ธงทอง จันทรางศุ | เด็กเห็นใจคนแก่ คนแก่ต้องไม่หยุดนิ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

เรื่องที่จะเล่าสู่กันฟังวันนี้ แม้จะไม่มีแก่นสารอะไรมาก แต่ก็ขอได้โปรดนึกว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่จะอาศัยพื้นที่แห่งนี้ฝากไว้ในความทรงจำ

เผื่อว่าในวันข้างหน้ามีใครมาพบเรื่องราวที่เราคุยกันในวันนี้ จะได้พอนึกออกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในเมืองไทยเมื่อพุทธศักราช 2563 หลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19

หลังจากหยุดอยู่กับบ้านช่วยชาติหนึ่งเดือนเต็มในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สองเดือนหลังจากนั้นผมก็ออกจากบ้านเพื่อไปภารกิจนู่นนี่พอสมควร เพราะการงานที่รับปากเป็นกรรมการชุดต่างๆ รอบประเทศเขาเริ่มกลับมาประชุมกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว

การทำงานในช่วงเวลานี้มีทั้งแบบออนไลน์และแบบไปปรากฏร่างให้เห็นตัวเป็นๆ กันเลยทีเดียว เรียกว่าเป็นระบบไฮบริดก็เห็นจะได้

เหมือนรถยนต์ไฮบริดที่ใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าสลับกันไปมา ฉันใดก็ฉันนั้น

ใหม่ๆ ก็เก้อเขินอยู่เหมือนกันครับ เพราะเป็นของไม่เคยทำมาก่อน ระบบที่รองรับการประชุมออนไลน์ก็มีหลายระบบ การประชุมของแต่ละหน่วยงานก็เลือกใช้ตามที่เห็นเหมาะเห็นควร ทำให้กรรมการอย่างผมต้องเรียนรู้อะไรใหม่อยู่เสมอ สุดแต่ผู้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมจะบอกมา

ระบบที่ใช้บ่อยที่สุดมีชื่อเป็นภาษาฝรั่งว่า Zoom เดี๋ยวนี้ผมใช้จนคุ้นเคยกันแล้ว แต่ถ้าหน่วยราชการใดเลือกใช้ระบบอื่น ผมก็ต้องปลุกปล้ำกับ iPad ผมอยู่นานพอสมควรกว่าจะเข้าร่วมประชุมได้

พ้นจากเรื่องการปรับตัวในการประชุมแล้ว ผมพบว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินซึ่งเวลานี้มีแต่เพียงเส้นทางภายในประเทศก็เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับผม

เรื่องคิดจะไปประชุมหรือไปเที่ยวไปช้อปปิ้งเมืองนอกนั้น ปิดประตูตายไปได้เลยอย่างน้อยหนึ่งปีนับจากนี้ครับ

ระหว่างนี้เดินทางท่องเที่ยวหรือไปทำงานในประเทศของเราไปก่อนก็แล้วกัน

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าในช่วงเวลาสองสามเดือนที่ผ่านมา กิจกรรมหลายอย่างที่เงื้อง่าราคาแพงมาตั้งแต่ต้นปีว่าจะจัดในวันที่เท่านั้นเดือนนี้ต่างพากันชะงักงันและรั้งรอไปหมด

เครื่องบินภายในประเทศก็ไม่มีใครบินไปไหนเลย จะเดินทางข้ามจังหวัดก็กลัวถูกผู้ว่าราชการจังหวัดจับไปกักตัวสิบสี่วัน

ช่วงเวลาดังกล่าวผมจึงทำตัวเป็นชาวพระนครเต็มร้อย ไม่ขยับตัวไปข้างไหนเลย

แต่พอการบินภายในประเทศเริ่มเปิดทำการ สิ่งที่อัดอั้นมานานก็หลั่งไหลเข้ามา มีทั้งการเดินทางด้วยเครื่องบินและการเดินทางโดยยานพาหนะอื่นคือรถยนต์ ผสมผสานกัน

ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมมาจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ถ้าจะจดลงบัญชีว่าผมไปจังหวัดไหนมาบ้างก็น่าจะยืดยาวอยู่ครับ

ลองมานับนิ้วไล่เรียงดูก็ได้

เท่าที่นึกออกก็มีจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ครั้งที่สอง ลำปาง ตรัง และปิดท้ายด้วยราชบุรี

วันแรกที่ขึ้นเครื่องบินไปเชียงใหม่ปลายเดือนกรกฎาคม ยอมรับว่าตื่นเต้นมากครับ เพราะไม่รู้ว่าจะมาไม้ไหน เราจะต้องทำอะไรถึงจะถูกต้องและปลอดภัย

แต่เมื่อไปพบการปฏิบัติจริงแล้วก็รู้สึกสบายใจและอยากจะบันทึกไว้ว่า มาตรฐานการบินภายในประเทศของเราเวลานี้เป็นที่วางใจได้จริงๆ ครับ

เริ่มตั้งแต่เข้าไปในสนามบิน เราต้องผ่านจุดคัดกรองอุณหภูมิที่อยู่ตรงประตูสนามบินเป็นด่านแรก

จากนั้นผมไปต่อแถวเพื่อเช็กอินกับเจ้าหน้าที่สายการบินที่เคาน์เตอร์ เขาขีดเส้นไว้ที่พื้นเพื่อไม่ให้ยืนชิดติดกันเกินสมควร

พอได้บัตรขึ้นเครื่องบินหรือที่เรียกว่า Boarding Pass แล้ว เราผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ไปนั่งรออยู่ที่หน้าประตูเพื่อรอเรียกขึ้นเครื่อง เก้าอี้ที่นั่งรอก็จัดให้นั่งตัวเว้นตัว มีเครื่องหมายกากบาทชัดเจนว่าห้ามนั่งตัวนี้ ให้นั่งตัวนั้น

เวลาเรียกขึ้นเครื่องก็เรียกตามลำดับก่อนหลังโดยเรียกให้ผู้โดยสารที่อยู่ตอนท้ายสุดของเครื่องเดินขึ้นเครื่องก่อน แล้วค่อยย้อนเกล็ดขึ้นมาทางตอนหัวเครื่อง

บนเครื่องบินไม่มีการเสิร์ฟน้ำและอาหารใดๆ ทั้งสิ้น กระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบรวมทั้งทุกเวลานาทีที่นั่งอยู่บนเครื่องบินต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

ถึงแม้ที่นั่งบนเครื่องบินจะไม่ได้จัดให้เป็นการนั่งเก้าอี้แบบตัวเว้นตัว แต่ถ้านั่งเฉยๆ ไม่พูดจาอื้ออึงอะไร และไม่อ้าปากกินอะไรด้วย แถมทุกคนก็ใส่หน้ากากอนามัยเหมือนกัน แบบนี้ก็เห็นจะปลอดภัยนะครับ

ที่ผมชอบมากที่สุดคือตอนเครื่องจอดสนิทเมื่อถึงปลายทางแล้ว แต่เดิมมาทุกคนจะลุกขึ้นพร้อมกันทั้งลำ เพื่อมายืนเบียดกันอยู่ตรงช่องทางเดินระหว่างเก้าอี้ แล้วอันที่จริงก็ไปไหนไม่ได้นะครับ เพราะคนที่อยู่ตอนหัวของเครื่องบินยังไม่ได้ลงไปไหน คนที่อยู่ท้ายเครื่องก็ลุกขึ้นมายืนหายใจรดกันเสียอย่างนั้น

เนื่องจากสถานการณ์เวลานี้สายการบินอย่างน้อยสองบริษัทที่ผมใช้บริการในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้กำหนดให้มีมาตรการทยอยกันลงจากเครื่องครับ โดยพนักงานต้อนรับจะประกาศตั้งแต่แรกที่เครื่องจอดสนิทเลยทีเดียวว่า จะประกาศเชิญผู้โดยสารลงจากเครื่องตามลำดับแถว ทีละสามแถว แถมมีการเว้นวรรคระหว่างการเชิญผู้โดยสารแต่ละชุดให้ห่างกันพอสมควรด้วย

เช่น คุณแอร์ก็จะประกาศว่า “เชิญผู้โดยสารแถวที่หนึ่ง สองและสามลงได้แล้วค่ะ”

ผู้โดยสารแถวอื่นก็อย่าเพิ่งกระดุกกระดิกเป็นอันขาด

จนกว่าคุณแอร์จะเรียกเรียงลำดับมาถึงแถวของเรา

เรื่องนี้ถูกใจผมมากครับ เพราะรู้สึกว่าได้รับความสะดวกด้วยกันทุกฝ่าย แม้ต่อไปเมื่อสถานการณ์โรคระบาดหายขาดแล้วก็ยังอยากให้ทำอย่างนี้ต่อเนื่องไปอีกชั่วกาลนานเทอญ

ถือได้ว่าเป็น New Normal อย่างหนึ่งที่ประทับใจ

ประสบการณ์อีกเรื่องหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมคือการสอนแบบออนไลน์ เมื่อตอนปลายเดือนมีนาคมและต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้สอนออนไลน์ไปบ้างแล้วสำหรับการเรียนภาคปลาย ปีการศึกษา 2562

แต่ชั้นเรียนของผมในช่วงนั้นเป็นวิชาเลือกที่มีนิสิตไม่กี่สิบคน นิสิตทั้งหมดเป็นนิสิตชั้นปีสี่ซึ่งเขี้ยวลากดินแล้ว รู้สี่รู้ห้าไปหมด ความยุ่งยากจึงไม่มีมากมายนัก จะพูดจาโต้ตอบซักถามอะไรกันก็ทำได้ง่าย

แถมวิชานั้นยังเป็นวิชาบรรยายหรือสัมมนา อาศัยปากพูดเป็นหลักก็พอแล้ว ทุกอย่างเรียกว่าผ่านไปได้โดยราบรื่น

แต่พอเปิดภาคเรียนภาคแรกสำหรับปีการศึกษา 2562 ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมมานี่สิครับ เรื่องมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะผมบรรยายวิชานิติตรรกศาสตร์และการใช้ภาษากฎหมายไทย เป็นวิชาสำหรับนิสิตชั้นปีหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาเป็นนิสิตสดๆ ร้อนๆ

ที่โหดสุดคือมีจำนวน 300 คนครับ

น่าปลื้มใจที่จะขอรายงานว่าในชั้นเรียนของผมที่สอนออนไลน์มาสามสี่ครั้งแล้ว แต่ละครั้งมีตัวเลขขึ้นบนจอให้เห็นว่ามีนิสิตเข้าเรียนอยู่ที่ประมาณ 260 ถึง 280 คน

ถือว่าเป็นการทำบุญกับคนแก่ให้ได้ความชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง

แต่พอมีเนื้อหาบางหัวข้อที่ต้องพูดถึงการใช้ภาษากฎหมายไทยโดยยกตัวอย่างจากภาคปฏิบัติของจริง ถ้าเป็นชั้นเรียนปกติผมก็เอากระดาษวางลงบนเครื่องฉายแผ่นทึบ แล้วฉายขึ้นจอใหญ่ในห้องเรียน ทุกคนที่นั่งอยู่ต่อหน้าก็เห็นพร้อมกัน ผมจะขีดเขียนแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรทุกคนย่อมเข้าใจได้ซึมซาบ

แต่พอเป็นการสอนออนไลน์แล้ว เครื่องมือเครื่องไม้เป็นของใหม่สำหรับผมไปหมด คราวนี้ก็ยุ่งสิครับ กดปุ่มโน้นปุ่มนี้ เลื่อนกระดาษไปทางซ้ายทีขวาที จนนิสิตที่เรียนหนังสืออยู่ทางบ้านเวียนหัวใกล้จะเป็นลมหมดทุกคนแล้ว

พอดีระฆังช่วย หมดเวลา

ค่อยๆ เรียนรู้กันไปนะครับ

เด็กปีหนึ่งที่เรียนอยู่ทางบ้าน คงรู้สึกเอ็นดูอาจารย์วัยชราไม่ใช่น้อย ที่มาทำอะไรเก้ๆ กังๆ ให้ดูทุกเช้าวันจันทร์ตอนแปดโมง

ถ้าจะพูดอะไรให้เป็นคติสักหน่อยในตอนท้ายเช่นนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า เด็กทั้งหลายต้องเห็นใจคนแก่ว่าเขาปรับตัวได้ไม่ง่ายนัก

ขณะเดียวกันคนแก่ก็ต้องไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ต้องทำตัวให้ก้าวทันยุคทันสมัยกับเด็กที่เป็นลูกหลานของเราและโลกที่ผันแปรไปโดยไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ด้วย

เขาอยากได้อะไรก็ต้องรับฟัง อย่าไปดื้อดึงว่าเราไม่เคยทำมาก่อน เพราะฉะนั้นจะไม่ทำเป็นอันขาด

เอ๊ะ! นี่ตั้งใจจะบอกใบ้อะไรหรืออย่างไรฮึ