เบื้องหลังค่ำคืนแห่งการหลอกลวง พปชร.ผนึก 250 ส.ว. ตั้ง กมธ. “ถ่วง” แก้ รธน. “พรรคร่วม-ฝ่ายค้าน” โดนแกง

ค่ำคืนแห่งการหลอกลวง พปชร.ผนึก 250 ส.ว. ตั้ง กมธ. “ถ่วง” แก้ รธน. “พรรคร่วม-ฝ่ายค้าน” โดนแกง

เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เต็มไปด้วยขวากหนามและเล่ห์กล

เมื่อ 6 ญัตติร่างแก้ไขที่ได้รับการบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาต้องเจออุปสรรคและเกมซื้อเวลาแบบเต็มๆ

จากความพยายามของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐและ 250 ส.ว. สมคบคิดกันเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนลงมติรับหลักการวาระแรก

ทำให้การอภิปรายทั้ง 6 ญัตติเมื่อวันที่ 23-24 กันยายน กลายเป็นแค่ “ปาหี่”

พรรคฝ่ายค้านแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลล้วน “โดนแกง” ถ้วนหน้า

ทั้งที่ญัตติ 1 ในนั้นเสนอในนามพรรคร่วมรัฐบาล ตามผลสรุปของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

หมากตานี้จึงสะท้อนสัมพันธ์ระหว่างพลังประชารัฐกับ 250 ส.ว. อันมีรากที่มาจากอำนาจ คสช.ว่าแนบชิดกันขนาดไหน

ไม่เพียงพรรคร่วมรัฐบาลถูกกีดกันให้อยู่ “วงนอก”

ข้อเรียกร้องกลุ่มผู้ชุมนุมเยาวชน นิสิต นักศึกษา ประชาชนคนรุ่นใหม่ก็ถูกเมินเฉย

ชัดเจนที่สุดคือสะท้อนถึงความพยายามยื้อเวลารักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเอง

ไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

สําหรับ 6 ญัตติเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา 23-24 กันยายน คือก้าวแรกของความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

ในการประชุมเปิดโอกาสสมาชิกรัฐสภา 3 ฝ่าย ทั้ง ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.อภิปรายฝ่ายละ 7 ชั่วโมง 20 นาที

นัดลงมติเย็นวันที่ 24 กันยายน ด้วยวิธีขานชื่อรายคน คาดว่าต้องใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง

แต่เมื่อใกล้ถึงเวลาลงมติตามข้อตกลงวิป 3 ฝ่าย เกมยื้อก็ส่งสัญญาณดังขึ้นทันที

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นเสนอญัตติต่อที่ประชุม ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนลงมติรับหลักการขึ้น 1 คณะ เพื่อให้ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ร่วมศึกษาร่างแก้ไขทั้ง 6 ญัตติ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ลุกขึ้นอภิปรายรับไม้ต่อ เห็นด้วยให้ตั้ง กมธ. ใช้เวลาพิจารณาศึกษาไม่เกิน 30 วัน ก่อนได้รับเสียงสนับสนุนจากบรรดา ส.ว.

ตัดภาพมาที่ฝั่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน หลายคนลุกขึ้นอภิปรายคัดค้าน เพราะเห็นว่าการเสนอตั้ง กมธ. นอกจากเป็นการหลอกลวงสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมอภิปรายมา 2 วันเต็ม และทั้งประชาชนที่เฝ้าดูอยู่

ยังเป็นการยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสมือนเติมฟืนใส่กองไฟ ทำให้สถานการณ์ทั้งในสภาและนอกสภาร้อนแรงยิ่งขึ้น

พรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ลุกขึ้นสารภาพกลางสภา ไม่เคยรับรู้ถึงกลเกมนี้มาก่อน

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ รองประธานวิปรัฐบาลอภิปรายไม่เห็นด้วย

ระบุ ในฐานะ 1 ใน 206 ส.ส.ที่เสนอญัตติร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล จุดยืนประชาธิปัตย์เห็นว่าตลอด 2 วัน สมาชิกได้อภิปรายครบถ้วน

อีกทั้งพรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้เสนอร่างเองจึงไม่จำเป็นต้องตั้ง กมธ.ศึกษาอีก สมาชิกรัฐสภาไม่ควรเป็นตัวถ่วง

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งยืนยันต่อที่ประชุมว่า ตนเองไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน ที่ผ่านมาได้ซักซ้อมขั้นตอนการลงมติมาอย่างดี “การที่มีสมาชิกบางคนห่วงว่าถูกหลอกนั้น คงไม่ต้องกลัว เพราะถ้าถูกหลอก ผมก็ถูกหลอกด้วย”

ในที่สุดสมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ ลงมติเห็นชอบตั้ง กมธ.ด้วยเสียง 432 ต่อ 255 งดออกเสียง 28 ไม่ลงมติ 1

ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 45 คน

ขณะที่ 6 พรรคฝ่ายค้านและพรรคเศรษฐกิจใหม่

ประกาศไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับ กมธ.ชุดนี้

ปรากฏร่องรอยบางอย่างบ่งชี้ให้เห็นว่า

เกมเตะถ่วงแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการ ไม่ใช่เรื่องปุบปับเกิดขึ้นโดยไม่มีการวางแผนมาก่อน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน ก่อนการประชุมรัฐสภา 1 วัน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า

“ในการประชุมวิปวุฒิสภามีการรายงานให้ทราบถึงข้อเสนอไม่ให้ลงมติในวันที่ 24 กันยายน โดยให้ใช้วิธีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด เพื่อความรอบคอบ”

“ตามระเบียบระยะเวลาการศึกษา 45 วัน สามารถใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุมไปพิจารณาหารือ และนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งช่วงเปิดสมัยประชุมวันที่ 1 พฤศจิกายน”

พรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ให้ความเห็นหลังโดนพลังประชารัฐและ 250 ส.ว.หลอกต้มด้วยเช่นกัน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวยืนยัน ไม่ว่าผลศึกษาของ กมธ.จะออกมาอย่างไร เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับเข้าสู่การประชุมสภาสมัยประชุมหน้า ส.ส.พรรคภูมิใจไทยจะลงมติรับหลักการญัตติที่พรรคร่วมลงชื่อเสนอแน่นอน

คือการแก้ไขมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายอนุทินอ้างว่า พรรคภูมิใจไทยลงมติเมื่อค่ำวันที่ 24 กันยายน ด้วยความไม่สบายใจ เนื่องจากไม่ได้รับทราบมาก่อนว่าจะมีแนวทางเช่นนี้

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล

แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ พรรคก็ยอมรับและตั้งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ

คําถามที่ตามมาถึงชะตากรรม 6 ญัตติของฝ่ายการเมือง

รวมถึงร่าง “ไอลอว์” ที่มีประชาชนลงชื่อสนับสนุนกว่า 1 แสนชื่อ

ยังต้องรอลุ้นหลังสภาเปิดสมัยประชุม 1 พฤศจิกายน ด้วยข้อกังวลหาก 6 ญัตติถูกตีตก ร่างฉบับประชาชนของไอลอว์อาจต้องตกไปด้วย หรือไม่สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ในสมัยประชุมเดียวกัน เนื่องจากมีหลักการเดียวกันกับ 6 ญัตติของฝ่ายการเมือง

หากเป็นเช่นนั้น เท่ากับญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกเก็บใส่ลิ้นชัก ดองยาวไปถึงสมัยประชุมสภาครั้งถัดไปในเดือนพฤษภาคม 2564 สอดรับกระแสข่าวลากยาวอำนาจไปจนกว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ครบเทอมในปี 2566

แต่แล้วก็เป็นนายชวน หลีกภัย ที่ออกมาให้ความหวังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของไอลอว์

ระบุ ตามข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อ 41 บัญญัติว่า ญัตติที่ถูกตีตกไปแล้วจะไม่สามารถนำมาเสนอใหม่ได้ในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไป

ประธานรัฐสภามีสิทธิอนุญาตนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้

มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจจากทางฝั่งรัฐบาล ก่อนประชุม ครม. 29 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชิญแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาจับเข่าหารือปัญหาต่างๆ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รายงานข่าวเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์กำชับพรรคร่วมรัฐบาลให้สนับสนุน 2 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ ญัตติพรรคร่วมรัฐบาล กับญัตติพรรคร่วมฝ่ายค้าน ภายใต้หลักการแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. โดยไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 เด็ดขาด

ภายหลังข่าวออกไปก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่าน-ไม่ผ่าน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เสียง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เพราะถึงอย่างไรก็ต้องลงมติหนุนอยู่แล้วเพราะเป็นเจ้าของเสนอญัตติ

กุญแจสำคัญอยู่ที่ 250 ส.ว.ต่างหากว่าจะว่าอย่างไร

ตรงนี้ พรรคฝ่ายค้านอ่านขาด ส.ว. 84 เสียงที่เป็นตัวกำหนดชี้ขาดว่าญัตติแก้รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เพียงผู้เดียวว่าจะส่งสัญญาณอย่างไร

เป็นสัญญาณที่ต้องส่งไปยัง ส.ว. ไม่ใช่ ส.ส.รัฐบาล

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ด้วยว่า การที่พรรครัฐบาลและ ส.ว.กล้าเล่นเกมเตะถ่วง

เพราะประเมินแล้วว่าม็อบเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถึงจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่จัดให้มีการชุมนุม แต่ก็ยังไม่มากพอจะสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลต้องยอมทำตามได้

สถานการณ์ชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 24 กันยายน ตลบอบอวลไปด้วยบรรยากาศความโกรธแค้น ที่ถูก ส.ส.ซีกรัฐบาลและ ส.ว.ร่วมมือกันหลอกต้มเตะถ่วงแก้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลประเมินแล้วว่าแค่นี้ “ยังเอาอยู่”

สถานีต่อไปจึงต้องจับตาการชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาคม

แกนนำผู้ชุมนุมปลดแอกประกาศให้เป็นการชุมนุมแบบปักหลักยืดเยื้อยาวนาน ยกระดับเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลอีกขั้น

โดยถือเอาค่ำคืนแห่งการหลอกลวงเป็นบทเรียนสำคัญ