ทราย เจริญปุระ | ไม่ไปค่ะ

1.ด้วยแนวคิดที่ถูกฝึกมาแล้วจากหมอ แม้จะยังทำได้ไม่คล่องแคล่วนัก แต่ฉันค่อนข้างมั่นใจ ว่าฉันหยิบมันมาใช้ได้ถูกต้อง ตรงตามที่ต้องการจริงๆ

นั่นคือการหัดพูดว่า “ไม่”

“ไม่ไปงานหนังสือปีนี้”

ขอโทษนะคะ แต่ปีนี้ไม่ไปค่ะ

พอพูดออกมาจริงๆ ก็ไม่แย่

ก่อนจะตัดสินใจ วันนั้นฉันตื่นมาตอนตีสี่เพื่อจะเตรียมตัวไปทำงาน งัวเงียขึ้นมาหยิบแมวออกจากผ้าห่ม ก้าวลงจากเตียงสะดุดกองหนังสือ เดินงงๆ ผ่านหนังสืออีกกองไปเปิดไฟห้อง เปิดผ้าม่าน หยิบหนังสือที่หล่นจากโซฟาขึ้นไปวางคืนที่ แล้วเบียดตัวลงหาที่ว่างบนโซฟา เปิดโทรศัพท์เช็กข้อความค้างเครื่อง

จุดบุหรี่

อ่าน

“ว่ากันว่า กองดองนี้เป็นกองหนังสือที่เกิดจากความป่วยทางจิตบางอย่างของเจ้าของ โดยคนเหล่านี้จะไม่สามารถยับยั้งชั่งใจตัวเองไม่ให้ซื้อหรือเก็บสะสมหนังสือได้ อาจจะกลัวว่าจะไม่เจอหนังสือเล่มนั้นอีก, หรืออาจจะเป็นการเสพติดการซื้ออย่างหนึ่ง, รวมไปถึงเสพติดจินตนาการที่จะได้จากการอ่านหนังสือเล่มที่ซื้อด้วย นอกจากพฤติกรรมหลงใหลปลาบปลื้มกับการเก็บรวบรวมหนังสือแล้ว ผู้ที่เข้าข่ายเป็นนักดองหนังสือ ยังมีอาการอื่นๆ เช่น พวกเขาจะรู้สึกกดดันที่จะแสวงหาหนังสือที่ต้องการ กระวนกระวายเมื่อไม่ได้หนังสือที่อยากได้ มีความจริงจังในการสะสมเบอร์ร้านหนังสือ และรู้สึกไม่ดีเวลาต้องทิ้งหนังสือซักเล่มด้วย จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมนี้ สรุปได้ว่า

มีรากฐานมาจากวัยเด็กที่เป็นเด็กติดหนังสือ หรือไม่มีเพื่อนในชีวิตจริงจนอุปาทานเอาเองว่าหนังสือเป็นเพื่อนรักของพวกเขา จึงไม่แปลกที่จะเกิดความหวาดกลัวและวิตกกังวลอย่างมาก หากต้องสูญเสียมันไป”*

ในโลกปัจจุบันที่ทุกอาการ ทุกความอยาก ทุกความเกลียดมีชื่อเรียกและมีที่มา

ใครจะมองว่ามันเป็นอะไรก็เอาเถอะ

ถ้าจะเป็นบ้าเพิ่มมาอีกสักอย่างฉันก็ไม่ได้เดือดร้อนมากไปกว่าที่เป็นอยู่แล้ว

2.การปฏิเสธนี่เป็นเรื่องแรกๆ เลยนะ ที่หมอให้เราได้หัดทำ, ฉันบอกกับผู้จัดการส่วนตัว

หัวข้อพูดคุยสัพเพเหระนี้เลื่อนจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุด จากคนหนึ่งไปอีกคน จากเหตุหนึ่งไปสู่บทสรุปหนึ่ง

มันไหลมาถึงเรื่องนี้ได้อย่างไรกัน

อ้อ ฉันเพิ่งปฏิเสธงานหนึ่งที่น้องผู้จัดการสอบถามมา ด้วยเหตุผลว่าไม่ถนัดค่ะ

ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนที่แม่ยังอยู่ เป็นคนดูแลงาน ฉันไม่มีวันได้พูดแบบนี้ เพราะรู้ตัวอีกทีก็ไปถึงงานแล้ว จะถนัดหรือไม่ถนัด ชอบหรือไม่ชอบ แม่ฉันคิดให้เสร็จสรรพ

พ้นจากช่วงแม่มาอีกนิด ฉันก็ยังจะไปอยู่ดี ไปทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นจะมีอาการปวดหัวปวดท้องคลื่นไส้อยู่เป็นสัปดาห์ เพราะไม่มั่นใจว่าจะทำได้จริง จะทำได้ดี จะทำได้สำเร็จ

แต่ตอนนี้ฉันเรียนรู้ที่จะปฏิเสธ พูดว่าไม่ค่ะ, ขอบคุณค่ะ โดยไม่ค่อยรู้สึกผิดมากเท่าเดิม

-เราต้องคิดถึงตัวเองบ้าง นี่ไม่ใช่แง่มุมของการเห็นแก่ตัว แต่เป็นการยอมรับความจริงว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ ชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร เราต้องทำความรู้จักกับความเป็นเราบ้าง- หมอบอก

จริงๆ ได้ปฏิเสธอะไรที่ไม่ชอบไปบ้างก็สบายดี เพราะนอกจากจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้นแล้ว ยังเหมือนเป็นการยืนยันว่าความชอบ/ไม่ชอบของเรานั้นมีความหมาย ถึงไม่มีกับใคร ก็มีกับตัวเราเอง

3.-ใครเป็นสายดองนะ แต่ไม่แสดงออกเหมือนแอดบ้างคร้าบ- ฉันเซฟรูปนี้จากเพจโปรโมตงานหนังสือแล้วส่งกลับไปถึงต้นทาง

ดูนะ, มาขนาดนี้ยังไม่รู้ตัวอีกว่ามันไม่เข้าท่า

ต้นทางในกล่องข้อความสอบถามฉันถึงงานหนังสือปีนี้ที่จะจัดขึ้นที่เมืองทองฯ ว่าในวันเวลาที่ระบุมา ฉันว่างไปทำหน้าที่พูดคุยในวงเสวนาหนึ่งที่จะจัดขึ้นในงานหรือไม่

ฉันเกือบตอบไปตามปกติแล้วว่าไปสิ เอาสิ ไปได้ เหมือนที่เคยเป็นมา

แต่ก็ชะงัก

ทำไมต้องไปนะ ในเมื่อแผนโปรโมตงานนี้ออกมาแสนจะขัดใจฉัน

แม้ผู้จัดงานจะอ้อมแอ้มตอบไปว่าไม่เอากองดอง (คือในหมู่ผู้อ่าน/ซื้อหนังสือคงเข้าใจคำว่ากองดองนี้ดี คือมันต้องซื้อเพราะต้องซื้อ จะอ่านเมื่อไหร่ไม่รู้ อย่ามาถามน่า แต่ฉันจะซื้อ) เป็นแค่กิมมิกเล็กๆ สนุกๆ แต่ยิ่งวันฉันก็ยิ่งไม่เห็นว่ามันจะสนุกขึ้นตรงไหน

เขียนถึงไปแล้วรอบหนึ่ง แล้วก็มีคนมาบอกว่าหลังจากปล่อยแคมเปญเรื่อง No กองดองมาแล้ว เดี๋ยวเค้าก็จะมี Yes กองดองออกมาเหมือนกันนะเธอ

ตอนนั้นก็ได้แต่พยักหน้าหงึกๆ แต่ก็มาคิดได้ว่า

แล้วยังไง?

ฉันอาจจะดูฉาบฉวย เปล่ากลวง ทุนนิยม ซื้อหนังสือราคาหลายร้อยมากองไว้แล้วนั่งดู แต่มันก็เรื่องของฉัน

นี่เป็นโลกที่ฉันไม่ได้ไปเบียดเบียนอะไรใคร และจะได้จัดการมันแบบที่ฉันอยากทำซักที

ฉันกำลังทำอะไรอยู่

ฉันนั่งกินลาบเป็ด ฟังเพลงผัวเก่า แล้วก็พบว่ามันไม่ปวดร้าวเท่าไหร่

ขับรถเลนซ้ายแบบไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบ

ฉันหัดที่จะเมินเฉยตัวเลขแจ้งเตือนข้อความ

รองเท้าผ้าใบออกใหม่ก็ปล่อยให้มันออกไป

และ

งานหนังสืออยากมีก็มีสิ ฉันไม่ไป

“ความรู้สึกที่ว่า คลังหนังสือกองดองของฉันใหญ่โตกว่าตัวตนและจิตวิญญาณของฉันมาก มันอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันรู้สึกเป็นสุขเสมอเมื่อได้จัดกองดอง มันทำให้ฉันรู้สึกตัวเล็ก มันทำให้ฉันรู้สึกว่าการงานของฉันเป็นสิ่งเล็ก เหมือนกับการวาดรูปบนผืนทราย ที่ไม่นานนักน้ำทะเลก็จะกลืนกินมันกลับเข้าสู่พื้นผิวที่เรียบนิ่งเช่นเดิม ไม่จำเป็นที่จะต้องไปซีเรียสกับมัน แต่ในทางกลับกัน มันอนุญาตให้ฉันหัวเราะเยาะตัวเอง และดื่มด่ำไปกับความสวยงามทางโลกที่อจีรัง ด้วยสายตาที่ดูแคลน ด้วยใจที่รู้ว่าสักวันมันก็ต้องจบลง หรือไม่แน่ การจัดหนังสือที่ไม่มีวันเสร็จ ในจิตใต้สำนึกของฉัน คือการย้อนเวลากลับไปกอดเด็กชายอ้วนคนนั้นอีกครั้ง และบอกเขาว่าโลกไม่ได้โหดร้ายอย่างที่เขาคิด”*

ไม่ไปค่ะ

ขอบคุณ

*ข้อความจากเรื่องสั้น -คำสารภาพของนักจัดหนังสือกองดอง- หนึ่งในเรื่องสั้นจากเล่ม “ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ และเรื่องสั้นอื่นๆ” เขียนโดย โอ๊ต มณเฑียร ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ก็องดิดส์บุ๊กส์, มกราคม 2563