อ่านเกม “ม็อบปลดแอก” ทันเกม “รัฐบาล-กองทัพ” ปลายทาง “รัฐประหาร-ฮ่องกงโมเดล” ?

ปรากฏการณ์หลังการชุมนุมใหญ่ของคณะประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ “ธรรมศาสตร์เอฟเฟ็กต์” ทำให้บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม มีท่าทีตึงเครียดกับสถานการณ์ไม่น้อย

มิหนำซ้ำยังมี “เอฟเฟ็กต์อื่นๆ” ตามมาอีก โดยเฉพาะการชูสามนิ้วเคารพธงชาติและการติดโบขาวที่ลามลงไปถึงโรงเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ และการชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม จัดโดยกลุ่ม “นักเรียนเลว” ซึ่งได้เป่านกหวีดไล่ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และอดีตแกนนำ กปปส. ขณะออกมาพบผู้ชุมนุม

กลุ่มนักเรียนเลวได้กล่าวถึงการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐหลังการแสดงออกทางการเมืองในโรงเรียน รวมทั้งการถูกคุณครูในโรงเรียนสั่งห้ามการทำกิจกรรม

ผ่านไปราว 2 วัน กระทรวงศึกษาฯ จึงได้ออกหนังสือถึงโรงเรียนต่างๆ ให้นักเรียนสามารถแสดงจุดยืนการเมืองในสถานศึกษาได้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันร้าวลึกไปถึงสถาบันครอบครัว เมื่อมีการเผชิญหน้าทางความคิดระหว่าง “คนรุ่นผู้ใหญ่” กับ “คนรุ่นใหม่”

มีรายงานว่าบิ๊กตู่ได้พูดคุยเรื่องเหล่านี้กับ ผบ.เหล่าทัพ โดยแสดงความเป็นห่วงและอยากให้กองทัพช่วยไปดูเรื่องแนวทางในการ “สร้างเด็กยุคใหม่” โดยมองภาพในระยะยาว

นอกจากนั้น ยังมีกระแสข่าวลือเรื่อง “รัฐประหาร” ครั้งใหม่ แม้ว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังไปไม่ถึงจุดดังกล่าวและยังไม่เข้าองค์ประกอบ-เงื่อนไขของการยึดอำนาจ แต่ที่ทำให้กระแสข่าวมีน้ำหนักก็คือเนื้อหาการปราศรัยของการชุมนุมแต่ละแห่งซึ่งมีความล่อแหลมมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านม็อตโต “3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน”

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ต่างๆ ยัง “ไม่สุกงอม” เพียงพอที่จะทำรัฐประหาร เพราะการชุมนุมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้นเป็นเพียงกลุ่มต่อต้านรัฐบาล-กองทัพ

ในฝั่งหนุนรัฐบาล-กองทัพ แม้จะมีความเคลื่อนไหวตามพื้นที่ต่างๆ อยู่บ้าง แต่โดยรวมนั้นยังอยู่ในที่ตั้งมากกว่า ส่งผลให้เหตุการณ์ “ม็อบชนม็อบ” ที่หลายคนหวาดหวั่นยังไม่เกิดขึ้น

ส่วนรัฐบาลก็ยังสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ตามปกติ โดยมีอำนาจเต็ม เช่นเดียวกับกลไกในสภา ซึ่งการทำงานของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านยังดำเนินไปดังเดิม

หันไปทางกองทัพ เหลืออีกเพียง 1 เดือน บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ก็จะเกษียณ โดยเตรียมส่งธงต่อให้กับบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้ช่วย ผบ.ทบ.

บิ๊กบี้เป็น ตท.22-จปร.34 เป็นนายทหาร “ลูกผสม” ระหว่างสายบูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ เพราะเคยเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 พัน.2 รอ.) ก่อนมาเติบโตที่กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) และกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.)

แล้วขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 โดยได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.อภิรัชต์ ที่เติบโตมาจากสายวงศ์เทวัญเช่นเดียวกัน แต่ พล.อ.อภิรัชต์เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) เรียกได้ว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ถือเป็นสายตรงของ พล.อ.อภิรัชต์ แต่ไม่ได้เป็นสายตรง “3 ป. บูรพาพยัคฆ์”

พล.อ.ณรงค์พันธ์มีความเป็นตัวของตัวเองสูงและเป็นคนนิ่งสุขุม เปรียบเป็น “น้ำนิ่งไหลลึก” โดยบทบาทของบิ๊กบี้จะต้องถูกจับตาไปอีก 3 ปีต่อจากนี้ จนถึงวาระเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.2566

สิ่งที่ต้องจับตาในระยะ 1-2 เดือนนี้คือการยกระดับการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอก รวมทั้งการป้องกันความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจนกลายเป็นเหตุจลาจล หรือเป็นเหตุการณ์ในลักษณะ “ฮ่องกงโมเดล” เมื่อนั้นสถานการณ์จะสั่นคลอนรัฐบาล-กองทัพทันที ซึ่งอาจนำไปสู่การ “ใช้ยาแรง” ระงับสถานการณ์

ทั้งนี้ หากดูท่าทีของฝั่งรัฐบาลจะพบว่ามีความพยายาม “เปิดพื้นที่” ให้นิสิต-นักศึกษา และนักเรียนมัธยมได้แสดงออกมากขึ้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่การชุมนุมก็มีโจทย์สำคัญคือ “ความอดทน” ต่อสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า

อย่างไรก็ตาม มีการให้น้ำหนักไปที่การพักค้างแรมในการชุมนุม โดยเฉพาะจากกลุ่มแรงงานและเกษตรกรจากพื้นที่ต่างจังหวัดที่อาจเคลื่อนพลเข้ามาสมทบการชุมนุมพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น กลุ่มพีมูฟ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นต้น

รวมถึงภาคแรงงาน เช่น สภาองค์กรลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ที่ได้รวมพลเครือข่ายแรงงานส่วนอื่นๆ มาร่วมชุมนุมในนาม “สมัชชาแรงงานแห่งชาติ” ซึ่งชูธง “แรงงานปลดแอก” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม

ถือเป็น “สมการใหม่” ของการชุมนุมยุคนี้ที่แตกต่างจากยุคอื่นๆ โดยมีแนวร่วมเป็น “นักเรียนมัธยม” ที่เพิ่มเข้ามา เพราะการชุมนุมในอดีต แนวร่วมที่สำคัญคือ นักศึกษา แรงงาน และเกษตรกร

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ได้มีการ “ถอดบทเรียน” กันมาแล้ว โดยเฉพาะจากคนเดือนตุลาและพฤษภา 2535

ในส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าก็เป็นลักษณะต่างแยกกันเดิน เพื่อไม่ให้เกิดภาพ “ครอบงำพรรค” ขึ้นมา

ฝั่งพรรคก้าวไกลยังคงทำหน้าที่ในสภา โดยเฉพาะการผลักดันประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ชี้แจงว่า แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคคือการปิดสวิตช์ ส.ว. รื้อ ม.256-272 ซึ่งเป็นกล่องดวงใจในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร รวมทั้งการผลักดันให้ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.ก้าวไกล ไปสังเกตการณ์ในพื้นที่การชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอก รวมทั้งติดตามการดำเนินคดีแกนนำการชุมนุมตามสถานีตำรวจต่างๆ และช่วยเหลือในการประกันตัว

ฝั่งคณะก้าวหน้า ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้เดินสายบรรยายตามสถานศึกษาต่างๆ เรื่องระบอบรัฐธรรมนูญ ส่วนธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ทำหน้าที่ใน กมธ.พิจารณางบประมาณปี 2564 โดยได้ปะทะฝีปากกับ ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.อภิรัชต์ในห้องประชุมมาแล้ว

ธนาธรยังได้เดินทางไปจังหวัดระยอง เพื่อเปิดตัวผู้ลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นในนามคณะก้าวหน้า โดยชิงเข้าพื้นที่ดังกล่าวก่อนการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีเพียง 1 วัน

ทั้งหมดนี้เป็นความเคลื่อนไหวในช่วงรอยต่อสำคัญ โดยแต่ละฝ่ายต่างมี “เงื่อนไขเวลา” ในการเผด็จศึกครั้งนี้ ทั้งฝั่งต่อต้านรัฐบาล-กองทัพ ที่ต้องรีบเร่งฝีเท้า เพราะผ่านมา 1 เดือนครึ่งแล้ว นับจากการจัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรก และฝั่งรัฐบาล-กองทัพเอง ซึ่งต้องรีบรับมือการชุมนุมที่จะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ผ่านกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในมือ ไม่เช่นนั้นจะสายเกินแก้

เดิมพันครั้งนี้สูงยิ่งนัก!!