วิจารณ์เรื่องสั้น ปราสาทใยแมงมุม : ภาพแทน “อนุสรณ์แห่งรัก” ที่ไม่มีวันเป็นจริง

วิจารณ์เรื่องสั้น ปราสาทใยแมงมุม ผู้เขียน / องอาจ หาญชนะวงษ์

 

คลิกอ่านเรื่องสั้น “ปราสาทใยแมงมุม” 

เหมือนได้อ่านนิทาน

และเป็นนิทานความรักของแมงมุมกับแมลงปอสาวก้อนก้นงามงอนที่น่าหลงใหลและจดจำเรื่องหนึ่ง

แมงมุมศิลปินตัวนี้ ทำให้ผู้เขียนคิดถึงการอยากปลีกตัวของ “โจนาธาน ลิฟวิงสตัน” นกนางนวลแหกคอกที่ทำตัวไม่เหมือนนางนวลตัวอื่นๆ

หรือการแปลกแยกต่อสังคมของนาย “แฮร์รี่ ฮอลเลอร์” ใน สเตปเปนวูล์ฟ ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส

แม้ว่า “ปราสาทใยแมงมุม” จะไปไม่ถึงปรัชญาล้ำลึกในแง่ของการแสวงหาเช่นนั้น

แต่บุคลิกความต่างทางกายภาพของมัน ก็ชวนให้คิดถึงงานประพันธ์ทั้งสองเรื่องดังกล่าว

แม้ใยแมงมุมในเรื่องจะไม่ได้ถูกใช้ดักหรือล่อเหยื่อตามกลไกของธรรมชาติ

และถูกนำไปใช้ถักทอลวดลายประดิษฐ์แทน

นั่นก็อาจเป็นเพราะการไม่ต้องการจะเป็นเหมือนแมงมุมตัวอื่นๆ หรือฝืนต้านธรรมชาติที่ตัวมันต้องเป็น และจะผิดอะไรนัก หากแมงมุมสักตัวจะแตกต่างนอกคอกออกจากผองพันธุ์ของมันเอง!

“ก็ฉันไม่ได้ชักใยเพื่อจะดักกินใครนี่นา”

“แล้วเธอทำมันไปทำไมล่ะ”

“ฉันว่ามันสวยดี”

“อันที่จริง ฉันจะจับเธอกินก็ไม่ยากเลยนะ แต่ดูเธอตลกดี ฉันคงกินไม่ลงหรอก”

และเสียงนินทาก่นประณามต่างๆ จากแมลงตัวอื่นๆ ที่แมงมุมต้องแบกรับต่อความผิดแผกไม่เหมือนเหล่าผองพันธุ์ของมัน ก็คือความจริงของชีวิตที่น่าเศร้าอยู่ไม่น้อย

หากเปรียบแมงมุมเป็นมนุษย์สักคน การกลายเป็นอื่นในสังคมที่อยู่ร่วมก็อยู่ได้ยากเหลือเกิน…หากไร้ซึ่งคนเข้าใจ

แมลงปอสาวก้อนก้นงอนงาม จึงเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่เห็นคุณค่าความงามในสิ่งที่แมงมุมรังสรรค์ขึ้นท่ามกลางธรรมชาติ

แมลงปอมองเห็นคุณค่าในตัวแมงมุมศิลปินและมองเห็นความแปลกต่างของแมงมุมเป็นสิ่งน่าหลงใหล

แต่ทว่า กลไกความผิดธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ผู้ประพันธ์จงใจนำมาเล่นกับเรื่องราว ก็ทำให้เราได้เห็นว่า มันยากเสียเหลือเกินที่เราจะฝืนต้าน

ใยแมงมุมรูปดอกไม้สะท้อนกับแสงแดดเป็นประกาย และยิ่งในขณะที่มีเม็ดน้ำค้างเกาะอย่างในตอนนี้ เมื่อแสงส่องผ่าน ยิ่งดูเป็นสายระยิบระยับงดงามอย่างที่สุด จนแม้แต่ตัวของเจ้าแมงมุมเองยังเผลอนิ่งตะลึงมองในผลงานของตัวเอง แต่ทุกอย่างที่ว่ามาก็เหมือนกลายเป็นสีดำดับมืดลงไปในทันที เมื่อสายตาของมันหยุดอยู่ที่ปล้องก้อนก้นอันงอนงามที่มันคุ้นเคย แมลงปอกำลังดิ้น ยิ่งดิ้นใยแมงมุมนั้นก็ยิ่งพันตัวมันแน่นหนายิ่งขึ้นจนมันค่อยๆ หมดแรง ในที่สุดใยแมงมุมก็ได้ทำหน้าที่อันแท้จริงของใยแมงมุมเสียที หลังจากมันใช้ผิดวัตถุประสงค์มาโดยตลอด…

ผู้เขียนเห็นภาพตอนจบของเรื่องนี้ ประหนึ่งภาพสุดท้ายภายในปราสาทหลังงามในภาพยนตร์ Edward Scissorhands หรือในชื่อไทย เอ็ดเวิร์ด มือกรรไกร งานเก่าสุดคลาสสิคของ ทิม เบอร์ตัน ที่ตัวเอ็ดเวิร์ดตัดแต่งต้นไม้เป็นรูปทรงต่างๆ อย่างงดงาม ปราสาทหลังงามโดดเด่นตระหง่าน แต่ความงดงามนั้นก็ช่างโดดเดี่ยวและลำพังเหลือเกิน

ปราสาทใยแมงมุมที่ก่อเกิดขึ้นมาในตอนท้ายนั้น จึงได้กลายเป็นงานศิลปะสุดพิเศษชิ้นหนึ่ง ราวกับภาพวาดมีชีวิตของศิลปินชั้นยอด ที่แม้ตัวจะตายไปแล้ว แต่ความอมตะของภาพยังเลอเลิศเป็นนิรันดร์

ไม่ต่างไปจาก “ทางที่เลือกแล้ว” ของแมงมุมเลยแม้แต่น้อย

ปราสาทใยแมงมุม จึงถูกใช้เป็นภาพแทน “อนุสรณ์แห่งรัก” ที่ไม่มีวันเป็นจริง!