แมลงวันในไร่ส้ม/ข่าวร้อน-ม็อบ 14 ต.ค. มากขึ้น-น้อยลง ตัวชี้วัดการเมือง

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวร้อน-ม็อบ 14 ต.ค.

มากขึ้น-น้อยลง

ตัวชี้วัดการเมือง

การชุมนุมของเยาวชน นักศึกษา ประชาชน 30 องค์กร ที่นำโดยเยาวชนปลดแอก ประชาชนปลดแอก และกลุ่มธรรมศาสตร์และการเคลื่อนไหวในวันที่ 14 ตุลาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และประกาศว่า จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย

ทำให้เกิดคำถามสะพัดว่า จะมีผู้มาชุมนุมมากกว่าเมื่อคราวชุมนุม 19 กันยายนหรือไม่ จะเกิดความรุนแรงขึ้นหรือไม่ การชุมนุมครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร และจะมีพรรคการเมือง และคนเสื้อแดงเข้าร่วมหรือไม่

สำหรับการชุมนุมเมื่อ 19 กันยายน ที่ท้องสนามหลวง ที่คาดหมายกันว่าจะมีผู้ที่อึดอัดกับสภาพการเมือง เศรษฐกิจ เข้าร่วมจำนวนมาก แต่เมื่อถึงวันจริง เกิดฝนตกเป็นระยะเกือบตลอดวัน ทำให้จำนวนผู้มาชุมนุมหายไปส่วนหนึ่ง ทางตำรวจระบุว่า ตัวเลขผู้มาชุมนุมอยู่ที่ 1.8 หมื่น ถึง 2.5 หมื่น

อย่างไรก็ตาม มีการระบุตัวเลขทางการที่ยอมรับกันในแวดวงราชการว่า ตัวเลขผู้ชุมนุมเมื่อ 19 กันยายน อยู่ที่ 5 หมื่นคน

การชุมนุมรอบนี้ ทางภาคราชการส่วนหนึ่งเชื่อว่าจะมากกว่าเมื่อ 19 กันยายน แต่ถ้าฝนตกก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนในมุมมองของภาครัฐบาล เชื่อว่าผู้มาชุมนุมจะไม่มากด้วยปัจจัยหลายประการ

และในอีกด้าน กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลได้ตระเตรียมการเคลื่อนไหว โดยมีทั้งที่ไปแสดงพลังหน้าบริษัทครอบครัวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และเตรียมการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม อันเป็นวันเดียวกับที่นักศึกษานัดเคลื่อนไหว

 

ความเห็นจากฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พี่ใหญ่ของ “3 ป.” เปิดเผยกับสื่อว่า ไม่กังวลที่จะเกิดการชุมนุม

พร้อมกับบอกด้วยว่า เราอยากจะพูดคุยทำความเข้าใจกับเขา แต่เขาไม่คุยด้วย คิดว่าผู้ชุมนุมคงมาไม่มาก

ตอนนี้ยังไม่ได้ประเมินอะไร คิดว่าเอาอยู่ เมื่อถามว่าทำไมจึงคิดว่าจำนวนผู้ชุมนุมจะมาไม่มาก พล.อ.ประวิตรตอบว่า กะเกณฑ์เอา ตอนนี้มีทั้ง 2 ฝ่าย และไม่รู้ว่าจะมีผู้ชุมนุมมาจำนวนเท่าไหร่ แต่ฟังจากกระแสแล้วคิดว่ามาไม่มาก ไม่มีปัจจัยอะไร

ส่วน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เผยว่า นายกฯ มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ติดตามดูแลการชุมนุม ฝ่ายความมั่นคงจะพยายามดูแลสถานการณ์ให้เรียบร้อยที่สุด

เมื่อถามว่า สตช.รายงานแผนที่จะดำเนินการในวันที่ 14 ตุลาคมหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลตอบว่า พยายามติดตามการเคลื่อนย้ายมวลชนอยู่ ข้อมูลเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ จากข้อมูลปัจจุบันคงมีผู้ร่วมชุมนุมไม่มากเท่าไหร่ ไม่ถึงหลักหมื่น แต่เราไม่ได้ประมาท

จากข้อมูลการข่าวมีการเคลื่อนย้ายประชาชนจากต่างจังหวัด 40-50 จังหวัด แต่มาจำนวนไม่มาก ส่วนผู้ดำเนินการเป็นกลุ่มเดิมๆ เหมือนครั้งที่ผ่านมา มีฝ่ายการเมืองเกี่ยวข้องบ้าง แต่ไม่ขอระบุว่าเป็นฝ่ายไหน

ส่วนประเด็นเรื่องมือที่สามนั้น ตอนนี้ยังไม่มีรายงานเข้ามา แต่เราไม่ประมาท

การดูแลพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.วัชรวีร์ ธรรมเสมา ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล เผยว่า ได้เจรจากับผู้ชุมนุม ไม่ให้ใช้เส้นทางถนนราชดำเนินมายังทำเนียบ

แต่จะขอให้ใช้ถนนนครสวรรค์ โดยจะวางกำลังตำรวจไว้ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าเป็นระยะ เพื่อให้ใช้เส้นทางที่ตำรวจขอไว้ หากไม่ยอม ทางเจ้าหน้าที่ก็จะต้องเตรียมความพร้อม โดยทาง บช.น.อาจจะต้องเตรียมแบริเออร์และลวดหนามกั้นเหมือนช่วงการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ซึ่งต้องดูสถานการณ์ตอนนั้นอีกครั้ง

และถ้าเจรจากับแกนนำให้มาทางถนนนครสวรรค์ และใช้พื้นที่อยู่บริเวณถนนพิษณุโลกได้ ทาง บช.น.ก็จะนำแบริเออร์มากั้นบนสะพานชมัยมรุเชษ เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมข้ามมายังทำเนียบรัฐบาลได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการรักษาความปลอดภัยภายในทำเนียบรัฐบาล ยังดูแลเข้มเป็นปกติ โดยตำรวจทุกนายจะเริ่มเข้าประจำการตามจุดต่างๆ ตั้งแต่เย็นวันที่ 13 ตุลาคม

ท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ แกนนำพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าประกาศชัดเจนว่าจะเข้าร่วมการชุมนุม ส่วนพรรคเพื่อไทย นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปกครองท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กมธ.ปกครองไม่มีมติส่ง ส.ส.ไปสังเกตการณ์ แต่ถ้าใครจะไปสังเกตการณ์ถือว่าไปในนามส่วนตัว

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยก็ไม่มีมติส่ง ส.ส.ไปสังเกตการณ์ชุมนุมในนามพรรค ถ้าใครจะไปถือเป็นในนามส่วนตัว แต่ตนและ ส.ส.เพื่อไทย 3-4 คนจะไปสังเกตการณ์ชุมนุมวันดังกล่าวเป็นส่วนตัว

ประเมินแล้วไม่น่าจะมีปัญหารุนแรงอะไรในวันชุมนุม คาดว่าจะมีประชาชนมาร่วมชุมนุมเกินหมื่นคนแน่นอน มากกว่าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประเมินจะมีผู้มาชุมนุมไม่ถึงหมื่นคน เพราะ สมช.ชอบคาดการณ์ตัวเลขต่ำกว่าความจริง ซึ่งไม่ตรงกับตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงทุกครั้ง

ส่วนคนเสื้อแดงที่จะมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ น่าจะมีอยู่บ้างในส่วนของเสื้อแดงในโซน กทม.และปริมณฑล แต่จะไม่หนาแน่นเท่าครั้งที่ผ่านมา ส่วนคนเสื้อแดงที่อยู่ต่างจังหวัดไกลๆ น่าจะมาร่วมชุมนุมน้อย

 

ถือเป็นอีกเหตุการณ์ทางการเมืองที่จะต้องติดตามจับตา

เพราะเป็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ที่แสดงความสนใจ และไม่พอใจต่อสภาพการเมืองและเศรษฐกิจ

และมีวิธีเคลื่อนไหวที่แตกต่างจากม็อบในอดีต

ที่เป็นตัวแปรและปัจจัยสำคัญได้แก่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการผ่อนคลายทางการเมือง ที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องต่อรัฐบาล

ก่อนการชุมนุม ในวันที่ 12 ตุลาคม กกต.ได้เคาะวันเลือกตั้ง อบจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 20 ธันวาคม ซึ่งเป็นการปลดล็อกที่สำคัญ และเจอ “โรคเลื่อน” มาตลอด

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังเป็นปัญหา เพราะ ส.ว.มีท่าทีไม่เห็นด้วยที่จะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

รวมถึงไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนฯ

อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวของ ส.ว.และรัฐบาล ทางกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ได้แสดงความแปลกใจแต่อย่างใด

และเดินหน้าจัดการชุมนุมไปเรื่อยๆ ซึ่งน่าจะสร้างแรงกระเพื่อม และสร้างการรับรู้ที่ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ

หากการชุมนุมเติบโตไปเรื่อยๆ จะเป็นตัวชี้วัดทางการเมืองที่มองข้ามไม่ได้

ข่าวสารจาก “คนรุ่นใหม่” คงจะร้อนแรงในพื้นที่สื่อและโซเชียลมีเดียต่อไปอีก