่าสนใจคือ ศรีลังกาเป็นประเทศที่บุกเบิกในการสร้างสันติภาพตั้งแต่ ค.ศ.1951 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สนับสนุนประเทศญี่ปุ่น และไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกลุ่มต่างๆ ในที่ประชุม ใน ค.ศ.1971 ศรีลังกาเสนอให้องค์การสหประชาชาติประกาศเขตสันติภาพในมหาสมุทรอินเดีย เป็นต้น

ทหารของศรีลังกาเป็นส่วนหนึ่งของทหารผู้รักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติที่เรียกว่าบลู เฮลเมตส์ ทำงานในพื้นที่ที่มีปัญหาหลายแห่งทั่วโลก

ประเด็นที่ท่านทูตเน้นคือ การส่งเสริมสันติภาพจะเป็นไปไม่ได้หากปราศจากความยุติธรรมในสังคมและการพูดถึงความไม่เท่าเทียมกัน จึงต้องเน้นความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และมุ่งลดความยากจน ให้ความสำคัญกับการดูแลความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากท่านทูตบรรยายที่มหาวิทยาลัยสยาม ผู้ฟังของท่านเป็นนักศึกษาคนหนุ่มคนสาว ท่านจึงมองว่าเยาวชนสามารถเป็นตัวแทนในการสร้างสันติภาพทั่วโลก

ด้วยความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เยาวชนจึงสามารถทำหน้าที่เป็นคนกลาง เป็นตัวแทนชุมชน เป็นผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยชนและสันติภาพได้

มีมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาชาติว่าด้วยเยาวชน สันติภาพ และความมั่นคงเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.2015

 

ในตอนท้ายของคำบรรยาย ท่านเรียกร้องความร่วมมือสำหรับคนทุกรุ่นทุกวัยในการสร้างสรรค์สันติภาพ เน้นวัฒนธรรมแห่งความอดกลั้น มีความเท่าเทียมกัน การลดอาวุธ การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และที่สำคัญสำหรับเราทุกคนคือ วิถีชีวิตที่อยู่บนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจกัน ความรัก ความเมตตาต่อกัน

นอกจากที่ท่านเป็นเอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทยแล้ว ท่านยังมีตำแหน่งเป็นผู้แทนถาวรในสหประชาชาติด้วย

ได้เกริ่นนำมาข้างต้นถึงความสำเร็จที่มาจากการลงพื้นที่ ผู้บริหารไม่ว่าในระดับใดต้องลงพื้นที่เมื่อเป็นทูตของศรีลังกาประจำประเทศไทย ท่านก็ต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างศรีลังกากับไทย

จากการได้พบปะกับท่านเป็นการส่วนตัว ดีใจที่ต้องบอกว่า ท่านทำหน้าที่ทูตที่ดี พยายามวางแผนงานสร้างงานที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมั่นคงขึ้น งานนี้จะเป็นไปได้ง่าย เพราะทั้งสองประเทศนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ร้อยรัดประเทศทั้งสองเข้าด้วยกันโดยเฉพาะพระพุทธศาสนาสายเถรวาทที่เป็นเส้นสายที่ยึดโยงทั้งสองประเทศที่สำคัญ

ความสัมพันธ์ของศรีลังกาและไทยจะมั่นคงยิ่งขึ้นภายใต้การทำงานของท่านทูตคนนี้ ท่านชื่อสมันตา เวลาเราชุมนุมเทวดา เราจะขึ้นด้วยคำว่า “สมันตา” ชื่อของท่านเป็นคำเดียวกันเลยค่ะ

มีโครงการระหว่างศรีลังกาและไทยที่จะทยอยรายงานในคอลัมน์นี้อีกค่ะ อาจจะไม่ “โดยพลัน” ตามสไตล์ของมติชนสุดสัปดาห์ แต่จะมีมาแน่ๆ ค่ะ