คนมองหนัง | “คำสั่งคำสาป” หนังไทยยุคต้น “สงครามเย็น”

คนมองหนัง

“คําสั่งคำสาป” คือภาพยนตร์ไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีประวัติความเป็นมาเป็นปริศนาอยู่มิใช่น้อย

มีข้อมูลว่าหนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ.2494 แต่ได้รับการจัดฉาย (ในกรุงเทพฯ) เมื่อ พ.ศ.2497 ซึ่ง “ประหยัด ศ.นาคะนาท” คอลัมนิสต์ดัง ผู้เป็นหนึ่งในนักแสดงสมทบ เคยเขียนเล่าว่าหนังมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดจำหน่าย

อย่างไรก็ดี หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ค้นพบหลักฐานว่าฟิล์มหนัง “คำสั่งคำสาป” นั้นมีอยู่สองฉบับ

เวอร์ชั่นแรก มีความยาว 138 นาที (สันนิษฐานว่าถูกนำไปตระเวนฉายกลางแปลงตามพื้นที่ต่างจังหวัด)

ส่วนเวอร์ชั่นที่สอง ซึ่งออกฉายในปี 2497 มีความยาว 102 นาที

มีหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ว่า “คำสั่งคำสาป” (Dead Man”s Voice) คือภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน

หลักฐานแรกที่ชัดเจน คือ ภาพยนตร์ในฉบับยาวดั้งเดิมมีการระบุชื่อทีมงานผู้สร้างซึ่งเป็นชาวอเมริกัน ไม่ว่าจะในตำแหน่งผู้ถ่ายภาพ ผู้บันทึกเสียง ผู้ลำดับภาพ รวมทั้ง “เบอร์เนต ลามอนต์” ผู้กำกับการแสดง และ “วิลเลียม เจ. เก็ดนีย์” (อาจารย์ฝรั่งของ “จิตร ภูมิศักดิ์”) ซึ่งรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเทคนิค

ผิดกับภาพยนตร์ฉบับสั้นที่ออกฉายอย่างเป็นทางการในเขตเมืองเมื่อปี 2497 ซึ่งมีการตัดชื่อทีมงานฝรั่งออกไปทั้งหมด (ประเด็นนี้ “ดร.ณัฐพล ใจจริง” นักวิชาการผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคสงครามเย็น วิเคราะห์ว่าเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐาน “ความแนบเนียน” ในโฆษณาชวนเชื่อแบบสหรัฐ)

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่ระบุว่าเมื่อปี 2494 สำนักข่าวสารอเมริกัน (ยูซิส) เคยจัดสรรงบประมาณจำนวน 5 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างภาพยนตร์ไทย (น่าจะหมายรวมถึง “คำสั่งคำสาป” ด้วย)

ขณะที่เมื่อปี 2496 ก็เคยมี ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายถึงการจัดฉายภาพยนตร์ของสำนักข่าวสารอเมริกันเรื่อง “เสียงสาปจากโลกันตร์” (ซึ่งอาจเพี้ยนมาจาก “คำสั่งคำสาป”) ตามพื้นที่ต่างจังหวัด

ไม่นับรวมองค์ความรู้ในการผลิตภาพยนตร์แบบฮอลลีวู้ดที่ปรากฏผ่าน “คำสั่งคำสาป” ทั้งการถ่ายทำหนังด้วยฟิล์ม 35 ม.ม. ในระบบซาวด์ออนฟิล์ม (ไม่ใช่พากย์เสียงทับ) สวนทางกับหนังไทยหลังสงครามโลกที่มักถ่ายทำกันด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. (ซึ่งจะกลายเป็นลักษณะเฉพาะของวงการภาพยนตร์บ้านเราต่อเนื่องมาอีกร่วมทศวรรษ)

ในแง่เนื้อเรื่องและรูปแบบการนำเสนอ “คำสั่งคำสาป” คือส่วนผสมของสื่อบันเทิงหลายชนิดหลากประเภท ที่เป็นวัฒนธรรมสมัยนิยม ณ ห้วงเวลาดังกล่าว

หนังเปิดตัวด้วยการพูดคุยสังสรรค์กันระหว่างมิตรสหายหนุ่มๆ 4 คน ราวกับได้อิทธิพลมาจากงานเขียนชุด “พล นิกร กิมหงวน”

ขณะเดียวกัน เนื้อหาแนวสืบสวนคดีฆาตกรรมและงานโปรดักชั่นในภาพรวมก็ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ตระกูลฟิล์มนัวร์และหนังของ “อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก”

หนังเริ่มต้นเรื่องราวด้วยการผลักดันให้ตัวละครชายหนุ่ม 4 คน นำโดยพระเอกผู้ทำงานเป็นนักให้คำปรึกษาปัญหาชีวิต เข้าไปสืบสวนเหตุการณ์ลึกลับชวนฉงนในบ้านของนางเอก เมื่อ “ดร.ทองคำ” บิดาของเธอ ผู้เป็นนักปราชญ์ที่รอบรู้วิทยาการมากแขนง อีกทั้งรักชาติ-รักประชาธิปไตย ได้เสียชีวิตลงอย่างเป็นปริศนา

ยิ่งกว่านั้น อนุสาวรีย์ “ดร.ทองคำ” ยังกลายเป็นรูปปั้นที่พูดได้ (พร้อมคำพูดทีเล่นทีจริงชวนขันของตัวละครบางรายที่กล่าวว่า “รูปปั้นถ้าพูดได้ มันจะต้องมีอะไรแฝงอยู่เบื้องหลังเป็นแน่ เพราะโดยปกติน่ะ รูปปั้นพูดไม่ได้!”)

ที่สำคัญ คำปราศรัยซึ่งหลุดออกมาจากปาก “รูปปั้น ดร.ทองคำ” นั้นมีเนื้อหาปลุกระดมเหล่าสานุศิษย์จำนวนมาก ให้คิดทำลายชาติและสถาบันหลักอื่นๆ ของประเทศ

เหล่าตัวละครนำจึงต้องสืบสวนว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังรูปปั้นพูดได้ และ “ดร.ทองคำ” มีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์ผู้ทำลายชาติจริงหรือไม่?

“ดร.ณัฐพล ใจจริง” ซึ่งไปร่วมเป็นวิทยากรในงานฉายหนังเรื่อง “คำสั่งคำสาป” ที่หอภาพยนตร์ ศาลายา เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ “คำสั่งคำสาป” จะเป็นผลงานแนวโฆษณาชวนเชื่อที่มีสหรัฐอยู่เบื้องหลัง ท่ามกลางบริบทสงครามเย็นสมัยแรกเริ่ม

ทว่านี่ก็เป็นงานโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในไทยโดยรัฐบาลอเมริกัน ก่อนการเกิดขึ้นของแผนปฏิบัติการจิตวิทยา “PSB-D 23” ที่ได้รับการวางรากฐานโดย “วิลเลียม เจ. โดโนแวน” อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยระหว่างปี 2497-2498 (ก่อนหน้านั้น เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโอเอสเอส ซึ่งต่อมาพัฒนากลายเป็นซีไอเอ)

ด้วยเหตุนี้ สารสำคัญใน “คำสั่งคำสาป” จึงยังตกอยู่ภายใต้แนวคิด “ชาตินิยม” ผ่านความวิตกกังวลว่า “(สถาบัน) ชาติ” จะถูกคุกคาม

ก่อนที่สถาบันหลักอื่นๆ จะได้รับการโฟกัส-ให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น นับแต่ปลายทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา

ตามการตีความของ ดร.ณัฐพล เขาคิดว่าตัวละคร “ดร.ทองคำ” นั้นคือบุคลาธิษฐานของ “ปรีดี พนมยงค์”

ด้านหนึ่ง ปรีดีเป็นนักการเมืองที่มีลูกศิษย์ลูกหาและผู้นับถือมากมาย

แต่อีกด้าน ภาพลักษณ์ของปรีดีในช่วงกลาง 2490 ก็กลายเป็น “ปีศาจร้าย” ของสังคมไทย ซึ่งต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอาศัยอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์พอดี

โดยณัฐพลอ้างอิงไปถึงบทบาทของ “กุมุท จันทร์เรือง” ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเป็นอดีตเสรีไทยและเคยมีความใกล้ชิดกับปรีดี

แม้กระทั่งหลักฐานในหอจดหมายแห่งชาติสหรัฐก็ยังระบุว่ากุมุทพยายามนำเสนอทัศนะทางการเมืองแบบ “ปรีดี” ให้ทางการอเมริกันได้รับทราบ

ด้วยเหตุนี้ แม้ “คำสั่งคำสาป” จะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ แต่ผู้เขียนบทเช่นกุมุทก็อาจพยายามจะใส่เนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์ ไปพร้อมๆ กับการแก้ต่าง-ปรับปรุงภาพลักษณ์ให้แก่ปรีดี

“ดร.ทองคำ” ผู้เป็นบุคลาธิษฐานของ “ปรีดี พนมยงค์” จึงเป็นผู้รักชาติบ้านเมือง และเพียงแค่สนับสนุนระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มิได้เป็นพวกคอมมิวนิสต์คิดล้มล้างสถาบันสำคัญทางสังคมดังที่มีใครอื่น (ผู้ประสงค์ร้าย) แอบอ้าง

ณัฐพลเชื่อว่ากุมุท (และผู้สร้างภาพยนตร์) ต้องการสื่อ “สาร” นี้ไปถึงสมาชิกขบวนการ “เสรีไทย” โดยเฉพาะในเขตภาคอีสาน ที่น่าจะได้รับชมหนังฉบับแรกเวอร์ชั่น 138 นาที

ซึ่งสมาชิกเสรีไทยเหล่านั้นก็มีสถานะไม่แตกต่างจาก “มวลชน/ลูกศิษย์” จำนวนมาก ที่เดินทางมารับฟัง “โอวาท” (อันได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องทางการเมือง) ของ “หัวหน้า” อย่าง “ดร.ทองคำ” ภายในอาคารที่มีโดมตั้งตระหง่านอยู่ด้านบน ณ ตอนจบของภาพยนตร์