ต่างประเทศ : โควิดกับปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาใหญ่ในสังคม “อินเดีย”

อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก แซงหน้าบราซิลไปเรียบร้อย และตามหลังเพียงแค่สหรัฐอเมริกา ที่ยังคงครองอันดับ 1 อยู่ในขณะนี้

หลังจากอินเดียมีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นวันละ 8-9 หมื่นรายติดต่อกันหลายวัน จนทำให้ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งแซงหน้าบราซิลไปเรียบร้อย ด้วยตัวเลขผู้ป่วยสะสมที่ทะลุเกินกว่า 4.2 ล้านคนไปแล้ว

หากแต่นอกเหนือจากโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอย่างหนักในอินเดียแล้ว ยังมีปัญหาสุขภาพโรคจิตอีกอย่างหนึ่ง ที่พบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น

ซีเอ็นเอ็นรายงานเรื่องนี้เอาไว้ว่า หลังจากรัฐบาลอินเดียได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปเมื่อเดือนมิถุนายน เพื่อให้ประชาชนได้เริ่มการกลับมาใช้ชีวิตปกติกันได้

แต่ผลกระทบจากการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้คน ที่พบว่ามีเพิ่มสูงขึ้น

 

ผลการวิจัยที่จัดทำโดยมูลนิธิป้องกันการฆ่าตัวตายในอินเดีย (เอสพีไอเอฟ) เมื่อเดือนพฤษภาคม พบว่าเกือบ 65 เปอร์เซ็นต์ของจิตแพทย์ 159 คนในกลุ่มสำรวจ บอกว่า มีผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตที่ทำร้ายตัวเองเพิ่มมากขึ้น ขณะที่กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของนักบำบัดโรคที่สำรวจความเห็น ระบุว่าผู้ที่ดูแลผู้ป่วยต่างมีความเหนื่อยล้าในการทำงาน และกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่า ความเหนื่อยล้านี้ส่งผลกระทบต่องาน

ขณะที่ผลการสำรวจอีกชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนเมษายนของสมาคมจิตวิทยาอินเดีย ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่าง 1,685 คน มีถึง 40 เปอร์เซ็นต์ที่กำลังมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น มีความวิตกกังวลและหดหู่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19

และแม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่ดูเหมือนสถานการณ์เกี่ยวกับภาวะจิตใจของผู้คนดูเหมือนจะไม่ดีขึ้น

โดยผู้เขียนรายงานบอกกับซีเอ็นเอ็นเมื่อเดือนสิงหาคมว่า ผู้คนมีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่าจะจบลงเมื่อใด

 

ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ประเทศอินเดียมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในเอเชียใต้ ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์บอกว่า ระบบสาธารณสุขด้านโรคจิตต่างทำงานกันล้นมือ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น

เนลสัน โมเสส ผู้ก่อตั้งเอสพีไอเอฟ บอกว่าตอนนี้มีผู้ป่วยด้านจิตเวชเพิ่มขึ้นอย่างมาก และยังมีผู้ป่วยโควิด-19 บรรดาเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ต้องเผชิญกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่แนวหน้าทั้งหลายเกิดความเหนื่อยล้า

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าอินเดียจะเผชิญกับปัญหาที่ประชากรมีอาการทางจิตมานาน หากแต่กลับดูเหมือนไม่เคยมีการพูดคุยเพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าว

ปี ค.ศ.2016 สำนักสำรวจจิตเวชแห่งชาติ ที่ทำการสำรวจใน 12 รัฐของอินเดีย เพื่อแยกกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตออกเป็นกว่า 50 กลุ่ม

หนึ่งในผู้ร่วมทำการสำรวจบอกว่า โดยปกติแล้ว คนทั่วไปเชื่อว่าผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตจะเป็นคนที่ไร้ความสามารถ ไม่มีเหตุผล ไม่น่าไว้ใจ

และผลที่ตามมาคือ คนเหล่านี้จะมีโอกาสในการแต่งงานที่ต่ำ

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การที่อินเดียไม่ค่อยให้ความใส่ใจกับปัญหาสุขภาพจิต ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะขาด “ศัพท์เฉพาะทาง” ที่ใช้สำหรับโรคนี้ เพราะภาษาที่ใช้กันอยู่ในอินเดีย 22 ภาษานั้น ไม่มีคำไหนที่หมายถึง “สุขภาพจิต” หรือ “หดหู่”

แต่มีคำที่หมายถึง “เศร้า” “โศก” หรือ “แย่” ในภาษาอูรดู และในภาษาอื่นๆ ที่ใช้กันในอินเดีย

ขณะที่สังคมในอินเดียนั้น ไม่ชอบที่จะพูดเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ความรู้สึกหดหู่หรืออ่อนแอ แต่เป็นการง่ายกว่าถ้าจะพูดเรื่องอาการป่วยทางกายต่างๆ เนื่องจากถูกสอนกันมาว่า “อย่าพูดอะไรที่ไปรบกวนคนอื่น”

ดังนั้น ปัญหาอาการทางจิตจึงถูกปัดเข้าใต้พรม และทำให้กลายเป็นเรื่องเล็ก ทำให้บางคนที่มีปัญหาทางจิตพยายามไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร แม้ว่าจริงๆ แล้วจะต้องการการรักษาก็ตาม

ตามผลสำรวจของสำนักสำรวจจิตเวชแห่งชาติเมื่อปี 2016 ระบุว่า 83 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตเวชในอินเดีย ไม่ได้เข้าถึงการรักษาอย่างที่ควรจะเป็น

ในปีเดียวกัน ตัวเลขขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุว่า อินเดียมีสัดส่วนของจิตแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่สัดส่วนของนักจิตวิทยามีน้อยกว่านั้นอีก เปรียบเทียบกับในสหรัฐอเมริกา ที่มีจิตแพทย์ 100 คนต่อประชากร 1 ล้านคน และมีสัดส่วนของนักจิตวิทยาเกือบ 300 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน

ซีเอ็นเอ็นรายงานด้วยว่า ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตในอินเดียหลายกรณี พบว่าจะสามารถเข้าถึงการรักษาได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าอาศัยอยู่ที่ใดด้วย เพราะยิ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง การเข้าถึงการรักษาก็จะยิ่งยากมากขึ้น

เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้อินเดียมีผู้ป่วยทางจิตจำนวนสูงมาก และการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของประชากรกว่า 1,300 ล้านคนในอินเดียก็คงเป็นความท้าทายที่ใหญ่มาก

 

หากแต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น

เมื่อมีความริเริ่มของรัฐบาลกลางในการดูแลเรื่องสุขภาพจิตให้แก่ผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ติดต่อกันยาวนาน 68 วัน โดยมีการจัดทำสายด่วนเพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ลี้ภัยที่มีปัญหาสุขภาพจิต

นายจตุรเวด จากสถาบันสุขภาพจิตและประสาทวิทยาแห่งชาติ (นิมฮานส์) ในเมืองบังกาลอร์ของอินเดีย ซึ่งมีส่วนร่วมในความริเริ่มดังกล่าวบอกว่า นี่ถือว่าเป็นการพิสูจน์ความจริงที่ว่า เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และผู้คนเข้าใจถึงความสำคัญของเรื่องสุขภาพจิต

แต่หลายคนก็บอกว่า การกระทำเพียงเท่านี้ คงยังไม่เพียงพอ โดยนายโมเสสเชื่อว่า ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลอินเดียจะต้องเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริการด้านสุขภาพจิตเป็นลำดับต้นๆ

“ก่อนหน้านี้เราไม่เคยที่จะมีความรู้สึกร่วมกันเกี่ยวกับสุขภาพจิต ต้องขอบคุณโควิดที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเหมือนอยู่บนเรือลำเดียวกัน เรือแห่งความสิ้นหวังและหมดหวัง ที่ทำให้เรื่องที่ถูกปัดเข้าใต้พรม ถูกปัดขึ้นไปบนเพดาน”

โมเสสกล่าวทิ้งท้าย