คุยกับทูต : ซาราห์ เทย์เลอร์ ไทย-แคนาดา เตรียมฉลองครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ตอน 3

ไทยและแคนาดาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังเป็นคู่เจรจาทั้งในระดับองค์การการค้าโลก (WTO) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) รวมถึงความร่วมมือในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และการเข้ามีส่วนร่วมกับอาเซียน

ดร.ซาราห์ เทย์เลอร์ (Her Excellency Dr. Sarah Taylor) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย กล่าวถึงความสัมพันธ์ด้านการลงทุนระหว่างไทย-แคนาดา

“ปัจจุบันมี Celestica ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์, Bombardier เกี่ยวกับรางรถไฟสายสีชมพูใหม่ในกรุงเทพฯ, Magna ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องแรกที่ดิฉันทำเมื่อมาถึงประเทศไทยในเดือนมกราคม เนื่องจากมีการขยายโรงงาน”

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา เปิดเผยว่า นักลงทุนรายใหญ่สุดจากประเทศแคนาดาที่ลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท Celestica ผู้ผลิตและประกอบแผงวงจร PCB สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

บริษัท CCL Industries ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ และบริษัท Osellus Inc. ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ทั้งสี่บริษัทนี้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโตรอนโต

บริษัท Normerica ผู้ผลิตอาหารสัตว์ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Mississauga

และบริษัท SNC-Lavalin ผู้ให้บริการให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมและการจัดการสิ่งแวดล้อม มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองมอนทรีออล

 

บริษัทแคนาดาที่ไปลงทุนในประเทศไทย แต่เงินลงทุนไม่ได้มาจากประเทศแคนาดาโดยตรง ได้แก่ บริษัท Bombardier Transportation ผู้ผลิตอุปกรณ์สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการขนส่งทางราง มีสำนักงานใหญ่ตั้งที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และเป็นบริษัทในเครือภายใต้บริษัท Bombardier Inc. ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครมอนทรีออล

บริษัท Canadoil Group ผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะ โดยพัฒนามาจากบริษัท Canadoil Forge ซึ่งมีจุดกำเนิดที่เมือง Becancour, QC

บริษัท CHC Helicopter ผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์นอกชายฝั่ง มีสำนักงานใหญ่ที่เมือง Richmond, BC

บริษัท HKD Diamond Laboratories ผู้ให้บริการห้องทดสอบคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ Toronto, ON

บริษัท Magna International ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ใหญ่สุดของแคนาดา ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Aurora, ON

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทแคนาดาที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศไทยที่ไม่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ ได้แก่ บริษัท Air Canada ธุรกิจสายการบิน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ Montreal, QC

บริษัท Doi Chaang Coffee Co. ผู้จำหน่ายเม็ดกาแฟ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ Vancouver, BC

บริษัท Fairmont Raffles Hotels International ธุรกิจโรงแรมและสถานพักตากอากาศ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Toronto, ON

บริษัท Four Seasons Hotels and Resorts ธุรกิจโรงแรมและสถานพักตากอากาศ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Toronto, ON

บริษัท Manulife Financial สถาบันทางการเงินและประกันภัย สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Toronto, ON

บริษัท Research in Motion ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Waterloo, ON

และบริษัท Scotiabank สถาบันทางการเงิน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Halifax, NS

“เรายังมี Tim Hortons ซึ่งจำหน่ายชา กาแฟ แซนด์วิช และโดนัท ที่มีชื่อเสียงมากในเครือของแคนาดาและมีหลายสาขาในประเทศไทย ได้แก่ Tim Hortons สาขาอาคารอับดุลราฮิม เพลส ถนนพระราม 4, สามย่านมิตรทาวน์, ซีคอนสแควร์, ซีคอนบางแค, เพลินจิต เซ็นเตอร์, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และ The PARQ รัชดาภิเษก”

 

ท่านทูตเทย์เลอร์เสริมว่า

“เรายังให้ความสนใจในบริษัทสัญชาติแคนาดาในประเทศไทยที่ชื่อ Braincloud เป็นบริษัทเล็กๆ แต่มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาทางไกล มีการสอนภาษาอังกฤษทางไกลและมีโครงการนำร่องในภาคใต้ของประเทศไทยสำหรับโรงเรียนที่ไม่มีทรัพยากรมากมาย เช่น ไม่มีครูต่างชาติ แต่ตอนนี้มีครูสอนนักเรียนทางออนไลน์ มีครูชาวแคนาดาที่สามารถสอนนักเรียนได้โดยตรง และยังช่วยฝึกหัดครูด้านภาษาอังกฤษ”

Braincloud Learning เป็นโปรแกรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทางไกล โดยครูเจ้าของภาษา วิธีการนี้ได้นำมาจากมณฑล Quebec ของแคนาดาที่คนส่วนมากพูดภาษาฝรั่งเศส ในขณะที่ส่วนอื่นของประเทศแคนาดาใช้ภาษาอังกฤษ

Braincloud กับนักเรียนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นโครงการนำร่อง สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งการสอนภาษาอังกฤษ และการขาดแคลนครูสอนภาษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนด้วย เพื่อให้เด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีความรู้เทียบเท่ากับเด็กจังหวัดอื่นในประเทศไทย

“มหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่งมีโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในแคนาดา แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราเพิ่งทำเมื่อเร็วๆ นี้เมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 40 ปีที่เรามีความสัมพันธ์กับอาเซียน คือการจัดตั้งโครงการทุนการศึกษาใหม่เรียกว่า SEED ซึ่งย่อมาจากการแลกเปลี่ยนและการพัฒนาด้านการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดให้นักเรียนทุกประเทศในอาเซียนเดินทางไปแคนาดาเพื่อศึกษาต่อ ปีที่แล้วเรามีนักเรียนประมาณ 140 คน และจากประเทศไทยประมาณ 25 คน ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ตลอดจนสถาบันและองค์กรวิจัยบางแห่งที่ได้รับความช่วยเหลือจากแคนาดา”

“สำหรับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทั้งสองแห่งนี้แคนาดาได้ช่วยในการจัดตั้งขึ้น ดังนั้น เราจึงมีส่วนร่วมในการเริ่มต้น และดิฉันคิดว่ามหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดบางแห่งก็มีความเชื่อมโยงกับแคนาดา แต่ดิฉันยังไม่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนในช่วงนี้”

 

ผลกระทบต่อแคนาดาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

“เนื่องจากเรามีพรมแดนที่เปิดกว้างและมีการเชื่อมโยงอย่างกว้างขวางกับเอเชียและยุโรป แคนาดาจึงมีอัตราการติดเชื้อ COVID-19 ค่อนข้างเร็ว และเช่นเดียวกับประเทศไทยที่เรามีประสบการณ์และระบบที่แข็งแกร่งขึ้นจากการรับมือกับการระบาดของโรคซาร์สในปี 2002 ดิฉันคิดว่าเราทุกคนต่างรู้สึกตกใจกับความรุนแรงและความเร็วของไวรัสตัวใหม่นี้”

“ตอนแรกเราค่อนข้างลำบากเพราะมีผู้เสียชีวิตในแคนาดาทั้งหมดประมาณ 9,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดการแพร่ระบาดหลายครั้งในบ้านพักคนชรา ซึ่งผู้สูงอายุจำนวนมากได้รับเชื้อโควิดและเสียชีวิตจำนวนสูง อันเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับเรา”

“แต่แนวทางของเราก็คล้ายกับประเทศไทย ที่มีความพยายามอย่างมากเพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนสวมหน้ากากอนามัย ฝึกการล้างมือบ่อยๆ และการปลีกตัวทางสังคม และอื่นๆ ตอนนี้สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้นมาก ดูเหมือนว่าสิ่งต่างๆ จะอยู่ภายใต้การควบคุม”

“ประสบการณ์ของเราบางอย่างก็คล้ายคลึงกับประเทศไทย จังหวัดที่มีประชากรน้อยและเชื่อมโยงกับภายนอกน้อย สามารถจำกัดการติดเชื้อได้ค่อนข้างเร็ว แต่เมืองโตรอนโต มอนทรีออล และแวนคูเวอร์ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของแคนาดาและมีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศมากที่สุด ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ และภูเก็ต ซึ่งชาวแคนาดาจำนวนมากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ”

“มาตอนนี้ เรายังต้องระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยง หรืออย่างน้อยก็ลดผลกระทบหากมีการแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 นั่นเป็นความท้าทายสำหรับแคนาดา สำหรับประเทศไทย และสำหรับทุกประเทศที่เราจะต้องเผชิญร่วมกันในระดับโลก”

“ดิฉันคิดว่ารัฐบาลไทยทำงานได้ดีโดยเฉพาะด้านการแพทย์ เมื่อไม่นานมานี้ดิฉันได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทย และได้แสดงความยินดีต่อนายกรัฐมนตรีที่การตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยได้ผลโดยมีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำมาก จึงนับเป็นเรื่องที่ดีมากๆ”

 

“แคนาดาได้ทำแพ็กเกจทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยสนับสนุนผู้คนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ดิฉันทราบว่าประเทศไทยก็ดำเนินการเรื่องนี้เช่นกัน และเราหวังว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จ โดยเราจะพยายามหาทางร่วมมือกันในวงกว้างกับหลายๆ ประเทศทั่วโลกในการทำงานเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และพยายามดึงเศรษฐกิจกลับคืนให้ได้เปิดการซื้อขายอีกครั้ง และเพื่อให้แน่ใจว่า Supply Chain ยังคงทำงานอย่างถูกต้อง”

Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทาน หมายถึง กระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เกิดสินค้าขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการจัดซื้อ (Procurement) การผลิต (Manufacturing) การจัดเก็บ (Storage) เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) การจัดจำหน่าย (Distribution) และการขนส่ง (Transportation) ตั้งแต่ก่อนและหลังการผลิตสินค้าจนไปถึงมือผู้บริโภค

ดังนั้น ทุกกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมาต้องทำงานสอดคล้องกันและมีประสิทธิภาพ เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อ “ต้นทุนการผลิต” และที่สำคัญ คือ “ความพึงพอใจ” ของผู้บริโภค (ลูกค้า) ดังนั้น เพื่อต้องการให้ผู้บริโภค หรือ End Consumer ประทับใจในสินค้าหรือบริการ เจ้าของสินค้าหรือผู้ผลิตสินค้าต้องมีระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทาน

หรือที่เรียกกว่า Supply Chain Management ที่มีประสิทธิภาพ

 

“สถานทูตของเรามีมาตรการพิเศษเช่นกัน ในช่วงที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 พุ่งสูง เราให้ความสำคัญกับสองเรื่อง หนึ่ง คือการช่วยเหลือและสนับสนุนชาวแคนาดาโดยเฉพาะชาวแคนาดาจากไทย ลาว และกัมพูชา ที่ต้องการกลับบ้าน และอีกเรื่องคือ การตรวจสอบให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ของเราปลอดภัย”

“เนื่องจากมีเที่ยวบินพาณิชย์ ดังนั้น เราจึงสนับสนุนให้ผู้คนเดินทางด้วยเที่ยวบินพาณิชย์เป็นหลัก เพราะเราไม่มีเที่ยวบินส่งกลับ (repatriation flight) จากประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวชาวแคนาดาจำนวนมากในประเทศไทย ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวชาวแคนาดาเกือบ 150,000 คน และอีกประมาณ 15,000 คนที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย”

“สถานการณ์ที่ยากลำบากมากเกิดขึ้นในลาวและกัมพูชา แต่เรามีสำนักงานอยู่ที่นั่นซึ่งรายงานให้ดิฉันทราบ เจ้าหน้าที่ของเราต้องไปที่สนามบินและที่ท่าเรือด้วย ตอนนั้น มีเรือสำราญชื่อ เวสเตอร์ดัม จอดเทียบท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์ของกัมพูชา และมีชาวแคนาดาเกือบ 150 คนอยู่บนเรือ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของเราจึงต้องไปที่ท่าเรือ โรงแรม และสนามบินเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนมาก แม้ว่าเราจะได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานของกัมพูชาก็ตาม”

“สำหรับสถานทูตแคนาดาที่กรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดประมาณ 70 คน เจ้าหน้าที่มากกว่าครึ่งทำงานจากที่บ้าน และประมาณ 30 คนแบ่งออกเป็น 2 ทีม สลับกันมาทำงานทุกสัปดาห์ เรามีเวลามากมายในการทำงานจากที่บ้าน และมีการประชุมที่ดีมากโดยใช้ Zoom และ MS team สำหรับการประชุมเสมือนจริง แต่ก็ใช้เวลาไม่น้อยทีเดียวในการปรับตัว ซึ่งเราก็สามารถทำได้และเปลี่ยนไปให้บริการเฉพาะชาวแคนาดาเท่านั้น เราพยายามทำงานทั้งหมดจากทางไกล แทนที่จะให้คนเดินทางมายังสถานทูตตามปกติ”

“เราสามารถดำเนินงานทางโทรศัพท์หรืออีเมล อันเป็นความพยายามที่ต้องการลดจำนวนคนมาสถานทูตให้ได้มากที่สุด”

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้มีหลายบริษัท หลายองค์กร เปลี่ยนวิธีการทำงาน จากเดิมที่ต้องให้พนักงานเดินทางไปทำงานที่บริษัท เปลี่ยนเป็นการทำงานในรูปแบบ Work from Home หรือการทำงานที่บ้าน และหน้าที่ที่ตามมาถ้าเกิดว่าต้องทำงานแบบ Work from Home ก็คือ “การประชุม” หรือการใช้ VDO Conference สำหรับวิธีการใช้งานของแอพพ์ Zoom ซึ่งเป็นแอพพ์ที่หลายๆ บริษัท หลายๆ องค์กรเลือกนำมาใช้งานในช่วงนี้

โควิดบอกเราว่า ทุกวิกฤตมีโอกาส เราต้องเรียนรู้และได้ประโยชน์จากทุกวิกฤต ท่านทูตซาราห์ เทย์เลอร์ ให้ความเห็นว่า

“หลายสิ่งที่เกิดขึ้น สำหรับเราและสำหรับหลายๆ คน ทำให้ได้รู้ว่า มีเทคโนโลยีมากมายหลายรูปแบบที่เราสามารถนำมาใช้ได้ แต่เราไม่เคยใช้มาก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ เราควรจะมีการประชุมโดยใช้ Zoom แต่เราก็ไม่ได้ทำ มาตอนนี้ เราจึงถูกผลักดันให้ต้องทำ และดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกคน ทำให้เรารู้ว่า การประชุมในสำนักงานที่เราเคยทำมาก่อนนั้น บางทีเราก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางเพื่อไปประชุมด้วยตนเอง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีอย่างหนึ่ง”