วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี สู่แผ่นดินใหญ่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ ข้อเขียนชุดนี้ ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมาย เกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

หลังยุคสงครามเวียดนามท่ามกลางโอกาสที่เปิดกว้าง ซีพีมีจังหวะก้าวอย่างโลดโผน สร้างโอกาสได้กว้างกว่าที่คิด

ภาพใหญ่และแนวโน้มสังคมธุรกิจไทยเต็มไปด้วยโอกาส เป็นยุคขยายตัวทางธุรกิจอย่างมากยุคหนึ่ง ในช่วงเวลาการเมืองไทยเข้าสู่ภาวะค่อนข้างนิ่ง อ้างอิงระบบเลือกตั้งบางระดับ มีนายกรัฐมนตรีซึ่งสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องถึง 8 ปี – พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (2522-2531)

ในช่วงต้นมีเหตุการณ์หนึ่งควรบันทึกไว้ด้วย ปี 2522 เกิดวิกฤตการณ์ตลาดหุ้นฮ่องกง ส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค รวมทั้งตลาดหุ้นไทยซึ่งยังอยู่ในระยะเยาว์วัย เป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เกิดวิกฤตสถาบันการเงินไทย

วิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ทำลายโอกาส “หน้าใหม่” อย่างราบคาบ มาจากการล้มลงของสถาบันการเงินชั้นรอง ซึ่งรัฐเปิดโอกาสให้มีขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้น ขณะที่สถาบันการเงินแห่งเครือข่ายธนาคารใหญ่ๆ ผ่านบททดสอบไปได้ กรณีครึกโครมคือ กรณีพีเอสเอ (2518-2524) ซึ่งมีจุดจบเช่นเดียวกันกับ “หน้าใหม่” รายอื่นๆ

มีอีกช่วงปลายยุค มีการลดค่าเงินบาท (ปี 2527) เป็นระยะสะดุด และการปรับตัว เพียงช่วงสั้นๆ อีกช่วงของสังคมธุรกิจไทย ก่อนก้าวทะยานต่อไป

ช่วงเวลาเดียวกันกับ ขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย อ่อนกำลังลง (ตั้งแต่ปี 2522) ขบวนนักศึกษาทยอยออกจากป่า เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน (ปี 2518) จนมาถึงช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นเป็นผู้นำ ได้ประกาศนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-จีนขึ้น (ปี 2521) ด้วย

หลังจากรัฐประสบชัยชนะต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตชนบท กลุ่มธุรกิจฐานในกรุงเทพฯ เดินหน้าขยายกิจการครั้งใหญ่

ภาพหนึ่งในนั้น โฟกัสเครือข่ายธุรกิจสำนักงานทรัพย์สินฯ

โดยเฉพาะเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจีปัจจุบัน) และธนาคารไทยพาณิชย์ เติบโตอย่างมากมาย

ช่วงปี 2525-2530 เครือซิเมนต์ไทยขยายตัวทางธุรกิจมากที่สุดยุคหนึ่ง ทั้งโดยเข้าครอบงำหลายกิจการที่มีปัญหาจากวิกฤตการณ์สลับฉาก และได้สร้างกิจการขึ้นใหม่อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะโครงการร่วมทุนกับธุรกิจญี่ปุ่นถึง 20 โครงการ

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์เติบโตอย่างก้าวกระโดด ในช่วงปี 2522-2531 สินทรัพย์พุ่งขึ้นจากระดับไม่ถึง 5 หมื่นล้านบาท ไปทะลุ 1 แสนล้านบาท สร้างเครือข่ายสาขาอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 100 สาขาในปี 2522 เพิ่มเป็นสองเท่าในปี 2531

 

สู่จีนแผ่นดินใหญ่

สําหรับซีพี มีแผนการใหญ่เช่นกัน ทว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทย

“2522 ร่วมลงทุนกับบริษัท คอนติเนนตัล เกรน ของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งบริษัท “เจียไต๋คอนติ” (Chia Tai Conti) ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง โดยเครือได้ใช้ชื่อ “เจียไต๋” (สำเนียงแต้จิ๋ว) หรือ “เจิ้งต้า” (สำเนียงจีนกลาง) ซึ่งแปลว่าซื่อตรง ซื่อสัตย์ ยุติธรรม และเที่ยงตรง เป็นชื่อในการลงทุนที่ประเทศจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหมายเลข 0001 ดำเนินกิจการโรงงานอาหารสัตว์ ณ เมืองเซินเจิ้น” ข้อมูลทางการของซีพีเองระบุไว้ (อ้างจาก https://www.cpgroupglobal.com/th/about/Milestones)

ขณะเรื่องเล่าของธนินท์ เจียรวนนท์ (ธนินท์ เจียรวนนท์ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”) ได้กล่าวถึงกรณีข้างต้นไว้อย่างตั้งใจ

“เติ้งเสี่ยวผิงประกาศนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 2521 และได้ออกนโยบาย 4 ทันสมัย…ทยอยเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา…เลือกเปิดพื้นที่ที่ใกล้ความเจริญ จะได้ดึงการลงทุน ดึงความเจริญเข้ามา อย่างเซินเจิ้น ข้ามคลองไปก็ถึงฮ่องกงแล้ว และซัวเถา ที่เขาหวังว่าจะดึงการลงทุนจากชาวจีนโพ้นทะเลที่เป็นคนแต้จิ๋วเข้ามา… ปลายปี 2521 ทีมงานของเขาก็บินไปเจรจาที่เมืองจีน…”

เบื้องหลังความสำเร็จนั้นมีบิดาของเขา (เจี่ยเอ็กซอ) อยู่ด้วย จากเรื่องเล่าอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง (“บันทึกความทรงจำ ธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History :Dhanin Chearavanont – NIKKEI แห่งญี่ปุ่น 2559) ว่าไว้

“พ่อของผมดำเนินกิจการฟาร์มมายาวนานที่ซัวเถา มีเพื่อนหลายคนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นที่นั่น แม้ว่าหลายคนได้เสียตำแหน่งไปในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ก็ได้กลับคืนเมื่อช่วงเวลานั้นผ่านพ้น บางคนกลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของมณฑลกวางตุ้ง” เรื่องเล่าได้ยกกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ ว่าด้วยสายสัมพันธ์ “…เขาให้ที่พักส่วนตัวเป็นที่เจรจาเพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างซีพีกับ Continental Grain แห่งสหรัฐ”

Continental Grain หรือ ContiGroup Companies, Inc (CGC) ก่อตั้งขึ้นมากว่า 2 ศตวรรษ ในประเทศเบลเยียม ในฐานะบริษัทการค้าธัญพืช ContiGroup เป็นที่รู้จักกันในนามของ Continental Grain ขยายกิจการเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานและโรงงานใน 10 ประเทศในขณะที่มีพนักงานมากกว่า 13,500 คนทั่วโลก

วันนี้ CGC เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนนอกตลาดหุ้น (privately held corporations) ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

สำหรับเมืองไทย Continental Grain เข้ามาในยุคสงครามเวียดนามเช่นกัน ก่อตั้งบริษัทคอนติเนนตัล โอเวอร์ซีส์ (ซีโอซี) ในปี 2512 เป็นตัวแทนยักษ์ใหญ่ค้าพืชไร่โลก โดยเฉพาะการค้าส่งออกข้าวโพด

แผนการซีพีในประเทศจีนในธุรกิจดั้งเดิมเริ่มต้น ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง ราวๆ 3 ทศวรรษให้ภาพอย่างยิ่งใหญ่

“ในปี 2550 ซีพีเติบโตอย่างแข็งแกร่งในจีน และรายได้จากประเทศจีนนี้คิดเป็น 40% ของรายได้รวมของทั้งเครือซีพี มีมากถึง 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อตั้งบริษัทจำนวนมากถึง 213 บริษัทในทุกมณฑล ยกเว้น Qinghai และจ้างงานมากกว่า 80,000 คน ยอดขายต่อปีสูงเกิน 30 พันล้านหยวน (4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)…”

(บางตอนในกรณีศึกษา International Agribusiness in China : Charoen Pokphand Group, Harvard Business School, November 16, 2009)

ซีพีในจีนมีจังหวะก้าวที่สำคัญมากๆ ขณะยุทธศาสตร์ทางธุรกิจในภาพรวมเวลานั้น เป็นเรื่องใหญ่และตื่นเต้นอย่างมาก

 

ขยายพรมแดนจากธุรกิจสู่ภูมิศาสตร์ใหม่

ในประเทศไทยได้ขยายปริมณฑลทางธุรกิจ โดยอาศัยโมเดลครบวงจร สู่ธุรกิจข้างเคียง โดยเฉพาะ “ปี 2523 เริ่มส่งเสริมเกษตรกรในการเลี้ยงสุกร โดยการรับประกันรายได้ เช่นเดียวกับการเลี้ยงไก่… และในปี 2528 ร่วมทุนกับบริษัทมิตซูบิชิแห่งญี่ปุ่น พัฒนาการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ” (https://www.cpgroupglobal.com)

จากเครือข่ายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน สู่จีนแผ่นดินใหญ่ มีจังหวะก้าวใหม่สู่ภาคพื้นยุโรปด้วย “ปี 2530 เริ่มธุรกิจอาหารสัตว์ที่เมือง Inegol ประเทศตุรกี โดยก่อตั้งบริษัท C.P. Standart Gida Sanayi ve Ticaret A.S.” (https://www.cpgroupglobal.com)

 

เข้าสู่โลกการเงิน

ในช่วงปี 2527-2531 ซีพีได้ทยอยนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยถึง 4 บริษัท โฟกัสเฉพาะธุรกิจการเกษตรครบวงจร ประสานแผนการกับเครือข่ายธุรกิจในภูมิภาค เปิดฉากเข้าตลาดหุ้นไต้หวัน (ปี 2530) ที่สำคัญตามมาด้วย CP Pokpand กิจการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ ได้เข้าทั้งตลาดหุ้นฮ่องกง (2531) และตลาดหุ้นลอนดอน (2533)

ถือเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของธุรกิจไทย ยังไม่มีใครทำในเวลานั้น อาศัยตลาดเงินที่กว้างขวางขึ้น ตามแผนการขยายกิจการเดิมอย่างต่อเนื่อง ขณะเตรียมพร้อมเข้าสู่กิจการใหม่ เมื่อมีโอกาส

“การตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อได้แหล่งสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม และเพื่อไม่ให้เจ้าของกิจการต้องมีภาระรับผิดชอบในลักษณะส่วนบุคคลเกี่ยวกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก” วีรวัฒน์ กาญจนดุล รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสซีพี (เวลานั้น) กล่าวไว้

(อ้างจากกรณีศึกษาของ Harvard Business School ปี 2535)