เศรษฐกิจ / ถึงคิวพึ่งพา ‘เศรษฐกิจดิจิตอล’ ขับเคลื่อนประเทศ ชดเชยส่งออก-ลงทุน โควิด…ผลักโลก ยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น

เศรษฐกิจ

 

ถึงคิวพึ่งพา ‘เศรษฐกิจดิจิตอล’

ขับเคลื่อนประเทศ

ชดเชยส่งออก-ลงทุน

โควิด…ผลักโลก

ยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น

 

ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยถือเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้หลักจากต่างชาติในสัดส่วนที่สูงมาก หากเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี)

โดยเฉพาะการพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก

ตามข้อมูลโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย พบว่า ไทยเราพึ่งพาภาคการส่งออกและบริการเป็นสัดส่วนสูงกว่า 68.2% ของมูลค่าจีดีพีของประเทศไทย ขณะที่รายได้เกิดจากการบริโภคครัวเรือนต่ำกว่า สะท้อนความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ แต่ก็ยังสูงกว่าสัดส่วนเกิดจากรายจ่ายภาครัฐอยู่ที่ 16.4% และภาคการลงทุนแค่ 23.2%

หากมองอีกด้านของจีดีพี คือ ภาคอุปทานหรือภาคการผลิตนั้น คนส่วนใหญ่จำนวนไม่น้อยคิดว่าจีดีพีภาคการเกษตรจะมีสัดส่วนมากกว่าจีดีพีภาคการผลิต เพราะเกษตรเป็นอาชีพหลักและมีสัดส่วนแรงงานที่สูงกว่าหลายเท่าตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วจากข้อมูลปี 2560-2562 พบว่าภาคการผลิตของภาคการเกษตรคิดเป็นเพียง 8% ของจีดีพี

ขณะที่การผลิตนอกภาคการเกษตร รวมภาคอุตสาหกรรมและบริการ คิดเป็น 92% ของจีดีพี และยังกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมภาคการผลิตกว่า 32% ของจีดีพีด้วย

ซึ่งไม่สอดคล้องกับประเทศไทยที่เรียกได้ว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมหรือครัวของโลก

 

เมื่อครั้งใดที่เศรษฐกิจประเทศต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยง เกิดจากภายในประเทศเอง หรือภายนอกประเทศ เศรษฐกิจก็จะสะเทือนจะมากหรือน้อยก็ว่ากันไป

ล่าสุดที่เรากำลังเผชิญ เริ่มมาตั้งแต่สหรัฐและจีนประกาศทำสงครามการค้าระหว่างกัน (เทรดวอร์) ไม่ว่าจะนำมาตรการกีดกันในการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ไป-มา หรือการสกัดกันการลงทุนการค้าในระยะต่อมาถึงวันนี้ เมื่อมหาอำนาจทางเศรษฐกิจตีกันก็ต้องสะเทือนไปถึงประเทศคู่ค้ากับ 2 ฝ่ายนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลลบชัดเจนถึงวันนี้ การส่งออกติดลบเรื่อยมา ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเมื่อต้องพึ่งพาส่งออกหดตัวลงมาช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ค่าเฉลี่ยของจีดีพีไทยจึงเหลือโตแค่ 3.5-4% เท่านั้น

หากมองในอดีตประเทศไทยมีโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก สำหรับเป็นพื้นที่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก เพื่อป้อนส่งออก สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยในระยะยาวช่วงปี 2530-2539 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.3% โดยเฉพาะปี 2541 เศรษฐกิจเคยโตถึงระดับ 13.3%

ขณะนั้นใครก็มองว่าประเทศไทยจะกลายเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย หรือประเทศที่เศรษฐกิจมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เหมือนอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ซึ่งในปัจจุบันทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวก็ยังเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไทยก็ยังเป็นประเทศกลุ่มกำลังพัฒนา

หากมองภาพกลับไปช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัญญาณเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตแบบชะลอตัวลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553-2557 จีดีพีไทยโตเฉลี่ยปีละ 3.9

สลับภาพปีปัจจุบัน 2563 ขึ้นปีมาก็คาดหวังว่าทุกอย่างต้องดีขึ้น หลังจากเศรษฐกิจไทยเจอมรสุมใหญ่พัดเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ผ่านมาได้ดี

แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ทุกประเทศเลือกใช้วิธีปิดเมือง ออกมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อสกัดโรคไม่ให้แพร่ระบาด เมื่อธุรกิจและการเดินทางระหว่างประเทศหยุดลง

เพียงไม่กี่เดือนเกือบทั้งโลกเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลภาคการผลิต ภาคบริการ การลงทุน และการอุปโภคบริโภคชะงักถึงขั้นหยุดนิ่งไป เกิดภาวะ สุญญากาศด้านเศรษฐกิจ

เมื่อการพึ่งพาเครื่องมือเดิมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปไม่ได้มากนัก รัฐบาลก็พยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายแบบหลายครั้ง แต่ประสิทธิผลก็ยังไม่ได้มากตามคาด!!

 

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาประมวลภาพว่าการพึ่งพาแบบเดิมๆ อาจเจอปัญหาได้อีก ผนวกกับโลกหลังเกิดโควิด-19 ทุกอย่างเปลี่ยน ก็ใช้โอกาสนี้วางรากฐานเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตัวใหม่ จากเดิมเน้นพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกเป็นหลัก และเชื่อว่าโลกยังผันผวนเร็วขึ้น จะพึ่งพาแค่เรื่องเดิมๆ อาจถดถอยได้

จึงใช้ประโยชน์จากเดือนกุมภาพันธ์ที่ได้เปิดประมูลเครือข่ายไร้สาย 5 จี ถือเป็นโครงสร้างที่มีความจำเป็นในการพัฒนาระบบโทรคมนาคม มารวมกับเทคโนโลยีที่กำลังผลักดันให้เกิดขึ้น อย่างปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (ไอโอที) หุ่นยนต์ (โรโบติกส์) ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กเดต้า)

ดังนั้น สิ่งที่จะทำต่อไปคือการกระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ นำ 5 จีมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

โดยในส่วนของภาคธุรกิจ และการใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม อาทิ การรักษาพยาบาล การคมนาคม การสื่อสาร รวมถึงการนำมาใช้พัฒนาภาคการเกษตร โดยประเทศไทยมีประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่จำนวนมาก ซึ่งในอดีตการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคเกษตร มีโอกาสค่อนข้างน้อย เพราะมีราคาแพง โอกาสในการเข้าถึงจึงมีน้อย

กระทรวงดีอีเอส นำโดยพุทธิพงษ์ประกาศว่า จะผลักดันทุกทางเพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิตอล ตัวอย่าง หนุนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้โดยใช้ 5 จี นำร่องในเชียงใหม่ เชียงราย และครบทุกภาคภายใน 1 ปี

ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ที่ตั้งขึ้น เพื่อใช้บริหารจัดการ แต่ละภาคจะมีผลิตภัณฑ์และผลิตผลทางการเกษตรที่แตกต่างกัน อาทิ ใต้มีปาล์ม ยาง อีสานมีข้าว กลางและภาคเหนือมีผลไม้ขึ้นชื่อของไทย

เพื่อสร้างประโยชน์ในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นและยั่งยืนในอนาคต

 

อีกอย่างคือการพัฒนาต้นแบบหมู่บ้านและชุมชนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้โครงการศูนย์ดิจิตอลชุมชน นำร่อง 600 แห่งทั่วประเทศ

คาดว่าภายในเดือนกันยายน ส่งมอบโครงการได้ทั้งหมด

ในโครงการครบด้วยอุปกรณ์พื้นฐาน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ฉาก ไฟ ที่สามารถถ่ายรูปเพื่อขายสินค้าออนไลน์ได้ พร้อมจัดทำเป็นคลิปวิดีโอ ความยาว 5-10 นาที จำนวน 10 คลิปเพื่อแพร่ภาพประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ พัฒนาและสร้างตัวเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในพื้นที่ชุมชนต่อโลกภายนอก

อีกเรื่องที่กำลังเร่ง คือ ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลเชิงการค้าเต็มรูปแบบ เชื่อมโยงบริษัทเอกชน ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี และประชาชนทั่วไป มาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและทำธุรกิจ เพราะทุกคนมีแพลตฟอร์มอยู่ในมืออยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเข้าไปช่วยเรื่ององค์ความรู้ในการต่อยอด เพื่อทำการตลาด และสร้างรายได้ให้กับตนเองต่อไป

นั้นแค่สต๊อปแรกของคำว่า เศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งวันนี้แม้มูลค่าจะแค่ไม่กี่หมื่นล้าน แต่มองว่าไม่เกิน 2-3 ปีจะขยับเป็นหลายแสนล้านบาท

       กับความฝันไทยเมืองการค้าออนไลน์ที่สำคัญได้อีกเมืองของโลก