สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย Ep.8 สงครามภายใน 2508-2516

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ที่ผ่านมาเราต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธโดยใช้มาตรการทางทหารเป็นหลัก… จึงกลายเป็นว่าทหารเข้าไปทำทุกเรื่อง”

พล.อ.สายหยุด เกิดผล (2554)

ในขณะที่สงครามระหว่างสหรัฐกับเวียดนามเหนือจากวิกฤตการณ์อ่าวตังเกี๋ยเริ่มขึ้นในต้นเดือนสิงหาคม 2507 นั้น ผู้นำรัฐบาลทหารไทยเองก็เริ่มกังวลกับสงครามในบ้านของไทยเอง

เพราะการยกระดับของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับเวียดนามเหนือ จนกลายเป็นสงครามนั้น ย่อมเป็นช่องทางให้รัฐมหาอำนาจอย่างจีนขยายบทบาทผ่านเงื่อนไขสงครามได้

ทุกฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วสงครามภายในของไทยจะเริ่มขึ้นเมื่อใด

ในด้านหนึ่งของสถานการณ์ที่สอดรับกับการขยายอิทธิพลของสหรัฐในอินโดจีน รวมทั้งในไทยจากปี 2507-2508 ในอีกด้านหนึ่งการขยายตัวของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในอินโดจีน พร้อมกับการเคลื่อนไหวของ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” (พคท.) หลังจากการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 ในปี 2504 และรวมกับการขยายอิทธิพลของแนวคิด “สงครามประชาชน” ของเหมาแล้ว การเกิดของสงครามภายในจึงเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ

ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม 2508 การปะทะระหว่างพลพรรคของ พคท. กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐก็เริ่มขึ้นจริงที่จังหวัดนครพนม หรือที่เรียกกันว่า “วันเสียงปืนแตก”

ขณะเดียวกันในปี 2508 สหรัฐได้ขยายกิจกรรมทางทหารในไทยมากขึ้นด้วย

ผู้นำไทยนับจากปี 2508 เป็นต้นมา จึงเผชิญกับทั้งสงครามในอินโดจีนและสงครามภายใน…

สงครามสองชุดนี้เป็นความท้าทายผู้นำทหารไทยอย่างยิ่ง

แต่สองสงครามนี้กลับเอื้อให้ผู้นำทหารไทยใช้สร้างความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจ และกลุ่มอำนาจในสังคมไทยก็คิดเช่นนั้นด้วย

สงครามประชาชน

สงครามภายในของไทยเกิดหลังจากปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐต่อเวียดนาม 1 ปีถัดมา เท่ากับเป็นคำตอบในตัวเองว่า สงครามปฏิวัติขยายจากเวียดนามมาไทย สิ่งที่ผู้นำไทยกังวลเกิดขึ้นจริงแล้ว

การปะทะที่นครพนมในเดือนสิงหาคม 2508 เป็นรูปธรรมของ “สงครามประชาชน” ที่มีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเป็นทิศทางหลัก และมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นแกนนำ

พร้อมกับเห็นการปรากฏตัวของกองกำลังติดอาวุธในชนบท ไม่ใช่คดี “กบฏผีบุญ” ที่รัฐไทยเคยจับมายิงเป้าง่ายๆ เช่นในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ซึ่งเท่ากับว่านับจากนี้ “นาฬิกาสงคราม” ของการปฏิวัติไทยเริ่มต้นนับเวลาแล้ว

และที่สำคัญก็คือผู้นำจีนประกาศเพียงไม่กี่เดือนก่อนการปะทะที่นครพนมว่า “สงครามประชาชนกำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย”

การก่อตัวของสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยจึงถูกตีความทันทีว่าเป็นการแทรกแซงของจีนในการขยายสงครามประชาชนในประเทศโลกที่สาม

ซึ่งชัยชนะของประธานเหมาในสงครามปฏิวัติจีนกลายเป็นตัวแบบให้ “นักคิดฝ่ายซ้าย” หลายส่วนตัดสินใจเดินตามแนวทางของเหมา ด้วยการสร้างกองกำลังและฐานที่มั่นในชนบท ยุทธศาสตร์ “ป่าล้อมเมือง”

สอดรับกับเงื่อนไขของความเป็นสังคมเกษตรในหลายประเทศ และชนบทป่าเขาในหลายประเทศรวมทั้งในไทย จึงกลายเป็นเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ของการจัดตั้งฐานที่มั่น พร้อมกับขยายการปลุกระดมในชนบทเพื่อดึงมวลชนเข้าสู่สงคราม

โจทย์สงครามชุดนี้ไม่เพียงแต่ผู้นำทหารไทยไม่มีความคุ้นเคยเท่านั้น แต่พวกเขายังขาดความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ด้วย

ผู้นำเหล่านี้จึงยึดติดกับเพียงความเหนือกว่าของ “อำนาจกำลังรบ” และเชื่อแบบง่ายๆ ว่า กำลังรบที่เหนือกว่าจะเป็นปัจจัยชี้ขาดชัยชนะในสงคราม…

เชื่ออย่างมากว่าถ้ารัฐบาลทุ่มกำลังรบเต็มที่เข้าปิดล้อมและปราบปรามในชนบทแล้ว ก็จะใช้เวลาไม่นานนักในการทำลายกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายตรงข้ามได้

ไม่น่าเชื่อว่าผู้นำทหารไทยมองไม่เห็นความพ่ายแพ้ของอำนาจกำลังรบที่เหนือกว่าของฝรั่งเศสในสงครามเดียนเบียนฟูในปี 2497

หรือมองไม่เห็นชัยชนะของคาสโตรในการปฏิวัติคิวบาในต้นปี 2502

แต่ในอีกด้าน พวกเขาก็ไม่เห็นบทเรียนจากชัยชนะของอังกฤษกับ “ภาวะฉุกเฉินในมลายา” ที่เริ่มในปี 2491

แน่นอนว่าผู้นำทหารไทยอาจจะมองเห็นพลังอำนาจทางทหารของสหรัฐในสงครามเกาหลี ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในชาติที่เข้าร่วมสงคราม และเมื่อสหรัฐเข้าสู่สงครามในเวียดนาม การเปิดการโจมตีทางอากาศของสหรัฐในปี 2507 เป็นภาพที่น่าประทับใจในทางทหารอย่างยิ่ง

จนแทบไม่น่าจะมีข้อสงสัยอันใดอีกเลยว่า สหรัฐจะไม่ชนะสงคราม

สงครามปฏิวัติไทย

สงครามของรัฐไทยที่มีอำนาจกำลังรบที่เหนือกว่าก็น่าจะไปในทิศทางเดียวกัน ข้าศึกเป็นเพียงกองกำลังติดอาวุธขนาดเล็ก และมีจำนวนไม่มาก

การปราบปรามด้วยกำลังรบอย่างเต็มที่ของฝ่ายรัฐ น่าจะจบลงในระยะเวลาอันสั้น

อีกทั้งข้าศึกไม่ได้มีความเหนือกว่าทางทหารแต่อย่างใด

มองด้วยตรรกะ “สงครามตามแบบ” แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่บอกว่า ฝ่ายที่เหนือกว่าจะเป็นผู้แพ้ หรือแม้กระทั่งความพยายามที่จะขยายเวลาสงครามออกไปของฝ่ายที่อ่อนแอกว่า ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะขาดกำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า

ด้วยตรรกะเช่นนี้ สงครามในชนบทไทยควรจะจบลงอย่างรวดเร็ว และผลของสงครามไม่น่าจะเป็นอื่นไปได้

ฝ่ายที่อ่อนแอกว่าจะต้องเป็นผู้แพ้…

ผู้นำทหารไทยในยุคนั้นไม่เข้าใจเรื่อง “สงครามนอกแบบ” และยึดติดกับชุดความคิดเดียวที่มองสงครามกองโจรในชนบทด้วยความดูแคลน แต่การมีสงครามเช่นนี้กลับเป็นเรื่องที่ดีในทางการเมืองสำหรับการสร้างอำนาจของระบอบทหารไทย

ในด้านหนึ่งสงครามคอมมิวนิสต์เป็นเงื่อนไขอย่างดีเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบทหารในการเป็นรัฐบาล

ดังจะเห็นได้ว่าภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ถูกใช้เป็นข้ออ้างเสมอในการรัฐประหารและการจับกุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

และในอีกด้านภัยคุกคามนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่เชื่อมความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับสหรัฐให้แน่นแฟ้นในยุคสงครามเย็น

และเมื่อสหรัฐเข้าสู่สงครามเวียดนามแล้ว ความจำเป็นที่สหรัฐจะต้องสนับสนุนรัฐบาลทหารไทยจึงเป็นประเด็นทางยุทธศาสตร์ เพราะไม่มีพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ใดจะรองรับต่อการขยายสงครามของสหรัฐในเวียดนามได้เท่ากับไทย

ถ้าเปรียบเทียบในบริบทของสงคราม ถ้าสงครามประชาชนในไทยมีลาวและเวียดนามเหนือเป็น “หลังพิง”

สงครามของสหรัฐในเวียดนามก็มีไทยเป็น “หลังพิง”

หรืออีกนัยหนึ่ง หลังพิงเป็นฐานสนับสนุนนอกเขตการสงครามที่สำคัญ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถเปิดการโจมตีรัฐดังกล่าวได้อย่างเต็มที่

เช่นเดียวกับที่จีนเป็น “หลังพิงหลัก” ให้แก่เกาหลีเหนือในสงครามเกาหลี และผู้นำสหรัฐก็ไม่อาจเปิดการโจมตีเป้าหมายในจีนได้

ดังนั้น ในยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร จึงเสมือนมี “ข้ออ้างพิเศษ” เรื่องสงครามที่ใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบทหาร

และในมุมมองของฝ่ายอนุรักษนิยมนั้น รัฐบาลทหารคือ “หลักประกันด้านความมั่นคง” ที่จะช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการคุกคามของสงครามคอมมิวนิสต์

หรือมองว่ารัฐบาลพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตยอ่อนแอเกินกว่าจะรับมือกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้

สำหรับโลกตะวันตกแล้ว ผู้นำทหารเป็นนักชาตินิยมที่สามารถต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยุทธศาสตร์การปิดล้อมนี้จะเกิดเป็นจริงได้ด้วยการสร้างระบบพันธมิตรกับผู้นำทหารฝ่ายขวาที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์

เครือข่ายอำนาจนิยม

เพื่อที่จะต่อสู้กับการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร (ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก) จึงจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรองรับภารกิจนี้โดยตรง ได้แก่ “กองอำนวยการป้องกันปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” (กอ.ปค.) ในปลายปี 2508

มีฐานะเป็นกองบัญชาการระดับชาติ เพื่อควบคุมพลเรือน ตำรวจ ทหารให้ทำงานร่วมกันภายใต้กองบัญชาการเดียวกัน

โดยมีทิศทางว่าทหารจะรับภารกิจในการทำลายกองกำลังติดอาวุธในป่า ตำรวจจะจับกุมบุคคลเป้าหมายที่เป็นคอมมิวนิสต์ในหมู่บ้าน ในขณะที่ข้าราชการพลเรือนจะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

และงานทั้งสามส่วนนี้ดำเนินการภายใต้หลักการ “ดึงมวลชน” ให้อยู่กับฝ่ายรัฐด้วยการ “เอาชนะใจประชาชน”

แม้ดูเหมือนว่า กอ.ปค. จะมีแนวคิดในการทำงานการเมืองในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่ทิศทางหลักยังคงถูกครอบด้วยชุดความคิดเก่าทางทหารที่เชื่อว่า เอาชนะคอมมิวนิสต์ได้ด้วยการ “ปราบปราม”

และเชื่อมั่นว่าอำนาจทางทหารที่เหนือกว่าจะเป็นปัจจัยในการทำลายการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในชนบท

แนวคิดการเอาชนะด้วยมาตรการทางทหารชุดนี้ถือเอา “การทหารเป็นหลัก การเมืองเป็นรอง”

หรือที่เรียกว่าเป็น “สายเหยี่ยว”

ซึ่งเห็นได้ชัดอีกด้านจากการขยายสงครามในเวียดนาม ด้วยความเชื่อหลักว่าความเหนือกว่าทางทหารของสหรัฐจะเป็นปัจจัยหลักในการเอาชนะคอมมิวนิสต์

แน่นอนว่าความคิดเช่นนี้แตกต่างจากหลักการของสงครามประชาชนโดยสิ้นเชิง… สงครามประชาชนชนะด้วยประชาชน ไม่ใช่ด้วยอาวุธที่เหนือกว่า

อย่างไรก็ตาม ผู้นำทหารบางส่วนยากที่เข้าใจเรื่องสงครามประชาชน และพยายามที่จะปรับทิศทางการต่อสู้ของรัฐบาลทหาร

แต่สงครามเช่นนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้นำทหารไทย การกวาดล้างและจับกุมจึงเป็นทิศทางหลักของต่อสู้

และในปี 2510 กองทัพบกเข้ามาเป็นผู้กุมบทบาททั้งหมด กอ.ปค. จึงไม่ใช่องค์กรที่เป็นตัวแทนของพลเรือน ตำรวจ ทหารเช่นที่ถูกออกแบบในช่วงต้น

จนอาจกล่าวได้ว่า นับจากปี 2510 เป็นต้นมากองทัพบกคือผู้ควบคุมทิศทางการสงครามของรัฐไทย

ด้วยความเชื่อพื้นฐานว่า สงครามคอมมิวนิสต์คือ “สงครามตามแบบ” การเอาชนะคือจะต้องทำลายข้าศึกในสนามรบให้ได้มากที่สุด

อันเป็นแนวคิดว่า การ “นับศพ” ข้าศึกเป็นดัชนีของชัยชนะ

สงครามเปลี่ยนทิศ?

ผลของการขยายสงครามเช่นนี้ทำให้จำนวนคอมมิวนิสต์ในชนบท โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ไม่ใช่ลดลงในแบบที่ผู้นำทหารเก่าคิด

และหลังจากปี 2513-2514 แล้ว คอมมิวนิสต์ในแต่ละภาคมีจำนวนมากกว่าหลักพัน

และเมื่อเกิดเหตุการณ์ตุลาคม 2516 แล้ว ทิศทางการปราบปรามของสายเหยี่ยวก็ถูกท้าทายอย่างมาก

ดังจะเห็นว่าหลัง 14 ตุลาฯ ได้มีการเปิดเผยถึงกรณีการเผาบ้านนาทราย (อำเภอบึงกาฬ) และกรณีถังแดง (จังหวัดพัทลุง) อีกทั้งการเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนหลังปี 2516 ถูกมองว่าเป็นการทำลายความเข้มแข็งของทหารในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ และอาจทำให้แพ้สงคราม

กองทัพถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเรื่องการปราบปรามประชาชน

ทำให้ กอ.ปค.ปรับชื่อใหม่เป็น “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน” (กอ.รมน.)

แต่สงครามก็ขยายตัวอย่างมาก

ดังที่ พล.อ.สายหยุด เกิดผล กล่าวว่า คอมมิวนิสต์มี “การเติบโตอย่างก้าวกระโดด ถึงขั้นที่ฝ่ายขวาถูกปลุกให้ลุกขึ้นมาตอบโต้อย่างรุนแรง”…

การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์หลังปี 2516 จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง!