ฐากูร บุนปาน | เตรียมตัวและเตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงกว่านี้เอาไว้ด้วย

นี่คือขาลงของสังคมไทย

อันที่จริงมันก็ไหลลงมากว่าสิบปีแล้วล่ะครับ

เพียงแต่ว่าก่อนนั้นถึงจะตะโกนเตือนกันเท่าไหร่

ก็มีคนส่วนหนึ่งเถียงคอเป็นเอ็น

หรือคอยแก้ตัวให้กับสถานการณ์และผู้มีอำนาจ (ซึ่งมีส่วนมากในการกำหนดความเป็นไปของสังคม)

จนวันที่ “น้ำต้มกบ” มันร้อนขึ้นมาได้ที่

กบทั้งหลายในหม้อก็ประสานเสียงครางขึ้นมาพร้อมๆ กัน

แต่จะสายไปหรือเปล่า

จะตะกายขึ้นจากหม้อไหวหรือไม่

หรือจะรอดกันได้สักกี่ตัว

ด้วยสภาพไหน

ยังเป็นคำถามใหญ่ที่รอความเป็นจริงช่วยตอบ

ที่ว่าลงนั้น อะไรลง

เศรษฐกิจนั้นแทบไม่ต้องอธิบาย

ความตกต่ำทั้งระดับธุรกิจใหญ่ ซึ่งอธิบายด้วยตัวเลขที่ว่า ธุรกิจไทยขนเงินไปลงทุนต่างประเทศ มากกว่าต่างประเทศขนเงินเข้ามาลงทุนในไทยหลายปีติดกัน

ยืนยันถึงความไม่น่าลงทุน ความไม่น่าเชื่อใจ

กับปัญหาปากท้องของคนระดับรากหญ้า (ค่าแรงถูกแช่แข็ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ)

ผสมด้วยความเหลื่อมล้ำที่ยิ่งนานยิ่งถ่างกว้างขึ้นไปทุกวัน

คนได้ประโยชน์คือส่วนน้อย

คนลำบากสาหัสคือส่วนใหญ่

สภาพแบบนี้จะดำรงต่อไปอีกนานเท่าไหร่

การเมืองก็ไหลลง

รัฐประหารสองครั้งในเวลาไม่ถึงสิบปี

มีขบวนการ “ลดทอน-เมินเฉย” มติหรือความต้องการของคนส่วนใหญ่

โดยการอ้างความเป็นคนดี บลา บลา บลา

ตามด้วยการใช้อำนาจ “กด” ไม่ให้เกิดความเห็นต่าง

วันหนึ่งพวยกาก็ทำท่าจะระเบิด อย่างที่เห็นอยู่ในวันนี้

บรรดาเหล่าคนที่ร่วมกันก่อปัญหาขึ้นมา วันนี้อึดอัด คับข้องใจ ไปไม่เป็น

เพราะตอบคำถามตรงๆ ง่ายๆ ของน้องนุ่งลูกหลายหรือเด็กรุ่นหลังไม่ได้

ว่าทำไมคนถึงไม่เท่ากัน

จะกราดเกรี้ยว ข่มขู่ คุกคาม วันนี้ก็แทบจะไม่มีผลอะไรแล้ว

กลายเป็นเรื่องตลก ถูกเอามาอำซ้ำแล้วซ้ำอีก

ถามว่าสภาพง่อนแง่นอย่างนี้จะดำรงอยู่ต่อไปได้อีกเท่าไหร่

สังคมก็เหลวเละไปด้วย

ในช่วงเวลาของการเอาชนะทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักการใดๆ

ฝ่ายที่พยายามยึดกุมอำนาจใช้ “ต้นทุนทางสังคม” ไปจนแทบหมดสิ้น

ไม่มีอะไรเหลือให้เป็นหลักยึดเหนี่ยว หรือเป็น “กันชน” ช่วยคลี่คลายข้อขัดแย้งด้วยวิถีสันติประชาธรรม

ไล่เรียงไปเถิด หน่วยงาน องค์กร สถาบันไหนยังเหลือให้เชื่อถือศรัทธาได้บ้าง

สังคมที่ไม่มีใครเชื่อถือใคร ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ถ้าไม่ไปติดอับในตรอกตัน ไปไหนไม่ได้อีกเลย

ก็คงหันมาตีกันเองเป็นไก่ในสุ่มให้ตายไปข้าง

หรือใครคิดว่าจะเป็นอย่างอื่นได้

อาการขาลงในภาพใหญ่เหล่านี้ ยังได้รับการส่งเสริม (หรือที่ถูกควรเรียกว่าซ้ำเติม) จากปรากฏการณ์ที่เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งอีกหลายอย่าง

โดยเฉพาะการใช้อำนาจที่ไม่เห็นหัว ไม่เกรงใจความรู้สึกของชาวบ้าน

เช่น ตั้งคนค้าแป้งเป็นใหญ่เป็นโต แล้วมีหน้าจะมาบอกว่าจะไปปราบยาเสพติด

อุ้มคนใกล้ชิดที่เห็นชัดๆ ว่าทำผิดคดีรุกป่า จนเดี๋ยวนี้คดีไม่รู้ไปตกรูอยู่ที่ไหน

คนกำลังจะอดตาย นักเรียนจะไม่มีนมกิน แต่ทหารไล่ซื้อของเล่นเป็นว่าเล่นทุกเหล่าทัพ

หรือกรณีฝีแตกว่าเงินใช้ผีโม่แป้งได้ ใช้ซื้อกระบวนการยุติธรรมเกือบทั้งขบวนก็ได้

เอานายบ่อนมาเป็นที่ปรึกษาปราบบ่อน

ล่าสุดยังมีคดีเรื่องเหมืองทองปะทุขึ้นมาอีก ไหนจะประเด็นใช้อำนาจแบบไม่รอข้อมูลข้อเท็จจริง ไหนจะประเด็นว่าถ้าคนรับผิดชอบคดีนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าแพ้คดีขึ้นมา 3-4 หมื่นล้านนี่ใครจะจ่าย

ฯลฯ

แต่ละเรื่องนั้น “เร้าอารมณ์” เหลือหลาย

แล้วจะให้คนนั่งพับเพียบเรียบร้อย คอยผงกหัวเชื่อตามที่บอกอย่างเชื่องๆ อีกหรือ

ในภาวะที่ไตรลักษณ์ถึงพร้อม ทั้งอนิจจัง ทุกจัง อนัตตา

ใครไม่คิดบ้างว่า เวลาของความเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึง

แต่ถ้าใครเชื่อ (แบบมองโลกแง่ร้าย) ว่า นี่มันยังลงไม่สุดถึงก้นเหว

ให้เวลามันอีกหน่อย

ได้เละเทะหยำแหยะ และทุกข์ยากกว่านี้

ก็เตรียมตัวและเตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงกว่านี้เอาไว้ด้วย

ไม่ได้ขู่นะครับ

นี่กฎฟิสิกส์เบื้องต้นเลยว่า แรงตกเท่ากับแรงสะท้อน

ก็ถ้าสังคมไทยมันตกเหวลึกเกือบไม่เห็นก้นขนาดนี้

ใครที่ยังคิดว่าจะมี “ซอฟต์แลนดิ้ง” อยู่ได้อีกนี่

มารับรางวัลโลกสวยแห่งปีไปได้เลย