เจาะประเด็นร้อน “ม.นครพนม” แฉปมทุจริต-ขัดแย้งภายใน!

เป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงอุดมศึกษา กับเหตุความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.)

ภายหลังเกิดปัญหา นายประวิต เอราวรรณ์ อธิการบดี มนพ. ที่เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ประกาศลาออกจากตำแหน่งกลางคัน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560

ทำให้มีกลุ่มคณาจารย์ และตัวแทนนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย ออกมาเคลื่อนไหว แสดงพลังคัดค้านการลาออก

รวมถึงยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทำงานของ นายภาวิช ทองโรจน์ นายกสภา มนพ.

เนื่องจากเชื่อว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการสร้างความขัดแย้ง จากการใช้อำนาจเข้าไปก้าวล่วงการบริหารงานของมหาวิทยาลัย

จนกระทั่ง นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ซึ่งนั่งในกรรมการสภา ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 เมษายน ตามหลังกรรมการสภา 4 คน ที่ยื่นลาออก ตามด้วยผู้แทนคณะกรรมการสรรหาผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีก 2 ราย รวม 7 ราย

ทำให้มีกรรมการสภา มนพ. เหลืออยู่จำนวน 16 ราย จากกรรมการสภา มนพ. ทั้งหมด 23 ราย

สาเหตุหลักของความขัดแย้งครั้งนี้ หนีไม่พ้นเรื่องผลประโยชน์ในมหาวิทยาลัย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา สภา มนพ. ได้เปิดประชุมสภาวาระพิเศษ ที่ศูนย์บริการการศึกษา กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยนครพนม อาคาร ณ นคร ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อแต่งตั้งรักษาการอธิการบดี

โดยได้ นายจินดา งามสุทธิ อุปนายกสภา มนพ. เป็นรักษาอธิการบดี มนพ. ขัดตาทัพ

พร้อมกันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี โดยมี นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภา มนพ. เป็นประธาน

นอกจากนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งลาออกเนื่องจากสถานการณ์ความวุ่นวาย

โดยคาดว่าการสรรหาอธิการบดี มนพ.คนใหม่จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ภายใน 3 เดือนหากไม่มีเหตุขัดข้องในกระบวนการสรรหา

ส่วนตำแหน่งรองอธิการบดีและคณบดีนั้น จะมีการหารือกันในลำดับต่อไป

ซึ่งกว่าจะเริ่มประชุมสภา มนพ. วาระพิเศษครั้งนี้ได้ ก็มีการแจ้งเปลี่ยนสถานที่ประชุมถึง 3 ครั้ง

ครั้งแรกแจ้งว่าจะมีการจัดประชุมที่โรงแรมมารวย การ์เด้น ก็ได้แจ้งเปลี่ยนมาเป็นโรงแรมรามาการ์เด้นส์

และสุดท้ายก่อนหน้าการประชุมจะเริ่มในเวลา 14.00 น. เพียง 2 ชั่วโมง ได้แจ้งเปลี่ยนสถานที่ประชุมมาเป็นที่ศูนย์บริการการศึกษา กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยนครพนม อาคาร ณ นคร ถนนแจ้งวัฒนะ

เรื่องนี้ นายภาวิช ออกมายอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งภายใน และเป็นบางส่วนเท่านั้นที่เสียประโยชน์ เนื่องจากทางสภามหาวิทยาลัยได้เข้าไปดูแลในเรื่องของการสอบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินคดีกับวิทยาลัยพยาบาลและคณะศึกษาศาสตร์ เพราะมีการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย

ทำให้มีกลุ่มคนบางกลุ่มเสียประโยชน์ สร้างสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น และพบว่า เกิดปัญหาจากบุคลากรไม่กี่คน และเกิดจากโครงสร้างมหาวิทยาลัยไม่กี่ส่วน

โดยกลุ่มที่มีการชุมนุมยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ในภาพที่ปรากฏเป็นข่าวมีเป็นร้อยคน แต่พอดูแล้ว เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยแค่ 14 คน ที่เหลือเป็นบุคคลภายนอก

ซึ่งจะมีการตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป

“จากการประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มาจากคณะศึกษาศาสตร์และคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งพยายามไปชักชวนคณะอื่นๆ ด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะไม่ใช่ความชอบธรรม โดยเบื้องต้นคิดว่ามีสาเหตุมาจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะศึกษาศาสตร์ได้เสนอให้สภาอนุมัติปริญญาให้แก่ผู้ที่อ้างว่าสำเร็จการศึกษาจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อเรื่องแดงขึ้นว่าคะแนนที่ส่งมาไม่เรียบร้อย หมกเม็ดขึ้นมาเพื่อให้เด็กจบเร็ว”

“แต่ในข้อเท็จจริงเมื่อสอบไม่เสร็จ คะแนนไม่มีก็ถือเป็นความผิดของคณะกรรมการประจำคณะ ที่ส่งคะแนนให้สภาพิจารณา ถือเป็นความผิดกฎหมายอาญา เนื่องจากทำรายงานเท็จ”

“นอกจากนี้ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาคณะศึกษาศาสตร์ได้ไปเปิดสอนนอกที่ตั้งที่จังหวัดบึงกาฬ และคณะกรรมการคุรุสภา ปฏิเสธออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้ เพราะเป็นหลักสูตรเถื่อน ที่สภาไม่อนุมัติ”

“ส่วนปัญหาของคณะพยาบาลศาสตร์ ก็มาจากการที่คณบดีและรองคณบดี อนุมัติทุนเรียนปริญญาเอกของโครงการไทยเข้มแข็ง หรือ เอสพี 2 ให้ตนเอง ทั้งนี้ ทั้ง 2 เรื่องสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ให้สภาแจ้งอธิการบดี มนพ. ลงไปตรวจสอบ ดังนั้น จึงไม่ใช่การล้วงลูก หรือจะมาคิดว่าล้มสภาชุดนี้แล้ว สิ่งที่ทำกันไว้จะหายไป ตรวจสอบไม่ได้ และสิ่งที่สภาทำอยู่ คือการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย” นายกสภา มนพ. ระบุถึงปัญหา

พร้อมกับย้ำอย่างมั่นใจว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้สภา มนพ. ล่มสลาย กรรมการสภามีสติ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ใช่คนโนบอดี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำอยู่ขณะนี้คือเรากำลังแก้ปัญหาธรรมาภิบาลและคุณภาพการศึกษา…!!

ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บอกว่า เฝ้าดูเรื่องนี้อยู่ตลอด และกำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงไปดูแล

ซึ่งหากถึงจุดวิกฤตจริงๆ ก็มีอำนาจของหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557)

จึงขอให้ทุกอย่างเดินไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและข้อกฎหมาย

ปัญหามหาวิทยาลัยมีอยู่จำนวนมาก ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ไม่มีหน้าที่ไปวิ่งไล่จับ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า กรณีที่มีข้อสงสัยว่า มหาวิทยาลัยใดจัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐาน หรือมีปัญหาธรรมาภิบาล ให้ กกอ. เข้าไปตรวจสอบ

และถ้าต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้เสนอความเห็นมายังรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพื่อเสนอให้ คสช. พิจารณาอีกครั้ง

งานนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไป ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะจบลงที่จุดใด ซึ่งแน่นอนว่า ภาพปัญหาที่ออกมาทั้งหมดย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นที่สังคมเคยมีต่อมหาวิทายาลัย เพราะเป็นเรื่องของสภาและฝ่ายบริหารขัดผลประโยชน์กันเอง สะท้อนถึงความมีธรรมาภิบาลชัดเจน

หากปล่อยให้ยืดเยื้อ ก็จะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา และคุณภาพบัณฑิตที่จบจากสถาบันนี้