วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี เปิดฉากธุรกิจครบวงจร

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

ปลายยุคสงครามเวียดนาม ซีพีได้ก้าวอย่างมีจังหวะที่แตกต่าง ในฐานะธุรกิจแห่งภูมิภาค

ในภาพใหญ่และแนวโน้มสังคมธุรกิจไทย ช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยโอกาส เป็นยุคขยายตัวทางธุรกิจอย่างมากมายยุคหนึ่ง

มองผ่านธุรกิจรากฐานเก่าแก่ของสังคมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เวลาและโอกาส หลังจากแสดงบทบาทอย่างจำกัดมาหลายทศวรรษ การปรับตัวครั้งใหญ่ ตามแผนการขยายเงินทุนให้มากขึ้น เพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจจากโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น

เปิดฉากขึ้นปี 2516 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เพิ่มทุนทันทีจาก 3.5 ล้านบาทเป็น 40 ล้านบาท ที่สำคัญมีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจิตร ยศสุนทร เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากแบงก์ชาติ มาดำรงตำแหน่งแทน อาภรณ์ กฤษณามระ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2487) จากนั้นธนาคารเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยพลิกโฉมหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ส่วน เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) จุดเริ่มต้นการกู้เงินก้อนใหญ่จาก IFC (ปี 2512) เป็นช่วงเวลาการขยายกำลังการผลิตปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการบริหาร เปลี่ยนมือจากเดนมาร์กสู่คนไทย (ปี 2517) พร้อมเสริมทีมมืออาชีพ เป็นความสำเร็จในช่วงต่อสำคัญ สร้างความสามารถในการแข่งขัน คงความเป็นผู้นำทางธุรกิจในระยะผ่านจากการผูกขาดสู่ยุคการแข่งขันอย่างจำกัด

มองผ่านบทบาทธนาคารสำคัญ 2 แห่ง ระบบธนาคารครอบครัวสถาปนาขึ้นเป็นโมเดลตามจังหวะก้าวที่สำคัญ

หนึ่ง-ลงทุนในกิจการที่สนับสนุนธุรกิจธนาคารให้มีบทบาทกว้างขึ้น โดยเฉพาะประกันภัย ประกันชีวิต และคลังสินค้า

สอง-ลงทุนในกิจการเครือข่ายธุรกิจครอบครัวและพันธมิตรอย่างกว้างขวาง

กรณี ธนาคารกรุงเทพ สนับสนุนการค้าส่งออกสินค้าพืชไร่และส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อทดแทนการนำเข้า ร่วมมือกับเครือข่ายนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนและเครือข่ายชาวจีนโพ้นทะเล

ส่วน ธนาคารกสิกรไทย มีความสัมพันธ์กับนักลงทุนของโลกตะวันตกมาแต่ต้น ได้สร้างความสัมพันธ์กับธุรกิจอเมริกันเป็นพิเศษ ด้วยการก่อตั้งกิจการร่วมทุนในประเทศไทยจำนวนมาก

บทบาทบุกเบิกสาขาต่างประเทศของ ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารกสิกรไทย นั้นน่าสนใจ

โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพในช่วงปี 2520 มีเครือข่ายสาขาอย่างโฟกัสที่ฮ่องกง มีมากถึง 4 แห่ง ขณะครอบคลุมทั้งภูมิภาคด้วย ไม่ว่าที่สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวันและอินโดนีเซีย รวมทั้งญี่ปุ่น โดยเฉพาะราวๆ ปี 2514 ธนาคารกรุงเทพเปิดสาขาที่นิวยอร์ก และ 2-3 ปีต่อมา ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดสาขาที่นั่นเช่นกัน เป็นช่วงใกล้เคียงกับที่ซีพีเปิดสำนักงานตัวแทนขึ้นที่นิวยอร์ก

ถือเป็นจังหวะที่สำคัญ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบทบาทระดับภูมิภาคของซีพีในเวลานั้นด้วย

 

ซีพีสร้างฐานธุรกิจในประเทศไทย จากผู้นำอุตสาหกรรมอาหารสัตว์สู่ธุรกิจครบวงจร ไม่เพียงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เป็นไปตามกระแสและโอกาสที่เปิดกว้างของสังคมธุรกิจไทยยุคนั้น โดยเฉพาะการเปิดตลาดส่งออกที่สำคัญ

“ในปี พ.ศ.2515 โรงชำแหละไก่แห่งแรกที่บางนานำเข้าเครื่องแช่แข็งจากบริษัทคู่ค้าในประเทศญี่ปุ่น… ในปีต่อมา เครือเจริญโภคภัณฑ์เริ่มส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งไปญี่ปุ่น โดยผ่านบริษัท Itoman Corporation (ปัจจุบันคือบริษัท Sumikin Bussan) เมื่อเห็นความสำเร็จของเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทอื่นๆ ในประเทศไทยก็เริ่มลงทุนทำธุรกิจเลี้ยงไก่อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ช่วงหนึ่งญี่ปุ่นนำเข้าเนื้อไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทยถึงร้อยละ 30 ของเนื้อไก่สดแช่แข็งที่นำเข้าทั้งหมด” เรื่องเล่าให้ภาพชัดเจน (จาก “บันทึกความทรงจำ ธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont – NIKKEI แห่งญี่ปุ่น 2559)

ที่สำคัญกว่านั้น กลายเป็นความชำนาญ เป็นโมเดลธุรกิจลักษณะเฉพาะตัว โดยซีพีเลือกเส้นทางที่แตกต่าง เป็นธุรกิจไทยสำคัญรายเดียวในเวลานั้นก็ว่าได้ ในความพยายามขยายเครือข่ายธุรกิจสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งออก “โมเดลธุรกิจ” ไปในระบบเศรษฐกิจที่มีความพร้อม ที่มีความเป็นไปได้

เชื่อว่ามีแรงจูงใจสำคัญ มาจากยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงรุกของผู้นำวัยหนุ่ม-ธนินท์ เจียรวนนท์ ในเมื่อฐานสำคัญในประเทศมีแรงเสียดทานพอสมควร สำหรับธุรกิจบุกเบิกใหม่ที่ค่อนข้างมีความอ่อนไหว การขยายตัวเชิงภูมิศาสตร์จึงเป็นทางออก เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ

ดังที่กล่าวถึงมาในตอนที่แล้ว ในกรณีฮ่องกง อินโดนีเย และมาเลเซีย ยังอีกบางกรณีควรกล่าวถึง เพื่อเชื่อมโยงถึงผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญ

“ผมจึงได้เปิดโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรกที่ไต้หวันในปี พ.ศ.2510…ต่อมากิจการที่ไต้หวันได้พัฒนาไปสู่ธุรกิจเลี้ยงไก่และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากเนื้อสัตว์ ขณะที่บริษัทซึ่งจดทะเบียนในท้องถิ่นก็เปลี่ยนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันด้วย” (อ้างแล้ว “บันทึกความทรงจำ ธนินท์ เจียรวนนท์”)

การบุกเบิกในไต้หวันโดยธนินท์ เจียรวนนท์เอง สะท้อนบทบาทเชิงรุกของผู้บุกเบิกซึ่งทำงานประสานกันเป็นทีม

 

บางภาพในกรณีไต้หวัน มองผ่านเรื่องราวชีวิตบุตรชายคนเล็ก ผู้เป็นประธานกรรมกรารบริหารเครือซีพีในขณะนี้ (ศุภชัย เจียรวนนท์)

“…เมื่อธนินท์จำเป็นต้องเดินทางไปบุกเบิกธุรกิจที่ไต้หวัน ศุภชัยก็ต้องเดินทางไปด้วย เข้าโรงเรียนนานาชาติที่นั่น (Taipei American School) ในช่วงประถม 3 เป็นเวลา 1 ปี ในช่วงเดียวกับโรงงานอาหารสัตว์ที่ไต้หวัน (Taiwan Pokphand Feed Co., Ltd) ในปี 2520” บางส่วนของข้อเขียนของผมเอง (2545) เนื้อหาบางส่วนมาจากบทสนทนากับศุภชัย เจียรวนนท์ Taiwan Pokphand Feed Co., Ltd ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Charoen Pokphand Enterprise (Taiwan) Co., Ltd และเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไต้หวันในปี 2542

ขณะเดียวกัน สุเมธ เจียรวนนท์ (พี่ชายธนินท์ เจียรวนนท์) เป็นผู้บุกเบิกที่อินโดนีเชีย อย่างที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว ที่น่าตื่นเต้นกว่านั้น คือเรื่องราวของเจี่ย เอ็กชอ บิดาและผู้ก่อตั้งซีพี มีบทบาทอย่างเงียบๆ ในเวลานั้นด้วย

“สุภกิต เจียรวนนท์ (บุตรคนโตของธนินท์ เจียรวนนท์) มีความใกล้ชิดกับปู่ (เจี่ย เอ็กชอ) มาก ถึงขั้นต้องไปเรียนหนังสือที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเวลา 12 ปี ในช่วงปู่ต้องพำนัก ทำงานบุกเบิก หรือติดตามการค้าอยู่ที่นั่น อันถือเป็นยุคสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ของภูมิภาค ช่วงเดียวกับซีพีกำลังเติบโต หลังปี 2505 เมื่อธนินท์ เจียรวนนท์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ…” (บางตอนในข้อเขียนปี 2545)

เรื่องราวสะท้อนบทบาทเจี่ย เอ็กชอ ในช่วงซีพีกำลังมุ่งสู่ภูมิภาค มีอีกบางเรื่องพอจะยกขึ้นเป็นรูปธรรม “เจี่ย เอ็กชอ อยู่ที่นั่นก่อนแล้ว ทำงานหลายอย่างที่สำคัญๆ ไม่ว่าการติดตามสถานการณ์ หรือซื้อเครื่องจักรเก่าที่สิงคโปร์ (อย่างเช่น จากบริษัท FE Zeillic, Switzerland) สำหรับการผลิตอาหารสัตว์ในเมืองไทย ตั้งแต่ราวปี 2510 จนถึงการสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่สิงคโปร์ในปี 2519 (Chia Tai Feedmill Pte. Ltd)”

ว่าไปแล้ว เรื่องราวเรื่องเล่าของธนินท์ เจียรวนนท์ เกี่ยวกับบิดา ดูสอดคล้องกันอยู่บ้าง โดยอ้างถึงช่วงเวลา “ระหว่างปี พ.ศ.2503-2513 ซึ่งเป็นช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน…กิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคเอกชนถูกระงับ” อันที่จริง กว่าช่วงเวลายากลำบากในแผ่นดินใหญ่จีนนั้นจะสิ้นสุดกินเวลาถึงปี 2519 ขณะที่การต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเพิ่งเข้าสู่ช่วงเข้มข้น กว่าจะคลี่คลายในราวปี 2523-2524

“…ในช่วงนั้นรัฐบาลไทยก็ดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ คุณพ่อจึงไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ ต้องอาศัยอยู่ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ และเฝ้าคอยติดตามสถานการณ์ของจีนแผ่นดินใหญ่ คุณพ่อมักจะพูดกับผมว่า “ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ เมื่อโอกาสมาถึง จะได้กลับเมืองจีนได้ทุกเมื่อ” (“บันทึกความทรงจำ ธนินท์ เจียรวนนท์”)

เมื่อเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ได้ ซีพียุคธนินท์ เจียรวนนท์ ธุรกิจแห่งภูมิภาค จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริง