ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 9-15 ตุลาคม 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

แกลเลอรี่ ของกรินทร์ จิรัจฉริยากูล ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

นำเสนอภาพพิเศษ

พระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9

เพื่อรำลึก 13 ตุลาคม 2559

ที่ “ณัช ศรีบุรีรักษ์” เขียนไปรษณียบัตรมาย้ำความทรงจำ

“พ่อหลวงไทย ลาลับ กลับสวรรค์”

 

ขณะที่ “ตะวันรอน” เขียนไปรษณียบัตร เนื้อหาสอดคล้องกัน

ขอกล่าวถึงพระบรมราโชวาท ของ ร.9

ที่พระราชทานแก่เนติบัณฑิต เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2515 ณ เนติบัณฑิตยสภา

ดังนี้

“…โดยที่กฎหมายเป็นเครื่องมือในการความยุติธรรม

จึงไม่ควรจะถือว่ากฎหมายมีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม

หากจะต้องถือว่า ความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย

การที่จะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดใด โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิด ตามกฎหมายเท่านั้น

ดูจะเป็นการไม่เพียงพอ

จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ

การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้…”

นายกฯ ปัจจุบัน เขียนค่านิยม 12 ประการ ให้โรงเรียนเปิดทุกวัน ในข้อ 9 แต่ไม่เห็นปฏิบัติเลย

ผมอ่านพระบรมราโชวาทนี้ เมื่อปี 2517 และเขียนติดโต๊ะทำงานและปฏิบัติตามตลอด

โดยเฉพาะอย่าเป็นพยานเท็จ ได้อานิสงส์ทำให้ปฏิบัติราชการด้วยความราบรื่น ตราบจนเกษียณอายุ

ผมอยู่ในราชการ ไม่เคยกู้เงินใคร และไม่เคยให้ใครยืมเงิน มีแต่ให้เฉยๆ โดยตัวเองไม่เดือดร้อน

เรียกว่า “พอเพียง” มาตลอดชีวิตราชการ และปัจจุบันก็ยังปฏิบัติอยู่

การสอนร้อยล้านคำ ไม่เท่าทำให้ดู

ตะวันรอน

อ.ลอง จ.แพร่

 

“ความยุติธรรม

มาก่อนกฎหมาย

และอยู่เหนือกฎหมาย”

พระบรมราโชวาท ของรัชกาลที่ 9 ที่ตะวันรอนขับเน้นมา

แม้จะพระราชทานมาตั้งแต่ 2515 (1 ปี ก่อน 14 ตุลาคม 2516)

แต่ยังคงทันสมัย

สามารถใช้เป็นหลักยึดแก่ทุกฝ่ายได้จนบัดนี้

โดยเฉพาะผู้ที่มักจะกล่าวอ้างถึงกฎหมาย กฎหมาย และกฎหมาย

แต่หากไร้ซึ่งความยุติธรรม

กฎหมายก็ไร้ความหมาย

 

ว่าถึง กฎหมายและความยุติธรรม แล้ว

โปรดอย่าพลาด

“ละครชาวบ้าน

วิจารณ์ท้าวพระยามหากษัตริย์”

ของสุจิตต์ วงษ์เทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

ที่นอกจากให้ความรู้เรื่องละครนอก

ดังที่ยกคำบอกกล่าว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่อธิบายไว้ในหนังสือ นาฏศิลป์ไทย ตอนหนึ่งว่า

“ละครนอกสมัยโบราณทำหน้าที่เสียดสีจักรๆ วงศ์ๆ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมโดยไม่ถือเป็นความผิด แต่ในทางตรงข้ามกลับได้รับยกย่องว่าเล่นดีวิเศษสนุกสนานทำให้ลืมทุกข์ยากจากปัญหาปากท้อง…”

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ยก “จำอวดละคร ประท้วงขึ้นภาษีผักบุ้ง” มาเล่าขานให้ฟังอีกครั้ง

เป็นเรื่องราวสมัยอยุธยา ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ

ราชสำนักได้เรียกละครชาวบ้านเข้าไปเล่นในวัง

ปรากฏว่า จำอวดละครชาวบ้าน นำเอาเรื่องเสนาบดีผู้ใหญ่ใช้กฎหมาย ขูดรีดภาษีจากชาวบ้านอย่างไม่ยุติธรรม ไปเล่นเสียดสี

เป็นกรณีขูดรีดภาษีผักบุ้ง

เรื่องราวการใช้กฎหมายพิสดารและไม่ยุติธรรม ไปขูดรีดภาษีเป็นอย่างไร และจบลงแบบไหน

พลิกอ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่หน้า 77

ตอกย้ำ ความยุติธรรมต้องเหนือกฎหมาย