จิตต์สุภา ฉิน : “โรโบคอป” หุ่นยนต์เก็บผัก-ผลไม้

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เวลาได้ยินใครต่อใครพูดว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงานมนุษย์ในอีกไม่นานข้างหน้า เชื่อว่าภาพที่หลายๆ คนมีผุดแว้บขึ้นมาในหัวก็อาจจะเป็นภาพของฝูงหุ่นยนต์ที่มีแขน มีขา หรืออาจจะมีหัวเป็นหน้าจอ เดินขวักไขว่ไปมาอยู่ตามโรงงานหรือออฟฟิศต่างๆ

ซึ่งภาพแบบนี้ก็มีความน่าเกรงขามและสร้างความหวาดกลัวได้ไม่น้อย

อันที่จริงแล้วหุ่นยนต์ที่จะมาแย่งงานบางอย่างของมนุษย์ไปทำนั้นอาจจะไม่ใช่หุ่นยนต์ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์เลย แต่อาจจะดึงมาแค่อวัยวะบางส่วน เช่น ส่วนที่สำคัญมากๆ อย่างแขนและมือก็ได้

การเก็บผักหรือผลไม้จากต้นเป็นงานที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการที่จะบอกได้ว่าผักผลไม้เหล่านั้นโตหรือสุกพอที่จะพร้อมให้ปลิดจากขั้วแล้วหรือยัง

หลายครั้งก็เป็นความเชี่ยวชาญที่เห็นปุ๊บรู้ปั๊บ

หลายครั้งก็ต้องผสมการคาดเดาเข้ามาช่วยซึ่งก็อาจจะถูกบ้างผิดบ้าง แต่ที่แน่ๆ ใช้เวลาและแรงงานไม่น้อย ซึ่งลักษณะของงานประเภทนี้ก็จะเป็นงานที่หุ่นยนต์ถนัดและพร้อมมากที่จะเข้ามาแทนที่

ยกตัวอย่างการเก็บดอกกะหล่ำซึ่งได้กลายเป็นผักยอดนิยม จากเดิมเราอาจจะเอากะหล่ำมาผัดนู่นผัดนี่ หรือถ้าเป็นฝรั่งก็อาจจะเอามาหั่นจิ้มซอสต่างๆ

แต่ทุกวันนี้ดอกกะหล่ำมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นจากการนำไปใช้ในการรับประทานอาหารแบบเลี่ยงแป้ง อย่างเช่น นำไปใช้แทนข้าวหรือแป้งทำพิซซ่า ทำให้มีความต้องการบริโภคดอกกะหล่ำเพิ่มขึ้นเยอะ

จนมีไอเดียขึ้นมาว่าน่าจะทำหุ่นยนต์ที่สามารถเข้ามาช่วยเก็บดอกกะหล่ำได้จนกลายมาเป็นหุ่นยนต์ต้นแบบตัวแรกที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นมาในฝรั่งเศส

 

Fieldwork Robotics เป็นทีมที่ออกแบบหุ่นยนต์ที่จะทำหน้าที่เก็บดอกกะหล่ำโดยเฉพาะ หุ่นยนต์ตัวนี้หลักๆ ก็จะประกอบไปด้วยแขนกลที่คล้ายๆ กับการมองแขนใครสักคนจากด้านข้าง ตรงปลายจะมีตัวยึดจับและมีดที่พร้อมจะหั่นหัวกะหล่ำออกมาได้อย่างแม่นยำ

หุ่นยนต์ตัวนี้ทำงานโดยการใช้เซ็นเซอร์และกล้องสามมิติควบคู่กับแมชชีนเลิร์นนิ่งซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ในการที่จะตัดสินใจได้ว่าหัวกะหล่ำไหนพร้อมให้ตัดเก็บได้แล้วบ้าง และแม้ว่าจะนำกะหล่ำมาเรียงต่อๆ กันหลายหัวในห้องทดลอง หุ่นยนต์ก็ยังสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ทีมนักพัฒนาต้องเจอและกำลังหาวิธีแก้ไขอยู่ก็คือลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการดอกกะหล่ำที่มีสีขาว แต่ดอกกะหล่ำที่อยู่กลางแดดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

ดังนั้น ผู้ปลูกก็จะต้องคลุมดอกด้วยการรวบใบที่ปลายยอดเข้าหากันเพื่อให้ได้กะหล่ำดอกที่มีสีขาวนวล

แต่กระบวนการปลูกแบบนี้ก็ทำให้นักออกแบบหุ่นยนต์ต้องเกาหัวแกรกๆ เพราะพอมีใบคลุมเอาไว้หุ่นยนต์ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ากะหล่ำสุกพอที่จะตัดได้แล้วหรือยัง ซึ่งก็จะมีการจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร่วมพัฒนาแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกัน

ดอกกะหล่ำอาจจะมีความท้าทายที่ยังต้องขบคิดกันต่อไป แต่ผักหรือผลไม้ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้มีโจทย์ยากขนาดนี้ก็มีหุ่นยนต์ที่สามารถเก็บได้จริงแล้ว

 

หุ่นยนต์ Virgo 1 ของบริษัทสตาร์ตอัพ Root AI สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการเก็บมะเขือเทศได้แล้วเรียบร้อย เซ็นเซอร์ของหุ่นยนต์จะสามารถมองเห็นผลไม้ได้แบบสามมิติ วิเคราะห์ระดับความสุกแบบตามเวลาจริง และตัดสินได้ว่าผลไหนพร้อม ผลไหนไม่พร้อม

ถ้าดูแล้วว่าสุกพอจะเก็บได้ หุ่นยนต์ก็จะยืดแขนออกไปคว้ามะเขือเทศลูกนั้น บิดขั้วนิดๆ และดึงออกมาจากกิ่งก้านอย่างอ่อนโยนโดยไม่ได้ทำให้มะเขือเทศบอบช้ำเลย

ผู้ผลิตบอกว่ากล้องของ Virgo 1 ที่ทำหน้าที่บังคับแขนกลนั้นใช้ชิพประมวลผลวิดีโอที่รันอยู่ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ ซอฟต์แวร์นี้ผ่านการฝึกฝนด้วยการป้อนข้อมูลภาพของมะเขือเทศที่สุกและไม่สุกเป็นหลายล้านภาพเพื่อให้มันรู้จักว่าหน้าตาแบบไหนจึงจะเรียกว่าสุกพร้อมเก็บ แบบไหนยังไม่พร้อม

ความเก่งอีกอย่างของซอฟต์แวร์ก็คือสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้หุ่นยนต์ตัวนี้เก็บผักหรือผลไม้ประเภทไหน ไม่ได้ถูกจำกัดให้เก็บได้เฉพาะมะเขือเทศอย่างเดียว

และยิ่งถ้าเครือข่าย 5G ที่มีความเร็วขั้นสุด ความหน่วงต่ำ และรองรับการใช้งานได้พร้อมกันมากๆ ก็จะยิ่งทำให้หุ่นยนต์เก็บผักผลไม้ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ก่อนหน้านี้ก็มีการเปิดตัวหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาให้เก็บผลราสเบอร์รี่ได้เป็นตัวแรกของโลกมาแล้ว

องค์ประกอบของหุ่นยนต์ก็จะคล้ายๆ กัน คือมีตัวจับที่ปลายแขนเพื่อใช้ในการดึงผลราสเบอร์รี่

แม้ว่าสถิติเวลาเฉลี่ยที่เก็บได้ซึ่งอยู่ที่หนึ่งผลต่อหนึ่งนาทีนั้นจะยังไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไหร่

แต่ก็ทำให้ได้เห็นว่านี่แหละ อนาคตของการเก็บผักผลไม้ที่จะมาถึงอีกไม่นานข้างหน้าแน่นอน และทีมผู้พัฒนาก็เชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดแล้วหุ่นยนต์ตัวนี้จะเก็บราสเบอร์รี่ได้ 25,000 ผลต่อวัน ซึ่งก็แปลว่าจะแซงหน้าความเร็วของมนุษย์ที่ตอนนี้เก็บได้เฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 ผล ต่อการเข้ากะ 8 ชั่วโมง

ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่จะได้เห็นว่าหุ่นยนต์เก็บราสเบอร์รี่นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์และผู้ผลิตราสเบอร์รี่อันดับหนึ่งของอังกฤษที่ส่งออกราสเบอร์รี่ให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตระดับใหญ่ๆ อย่าง Tesco, Marks & Spencer และ Waitrose

เทียบกับแรงงานมนุษย์แล้ว หุ่นยนต์เก็บผักผลไม้สามารถทำงานได้แบบไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ทำงานได้ยาวนาน 20 ชั่วโมงต่อวัน ถือเป็นข่าวดีมากๆ สำหรับคนที่ทำธุรกิจปลูกผักและผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษที่ในตอนนี้ต้องรับมือกับปัญหาแรงงานคนเก็บผลไม้จากต่างประเทศไม่ยอมเข้ามาทำงานในอังกฤษอีกต่อไปเพราะมูลค่าเงินปอนด์ลดลงหลังจากเบร็กซิทเป็นต้นมา

ขั้นตอนต่อไปที่ตามมาติดๆ เราก็จะได้เห็นหน้าที่ของหุ่นยนต์ที่แตกขยายออกไปมากขึ้น ทั้งหุ่นยนต์เก็บวัชพืช หุ่นยนต์ปลูกพืช หรือหุ่นยนต์รีดนมวัว ทั้งหมดนี้จะเป็นการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น แน่นอนว่าจะเป็นการไปเบียดบังแรงงานทักษะต่ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการเพิ่มงานให้แรงงานทักษะสูงที่จะต้องเข้ามาดูแล ซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ทั้งหมดที่อยู่ในสายการผลิต

คนในแวดวงกะประมาณเอาไว้ว่าน่าจะใช้เวลาราวๆ สัก 10 ปีกว่าเราจะไปถึงจุดที่หุ่นยนต์เข้ามาช่วยได้เต็มรูปแบบขนาดนั้น

เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ยังพอมีเวลาให้ปรับตัวกันได้ทันนะคะ