เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | การปะทะทางวัฒนธรรม

มีนิยามธรรมชาติของคนสามรุ่นสามวัยเป็นทำนองว่า

คนสูงวัยนั้นมักเชื่อไปหมด

คนวัยกลางนั้นมักสงสัยไปหมด

คนวัยหนุ่ม-สาวนั้นมักรู้ไปหมด

ที่ว่าสูงวัยมักเชื่อไปหมดนั้น สังเกตจากความดื้อ จู้จี้จุกจิก ด้วยเหตุยึดมั่นถือมั่นกับความเชื่อของตนเองเป็นสำคัญ

ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะเป็นวัตถุที่พึ่งหรือความคิดของตัวเองล้วนๆ ก็ตาม เสมือนว่าได้ฝากชีวิตไว้กับสิ่งที่ตนเชื่อแล้ว ความเชื่อนั้นได้กลายเป็นชีวิตตนไปแล้ว ดังนั้น ใครอย่าได้มาลบล้างหรือลบหลู่เป็นอันขาด ด้วยร้ายแรงเสมือนกับการทำชีวิตให้กลายเป็น “โมฆะ” ไปเลยทีเดียว

เขาฝากชีวิตไว้กับความเชื่อเป็นสำคัญนั่นเอง

ประเด็นเรื่องความเชื่อนี้เป็นเรื่องใหญ่ ด้วยเป็นพื้นฐานวัฒนธรรมที่แทบจะเป็นด้านหลักของวัฒนธรรมไทยและสังคมไทยอันทรงอิทธิพลที่สุด แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่เฉพาะคนสูงวัยเท่านั้นที่มีธรรมชาติ “เชื่อไปหมด”

สังคมไทยนี่แหละมีพื้นฐานของ “วัฒนธรรมความเชื่อ” ที่หนักแน่นยาวนานและมั่นคงที่สุด

เชื่อนั้นคู่กับฟัง

แต่โบราณมาแล้ว เรามีจารีตวัฒนธรรมการเชื่อฟังเป็นหลัก

เช่น ฟังพระเทศน์มหาชาติครบสิบสามกัณฑ์จะได้บุญเป็นมงคลแก่ชีวิตยิ่ง

เราฟังผู้มีบุญ ผู้มีอำนาจ ผู้ปกครอง ผู้อาวุโส ซึ่งโดยขนบหรือครรลองแล้วสังคมเรามีกรอบแห่งศีลธรรมเป็นกรอบของสังคมคอยดูแลอยู่จนเป็นจารีตประเพณี ดังเช่นมี “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ของสังคมอีสาน เป็นต้น

วัฒนธรรมความเชื่อจึงเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของสังคมไทยที่สุด

อีกวัฒนธรรมที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ “วัฒนธรรมความคิด”

คิดนั้นคู่กับอ่าน

อ่านคือการศึกษา ซึ่งสังคมไทยเพิ่งเริ่มสถาปนาโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสำคัญมาเมื่อร้อยกว่าปีนี้เอง

ความคิดอันได้จากการศึกษาเป็นทางการนี้น่าสังเกตตรงที่มีพัฒนาการในลักษณะ “ก้าวกระโดด” เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อเริ่มนั้น ปูพื้นพอให้อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น เน้นศีลธรรมจริยธรรมควบคู่กันไปเป็นสำคัญ ดังค่านิยมบวชเณรหรือโกนจุกแล้วจากนั้นจึงเรียนวิชาชีพ จากนั้นจึงบวชพระ สึกแล้วก็เป็น “บัณฑิต” ดังเรียก “ทิด” นั้น

ระบบการศึกษาสมัยใหม่นิยมให้ความรู้ล้วนๆ จนมีพระดำรัสของพระราชบิดา ทรงเตือนติงเป็นใจความว่า

คนไทยนั้นมีธรรมชาติช่างคิดช่างสร้างสรรค์อยู่แล้ว แต่ธรรมชาติเหล่านี้จะถูกทำลายทันทีเมื่อจับเขาเข้าห้องเรียน

แม้จนวันนี้ระบบการศึกษาไทยดูจะดำรงสภาพนั้นอยู่ไม่เปลี่ยนเลย ซ้ำหนักข้อตรงที่เด็กนักเรียนรู้ล้ำหน้าครูไปแล้วชนิดกู่ไม่กลับเอาเลยทีเดียว

จึงไม่แปลกใจกับการ “ก้าวกระโดด” ของวัฒนธรรมความคิด ที่มาถึงยุค AI วันนี้

ช่องว่างของคนสองยุคสองวัฒนธรรมกำลังปะทะกันวันนี้คือ

การปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมความเชื่อกับวัฒนธรรมความคิด

น่าสังเกตคือ พื้นฐานที่ต่างกันระหว่างสองวัฒนธรรมนี้ คือ พื้นฐานแน่นหนาของวัฒนธรรมความเชื่อที่มีมาเป็นพันปี ขณะพื้นฐานอันไม่สม่ำเสมอของวัฒนธรรมความคิดที่มีมาร้อยกว่าปีนี่เอง แต่รวดเร็วและโหมกระหน่ำปานคลื่นสึนามิ

การปะทะกันทางวัฒนธรรมนี้จะเป็นพลังพัฒนาสังคมไทยได้อย่างดียิ่ง เพียงรู้จักถอดรหัสธรรมหัวใจการศึกษาที่มีคือ สุ จิ ปุ ลิ

สุ คือสุตะ หมายถึง รู้ฟัง คือฟังแล้วอย่าเชื่อทันที

จิ คือจิต หมายถึง รู้คิด คือฟังแล้วต้องคิด

ปุ คือปุจฉา หมายถึง รู้ถาม รู้ค้นคว้า รู้ศึกษา

ลิ คือลิขิต หมายถึง รู้เขียน รู้จดรู้จำเป็นความรู้

น่ากลัวคือ การปะทะกันของธรรมชาติคนสองวัยคือ

หนึ่งคือ คนที่เชื่อไปหมด

หนึ่งคือ คนที่รู้ไปหมด