วิเคราะห์ กระแส “รัฐประหาร” และ “นายกฯ คนนอก” สุดท้ายปลายทางคือ “ไม่มีบิ๊กตู่” ?

ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสข่าว “รัฐประหาร” หนาหูขึ้นเรื่อยๆ

บวกกับการเคลื่อนกำลังพลไปมาถี่ๆ ของกองทัพ

การเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังของ “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผู้บัญชาการทหารบก

ไปจนถึงท่าทีหงุดหงิดใจของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ จากที่คิดว่าเป็นแต่เพียงการลือกันไปมาในช่วงแรก

ก็อดจับตามองกระแสข่าวนี้ไม่ได้

ขณะเดียวกันจู่ๆ ก็มีข่าวเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” ผุดขึ้นมาให้ได้ติดตามต่ออีก

ทำให้หลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองเริ่มตั้งวงถกเรื่องนี้กันอย่างจริงจังตามห้องประชุมภายในพรรคต่างๆ บ้าง รัฐสภาบ้าง

แต่ก็ยังไม่มีใครคอนเฟิร์มข้อมูล มีเพียงการ “วิเคราะห์” ความเป็นไปได้ กับปัจจัยที่อาจทำให้เกิดขึ้นเท่านั้น

และแม้ “พล.อ.ประยุทธ์” พยายามสยบข่าวลือดังกล่าวเมื่อถูกถามถึงกระแสข่าวเรื่องการรัฐประหารในช่วงนี้ด้วยท่าทางฉุนเฉียว ว่า “เลอะเทอะ” ก็ตาม

แต่ก็ไม่ได้เอ่ยยืนยันจนชัดเจนว่า จะไม่มีแน่ๆ

“ผบ.ทบ.” ก็หนีตอบข่าวลือปมรัฐประหาร บอกแค่ว่า นายกฯ ว่ายังไงก็ตามนั้น

ดังนั้น คนก็ยังมีสิทธิตั้งข้อสังเกต และไม่คลายความกังขาลง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เองก็เพิ่งมีประเด็นที่สร้างเสียงฮือฮามากในฝั่งการเมือง ทั้งยังสอดรับกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้น คือกรณีที่ “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตประธานรัฐสภา จู่ๆ ก็โพสต์ข้อความไม่กี่บรรทัดลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่สร้างแรงสะเทือนให้กับฝ่ายรัฐบาลพอควร ว่า

“ประเทศชาติถึงทางตันแล้ว รัฐบาลต้องตระหนักรู้ ไม่ดันทุรัง และไม่รัฐประหาร นายกรัฐมนตรีต้องเสียสละลาออก ให้สภาเลือกนายกรัฐมนตรีจาก “คนนอก” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2 ตั้งรัฐบาลมืออาชีพไม่มีโควต้าพรรคเพื่อสมานฉันท์ปฏิรูปประเทศ กอบกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่สู่ระบอบสังคมธรรมาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใน 2 ปี ขอเสนอคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ ปฏิรูปประเทศ กอบกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใน 2 ปี”

อะไรทำให้แม้แต่คนอย่าง “อาทิตย์ อุไรรัตน์” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นกำลังสำคัญของกองทัพคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. คนที่เป็นส่วนหนึ่งในการกวักมือเรียก พล.อ.ประยุทธ์และคณะให้ออกมาทำรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนที่คอยส่งเสียงเชียร์ให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

วันนี้กลับส่งเสียงสะท้อนความผิดหวังกับรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ เสมือนตั้งใจส่งเสียงสะท้อนดังๆ ว่า พล.อ.ประยุทธ์และทีม คสช.ไปไม่ไหวแล้ว!

อีกประการหนึ่ง “อาทิตย์” เอง คงสัมผัสรู้แล้วว่า การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งที่วาดฝันไว้ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้โดยง่าย และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ อาจจะไม่ทำให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อการเมืองไทยในห้วงเวลานี้ได้เลยเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้น เมื่อคนที่เคยหวัง ไม่สามารถขับเคลื่อนสิ่งที่ปรารถนาได้ ก็คงถึงเวลาที่ต้อง “เปลี่ยนคนเข้ามาทำ” แล้วฝากความหวังไว้กับคนใหม่ต่อไป

คําถามคือ ถ้าจะมีรัฐบาลแห่งชาติ หรือนายกฯ คนนอกจริง รัฐบาลแห่งชาติและนายกฯ คนนอกที่ว่าจะมาจากวิถีทางไหน รัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจาก “พล.อ.ประยุทธ์” หรือ “พล.อ.ประยุทธ์” สละอำนาจ ประกาศยุบสภา

ไม่ว่าสุดท้ายแล้วจะออกทางไหน สิ่งที่เห็นตรงกัน และปฏิเสธไม่ได้ คือภาพสะท้อนว่า “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” ที่มีองค์ประกอบหลักมาจากคณะรัฐประหารและกลุ่มการเมืองฝั่งทหารไปไม่ไหวแล้ว นี่คือสิ่งที่ “ดร.อาทิตย์” พยายามสื่อ

ถ้าใช่ ข้อเสนอที่พยายามชูนายกฯ คนนอกขึ้นมาแก้ไขวิกฤตศรัทธาที่ “ดร.อาทิตย์” เสนอ ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้โดยง่ายๆ บางทีอาจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของพรรคการเมืองที่ชูตัวเองว่าเป็น “ฝั่งประชาธิปไตย” วันนี้ พรรคหลักอย่าง “เพื่อไทย” ออกมาพูดปิดประตู ไม่เอาด้วยกับวิถีทางแห่งการมีนายกฯ คนนอกแล้วเรียบร้อย

ส่วน “ก้าวไกล” ไม่ต้องพูดถึง แนวทางชัดเจนมาแต่ต้น ว่า “ไม่เอา” รัฐบาลแห่งชาติ และนายกฯ ที่มาจากวิถีทางที่นอกเหนือการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแน่นอน

ส่วนอีก 4 พรรคฝ่ายค้าน ก็แสดงท่าทีสอดรับในทิศทางเดียวกัน คือ ปิดประตู หันหลังให้กับนายกฯ คนนอกอย่างสิ้นเชิง

ขณะที่พรรคฟากรัฐบาลเองอย่าง “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” ก็มีท่าทีแหยะๆ แบ่งรับแบ่งสู้อยู่ไม่น้อย

ที่ทุกพรรคการเมืองต้องออกมาแตะเบรกทั้งเรื่องการรัฐประหาร และการดันให้มีนายกฯ คนนอกนั้น ก็เพราะวันนี้การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน กำลังแผ่ขยายไปทั่วประเทศ เหมือนไฟที่กำลังจะลามทุ่ง

บรรดา “พรรคการเมือง” ที่ต้องพึ่งเสียงจากประชาชน จึงจำเป็นต้องคิดถึงจุดนี้อย่างมาก เพราะหากเพลี่ยงพล้ำอาจเสียเสียงของพลังมวลชนคนรุ่นใหม่ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากในสนามการเลือกตั้งก็เป็นได้

ทางด้าน ส.ว.จำนวนหนึ่งเองก็มีท่าที “ถอยทุกทาง” ทั้งยอมตัดอำนาจตัวเองในการเลือกนายกฯ ทั้งยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของมวลชน นั่นอาจเพราะ ส.ว.เองก็อาจจะมองเห็น “กระแส” แห่งการเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาที่หนักหน่วง และเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ หรือ “รัฐบาลบิ๊กตู่กำลังจะไปไม่ไหวแล้ว”

แม้แต่ตัว “บิ๊กตู่” เอง ช่วงนี้ก็มีอาการหวั่นไหว หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย เวลาที่ถูกถามในประเด็นที่เป็นกระแสเรียกร้องอะไรหนักๆ

เมื่อเกิดกระแส “ตามหาลูกประยุทธ์” ก็ส่งทนายออกหน้าแทนลูกสาว แจ้งความเอาผิดคนในโซเชียลที่โพสต์เลยเถิด การเคลื่อนไหวในลักษณะ “เอาเรื่อง” นี้ นัยหนึ่งคือปกป้องไม่ให้เรื่องไปถึงครอบครัวและลูกซึ่งเป็นกล่องดวงใจ

แต่อีกนัยหนึ่งที่ฝ่ายนักเคลื่อนไหวมองเห็นคือการ “ขู่ขวัญ” ให้รู้ ให้เห็น ว่า การ “เอาจริง” เป็นอย่างไร

“พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์” เคยเขียนวิเคราะห์ไว้ในบทความหนึ่งว่า “การปล่อยข่าวลือรัฐประหารอาจถูกพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตระเตรียมการทำรัฐประหารเพื่อวัดกระแสสังคม และอาจเป็นกระบวนการของการต้านรัฐประหารด้วย”

ดังนั้น ถ้ามองในแง่หนึ่ง การมีข่าวลือรัฐประหารในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นการหยั่งเสียงสังคมว่า หากจะหาทางออกให้กับบ้านเมืองโดยการรัฐประหาร เอา “ทีมบิ๊กตู่” ออก ให้คนที่มีความสามารถเข้ามาขับเคลื่อนประเทศออกจากวิกฤต ประชาชนคิดอ่านอย่างไร เอาด้วยหรือไม่

ขณะที่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ประชาชนและฟากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร อาจเป็นคนปล่อยข่าวลือออกมาเพื่อต้านการรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้น

วันนี้เท่าที่มีการหยั่งเสียงประชาชน ไม่ว่าจะหยั่งในแง่ไหน คำตอบที่ได้ต่างเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เอารัฐประหาร”

ทางออกจากสถานการณ์ที่คุกรุ่นนี้คือการ “แก้รัฐธรรมนูญ” โดยตัดอำนาจของคณะรัฐประหารชุดเดิมทิ้งเสีย แล้วจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรมขึ้นให้เร็วที่สุด