คนมองหนัง | เรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมือง ยุค “สงครามเย็น” ที่ “หอภาพยนตร์”

คนมองหนัง

ยานอวกาศแห่งบ้านนาบัว

สําหรับคอหนังที่เคยชมและรู้จักภาพยนตร์เรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” และโครงการศิลปะ “Primitive Project” (โครงการดึกดำบรรพ์/โปรเจ็กต์ดักดาน) ของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”

คงจดจำกันได้ว่าในโครงการศิลปะนานาชนิดซึ่งพูดถึงการเดินทางเพื่อค้นคว้าแสวงหาจิตวิญญาณและความทรงจำของผู้คนในภาคอีสาน โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ “บ้านนาบัว” จังหวัดนครพนม อันเป็นจุดปะทะสำคัญระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2508 (วันเสียงปืนแตก) นั้น

มีวัตถุสิ่งของ/งานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ปรากฏขึ้นอย่างโดดเด่น นั่นคือ “ยานอวกาศ” ที่อภิชาติพงศ์ร่วมลงมือสร้างสรรค์กับบรรดาชาวบ้านในพื้นที่

ในปี 2555 ทางทีมงานของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้เดินทางไปสำรวจ “ยานอวกาศ” ที่ยังตั้งอยู่ ณ บ้านนาบัว อันนำไปสู่การอนุรักษ์-บูรณะซ่อมแซม “ยานอวกาศลำเดิม” ซึ่งเริ่มชำรุดทรุดโทรม

รวมทั้งได้จัดทำ “ยานอวกาศจำลอง” ขึ้นมาอีกหนึ่งลำ โดยทีมช่าง/ชาวบ้านกลุ่มเดิม เพื่อนำมาจัดแสดงที่หอภาพยนตร์ ศาลายา เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี “ลุงบุญมีระลึกชาติ” และ “Primitive Project”

ทั้งหมดนี้ได้ประกอบกันขึ้นเป็นนิทรรศการ “ยานอวกาศแห่งบ้านนาบัว” ซึ่งมีเนื้อหาจัดแสดงสองส่วน ได้แก่

ส่วนแรก บอกเล่าถึงเบื้องหลังการสร้างยานอวกาศ บทบาทของยานในผลงานศิลปะของผู้กำกับฯ ไทย เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ รวมทั้งกระบวนการสำรวจและอนุรักษ์ยานลำเดิมที่บ้านนาบัว

ส่วนที่สอง คือการเปิด “ยานอวกาศจำลอง” ให้ผู้เยี่ยมชมเข้าไปมีประสบการณ์ร่วม เพื่อหลบหนีจากชีวิตจริงอันน่าเบื่อหน่าย หรือล่องลอยไปกับความฝัน-ความทรงจำ ฯลฯ ได้อย่างอิสระ พร้อมทั้งคงบรรยากาศ แสง สี และเสียงแบบเดิมเอาไว้

หอภาพยนตร์ฯ ยืนยันว่า การจัดแสดงครั้งนี้จะยึดถือเจตนารมณ์ของอภิชาติพงศ์ไว้อย่างครบถ้วน ทั้งในเชิงสุนทรียศาสตร์ และในเชิงการถ่ายทอดเนื้อหาและอุดมการณ์ของชิ้นงาน

นี่เป็นความสืบเนื่องจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ประชาชนเริ่มลุกฮือต่อต้านอำนาจรัฐในยุคสงครามเย็น มาสู่ผลงานภาพยนตร์รางวัลปาล์มทองคำและโครงการศิลปะรายรอบ ซึ่งทั้งหมดจะปรากฏซ้ำอีกครั้งในปี 2563

นิทรรศการ “ยานอวกาศแห่งบ้านนาบัว” จะจัดแสดง ณ โถงชั้น 2 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ ศาลายา โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายนเป็นต้นไป

หนังโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์เรื่องแรกๆ ของไทย

“คําสั่งคำสาป” เป็น “ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์” เรื่องแรกๆ ของไทย ที่หอภาพยนตร์ฯ เพิ่งค้นพบจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา

หนังเล่าเรื่องราวของกลุ่มคนหนุ่มที่มีทั้งนักสืบและนักวิชาการ ซึ่งร่วมกันสืบหาเบื้องหลังของเหตุการณ์ลึกลับ เมื่อรูปปั้นของ ดร.ทองคำ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีใจรักประชาธิปไตยและมีผู้คนศรัทธาเป็นจำนวนมาก กลับเปล่งเสียงเชิญชวนให้ผู้คนเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ ซ้ำยังเกิดเหตุฆาตกรรมปริศนาภายในบ้าน

“คำสั่งคำสาป” เป็นผลงานของทีมสร้างภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา แต่นำแสดงโดยนักแสดงไทยที่โด่งดังจากยุคละครเวทีเฟื่องฟูระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ วสันต์ สุนทรปักษิน, สวลี ผกาพันธุ์, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, อารี โทณะวณิก, อุโฆษ จันทร์เรือง, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม และ เฉลิม เศวตนันท์

โดยผู้ประพันธ์เนื้อเรื่องคือ “กุมุท จันทร์เรือง” หนึ่งในนักเขียนบทละครเวทีที่มีชื่อเสียงที่สุดในเวลานั้น นอกจากนี้ ยังมีนักหนังสือพิมพ์อย่าง “ประหยัด ศ.นาคะนาท” เจ้าของนามปากกา “นายรำคาญ” เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

สันนิษฐานว่า “คำสั่งคำสาป” ถูกสร้างขึ้นในปี 2494 แต่ติดปัญหาเรื่องการจัดจำหน่าย กระทั่งมีผู้นำหนังเวอร์ชั่นตัดต่อใหม่ที่สั้นกว่าฉบับดั้งเดิม มาจัดฉายในไทยเมื่อปี 2497

ในวันเสาร์ที่ 26 กันยายน หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมภาพยนตร์สนทนาหัวข้อ “คำสั่งคำสาป : ร่างทรงฮอลลีวูดของหนังไทยในสงครามเย็นที่เพิ่งค้นพบ” ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา ชั้น 6 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ ศาลายา

โดยจะมีการจัดฉายภาพยนตร์ทั้งในฉบับดั้งเดิม (ความยาว 138 นาที) และฉบับสั้น (ความยาว 102 นาที)

รวมทั้งมีการสนทนากับ “ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา” นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยโดยเฉพาะในยุคสงครามเย็น

และ “ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง” อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เขียนหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500”

ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมของทั้งสองกิจกรรมได้ที่ https://www.fapot.or.th/