เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / ระลึกถึงผู้จากไป

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ระลึกถึงผู้จากไป

 

บทความตอนนี้เป็นเรื่องราวที่เก็บตกจากงานประกาศผลรางวัล “นาฏราช ครั้งที่ 11” เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ในงานวันนั้นได้มีเนื้อหาช่วงหนึ่ง คือการรำลึกถึงคนในวงการวิทยุและโทรทัศน์ที่เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงวันที่จัดงาน

โดยการนำเสนอเป็นภาพวิดีโอประกอบกับการร้องเพลง “หนึ่งในร้อย” กันสดๆ จากสปาย-ภาสกรณ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ ในชื่อชุดการแสดงว่า “รำลึกถึงเพชรแห่งวงการ”

จำนวนผู้เสียชีวิตที่รวบรวมได้มีถึง 21 คน ซึ่งผมจะขอรำลึกผ่านคอลัมน์นี้เพียงบางคนเท่านั้นนะครับ

หนึ่งในนั้นก็คือเพื่อนรักของผมนั่นเอง ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ที่จบชีวิตจากโรคมะเร็งไปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน

และในวันที่เขียนต้นฉบับนี้ก็เป็นวันที่ครอบครัวญาติมิตรได้ประกอบพิธีทำบุญ 100 วันให้กับเขา

 

ตั้วทำงานวงการบันเทิงมาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ จากการถ่ายแบบลงหนังสือ และเล่นละครเวที แต่มาเป็นที่รู้จักในวงกว้างจริงๆ จากการแสดงละครทางช่อง 3 เรื่อง “เก้าอี้ขาวในห้องแดง” ในปีที่เขาเพิ่งเรียนจบจากคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ มาหมาดๆ เป็นพระเอกใหม่หุ่นสูง หน้าตาคมคายหล่อเหลา และมีเสน่ห์ชวนมอง เขาเติบโตในเส้นทางการเป็นนักแสดงอยู่สิบๆ ปี ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นผู้กำกับละคร และภาพยนตร์ในเวลาต่อมา

ผลงานละครเด่นๆ ที่เขาแสดงและได้รับความนิยม เช่น เรื่อง “วนิดา” “วนาลี” “มนต์รักลูกทุ่ง” “ทวิภพ” “น้ำเซาะทราย” รวมทั้งในภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ของท่านมุ้ย เรื่อง “สุริโยไท” ในบทสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

โดยเฉพาะในบทสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้น ตั้วต้องพูดบทมีความยาวเป็นหน้าๆ แต่เขาก็สามารถพูดได้โดยไม่ผิดแม้แต่คำเดียว เป็นความสามารถและความรับผิดชอบในงานอย่างชัดเจน

ผลงานของตั้วมีมากมายในหลายสาขาทั้งละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ละครเวที ละครเด็ก การแสดงละครประกอบแสงสีเสียง รวมทั้งเป็นนักร้องร้องเพลงประกอบละครเองในหลายเรื่อง ที่โด่งดังมากและเขาใช้เดินสายโชว์ตัวได้เป็นปี ก็คือเพลงจากละคร “มนต์รักลูกทุ่ง”

ตั้วจากไปในวัย 59 ปี ถ้าเป็นข้าราชการก็เกือบจะแตะเกษียณอายุอยู่รอมร่อ

 

อีกท่านหนึ่งที่จากไปในวัยใกล้ๆ กับตั้ว คือ พี่อ้อย-กาญจนา จินดาวัฒน์ ด้วยวัย 61 ปี ด้วยโรคหัวใจและโรคมะเร็ง

พี่อ้อยเป็นนางเอกระดับแถวหน้าและโด่งดังมากเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ความจริงได้ฉายแววของการเป็นนางเอกมาตั้งแต่เรียน จนมีคนชักชวนให้เข้าวงการ แต่เจ้าตัวก็ปฏิเสธไปเพราะห่วงการเรียน จนกระทั่งเรียนจบจึงตัดสินใจรับงานแสดง

เป็นนางเอกละครเรื่อง “สาวแก่” และเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมาก รวมทั้งแสดงภาพยนตร์ด้วย โดยภาพยนตร์เรื่องแรกได้จับคู่กับธงไชย แมคอินไตย์ ในเรื่อง “ด้วยรักและผูกพัน”

ครอบครัวแจ้งว่าพี่อ้อยไม่ให้บอกใครว่าป่วยเป็นอะไร เพราะไม่ต้องการให้ใครเป็นห่วง โดยมีสภาพร่างกายแข็งแรงสดใสเหมือนคนทั่วไป จึงสร้างความแปลกใจและตกใจกับคนในวงการและแฟนๆ ละคร เมื่อทราบข่าวว่าพี่อ้อยจากไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา

นอกจากผลงานที่เป็นหลักประกันในความสามารถแล้ว ยังเป็นที่รักใคร่ของพี่-น้อง ลูก-หลานในวงการ ด้วยการวางตัวที่ดี เสมอต้นเสมอปลาย และตั้งใจทำงานมาก

 

อีกหนึ่งท่านที่ขอเอ่ยถึง คือ สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องลูกกรุงในตำนาน เจ้าของฉายา “เสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์” ด้วยลีลาการร้องเพลงและน้ำเสียงที่นุ่มทุ้มลึก มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร กระทั่งนักเขียนชื่อดังอย่าง “‘รงค์ วงษ์สวรรค์” เกิดประทับใจและตั้งฉายาดังกล่าวให้

บทเพลงดังของคุณสุเทพมีมากมาย และหลายเพลงก็ยังเป็นอมตะมาถึงทุกวันนี้ อาทิ “รักคุณเข้าแล้ว” “คนเดียวในดวงใจ” “เพียงคำเดียว” “คนจะรักกัน” โดยมีผลงานเพลงรวมกันราวๆ 3 พันเพลง ซึ่งหลายเพลงเป็นเพลงประกอบละครที่ติดหูผู้ชมอย่างมาก

ภาพจำอย่างหนึ่งของการเป็นนักร้องของคุณสุเทพคือ การจับคู่กันของ “สุเทพ-สวลี” ที่เหมือนเป็นคู่จิ้นสมัยนี้ ทั้งสองมีเพลงคู่ไพเราะมากมาย และเหล่าผู้สูงวัยมักนำมาร้องคาราโอเกะกันเวลามีงานเลี้ยง

และที่เป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจคือ ในปี พ.ศ.2533 คุณสุเทพได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) จากกระทรวงวัฒนธรรม

ทั้งนี้ คุณสุเทพได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ด้วยอายุ 86 ปี

 

มีบุคคลรุ่นใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ได้รำลึกถึงในครั้งนี้ คือ คุณฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือที่มีนามปากกาว่า “พนมเทียน”

เจ้าของนวนิยายดังมากมาย

และหลายเรื่องก็ได้นำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ไม่รู้กี่รอบ เช่น “ละอองดาว” “สกาวเดือน” “เล็บครุฑ” “รัตติกาลยอดรัก”

ผมเคยเขียนถึงท่านในฉบับหลังวันที่ 21 เมษายน ที่ท่านเสียชีวิตลงด้วยวัย 88 ปี สามารถไปหาอ่านกันได้ครับ

 

ท่านต่อมาคือ คุณณภัทร ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม สำหรับท่านนี้อาจจะไม่คุ้นชื่อคุ้นหน้านัก เพราะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังผลงานต่างๆ มากมายทั้งโทรทัศน์และภาพยนตร์

หากใครจำหนังน่ารักที่มีสุนัขเป็นตัวเอกที่ชื่อ “มะหมา 4 ขา” ได้ นั่นแหละ ผลงานการสร้างของคุณณภัทร หรือ “พี่พัด” เป็นความหาญกล้าที่ลุกขึ้นมาทำหนังหมาเป็นโขยงขนาดนั้น และผู้ชมก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี หรือหนังรักโรแมนติกเรื่อง “October Sonata รักที่รอคอย”

นอกจากนั้น งานละครฟอร์มยักษ์หลายเรื่องก็ผ่านการอำนวยการสร้างและดูแลของพี่พัดมาแล้ว เช่น เรื่อง “สี่แผ่นดิน” เวอร์ชั่นล่าสุดที่มีอุ้ม สิริยากร รับบทแม่พลอย และตุ้ย ธีรภัทร รับบทคุณเปรม หรือเรื่อง “อยู่กับก๋ง” “ในฝัน”

ด้วยวัย 69 ปี พี่พัดต้องมาด่วนจบชีวิตลงกะทันหันในวันที่ 10 เมษายน จึงเป็นที่เสียใจและเสียดายต่อคนในวงการอย่างมาก พี่พัดเป็นคนคล่องแคล่ว มนุษยสัมพันธ์ดี รู้จักคนมาก และใจนักเลง จึงได้คิดทำหรือรับทำโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ มาแล้วมากมาย และกลายเป็นผลงานที่จะอยู่คู่ฟ้าบันเทิงไทยตลอดไป

เชื่อว่าถ้าพี่พัดยังมีชีวิตอยู่จะต้องมีงานดีๆ ออกมาอีกอย่างแน่นอน

 

ท่านต่อไปเป็นคนสุดท้ายในการแสดงชุดรำลึกที่ว่านี้ เพราะเพิ่งจากเราไปเมื่อวันที่ 7 กันยายนนี้เอง นั่นคือ “แม่ทุม” หรือ “ปทุมวดี เค้ามูลคดี” ที่อยู่กับอาการป่วยในโรงพยาบาลกว่า 8 ปี โดยมีพ่อรอง หรือรอง เค้ามูลคดี และครอบครับคอยให้กำลังใจดูแลอย่างใกล้ชิด

งานสวดพระอภิธรรมของแม่ทุม มีคนไปร่วมงานคับคั่ง ไม่แต่เฉพาะคนในวงการบันเทิง แต่รวมถึงคนนอกวงการด้วย เพราะเป็นที่รู้ดีว่า “บ้านนี้ใจสปอร์ต”

ที่ว่า “บ้านนี้” หมายถึงบ้านที่ซอยลาดพร้าว 71 ของพ่อรองและแม่ทุม ที่เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของคนในวงการ ใครไม่รู้จะไปไหนก็แวะไปได้ทุกเมื่อ ไปพูดคุยพบปะคนนั้นคนนี้ หรือไม่ก็ไปหาข้าวกิน หรือร่ำสุราเมรัย

เพราะพ่อรองและแม่ทุมล้วนเป็นที่รักนับถือของคนในวงการทุกวัย ทั้งสองมีน้ำใจกับทุกคนเหมือนกับลูกหลานของตน เมื่อแม่ทุมล้มป่วยด้วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ และโรค ALS ทุกคนก็ใจหาย และสงสารอย่างมาก ไม่เชื่อว่าแม่ทุมจะอยู่สู้กับโรคร้ายมาได้นานขนาดนี้

และสัจธรรมก็มาพรากชีวิตแม่ทุมไปด้วยวัย 72 ปี

 

นี่เป็นส่วนหนึ่งของการรำลึก “เพชรแห่งวงการ” ในงานนาฏราชวันนั้น ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้เขียนถึง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนไหน ท่านใด สิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้ทิ้งไว้ก็คือ “ผลงาน” และ “ความรู้สึก”

“ผลงาน” คือ สิ่งที่จับต้องเป็นรูปธรรมที่บ่งชี้ว่า บุคคลคนนี้มีความสามารถด้านไหน ได้ทำอะไรแค่ไหนในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นตัววัดคนและค่าของคนที่สังคมใช้กัน

“ความรู้สึก” คือ สิ่งที่เป็นนามธรรม แต่สะท้อนถึง “ความเป็นเขาหรือเธอ” ของคนคนนั้นยามที่เรานึกถึง พูดถึง รู้สึกถึง

สองสิ่งนี้เป็นเหมือนมรดกที่ตกทอดไว้หลังจากทุกคนจากโลกนี้ไปแล้ว ยามใดที่เราเห็น “ผลงาน” นั้นของเขา เราก็จะนึกถึงเขา และเป็นการนึกถึงตาม “ความรู้สึก” ที่มันสะท้อนอยู่ข้างในใจเรา

ไม่ว่าทั้ง 21 คนที่นาฏราชได้รำลึกถึงไปนั้นเป็นคนตัวใหญ่ ตัวเล็ก หรือทำอะไรมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าความรู้สึกของคนที่ได้รับรู้จะรู้สึก “บวก” หรือ “ลบ” กับคนเหล่านี้เพียงใด แต่พวกเขาและเธอก็ได้จบชีวิตไปแล้ว ทุกอย่างที่เป็นมรดกดังว่าจะเป็นเหมือน “บทเรียน” ให้เราได้เรียนรู้ และคัดกรองเอามาใช้ต่างหาก

ขอรำลึกถึงผู้ที่จากไปทั้ง 21 คนนี้อีกครั้งหนึ่งครับ