ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ข้อห้ามไม่ให้ “บัณเฑาะก์” บวช ในพระวินัยฯ ไม่ได้ห้ามกลุ่มคน “เพศหลากหลาย” บวช

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

โดยปกติแล้ว พจนานุกรมไทย (เป็นสิ่งที่เกิดใหม่ในระดับคนละโลกเดียวกันเมื่อเทียบอายุกับพระไตรปิฎก) มักจะแปลคำว่า “บัณเฑาะก์” แปลว่า “กะเทย”

ดังนั้น พอมีข้อความในพระวินัยปิฎกระบุว่า พระพุทธเจ้าห้ามบัณเฑาะก์บวช ก็กลายเป็นห้ามกะเทยและอีกสารพัดความหลากหลายทางเพศบวชไปด้วย

แต่บัณเฑาะก์นั้นจะแปลว่ากะเทยจริงๆ หรือครับ?

ที่มาของเรื่องนี้อยู่ในปัณฑกวัตถุ (คำว่า “ปัณฑกะ” ในที่นี้คือคำเดียวกับ “บัณเฑาะก์”) ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 ซึ่งเล่าเอาไว้ว่า มีบัณเฑาะก์คนหนึ่งบวชแล้วก็ไปชวนพระสงฆ์กับเณรมีเพศสัมพันธ์กัน แต่ทั้งพระ ทั้งเณรไม่มีใครเอากับหลวงพี่รูปนี้ด้วย พระบัณเฑาะก์รูปนี้ก็เลยไปชวนคนเลี้ยงช้าง คนเลี้ยงม้ามามีอะไรกันแทน

และหลังเสร็จกิจ พวกคนเลี้ยงช้าง คนเลี้ยงม้าก็เอาไปพูดเหมารวมว่าพระสงฆ์ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ความรู้ถึงหูของพระสงฆ์รูปอื่นๆ เข้า ก็พากันไปทูลบอกกับพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ก็เลยตัดสินให้พระบัณเฑาะก์รูปนั้นสึก และไม่อนุญาตให้อนุปสัมปัน (ฆราวาสและเณรที่ไม่ใช่ภิกษุสงฆ์) ที่เป็นบัณเฑาะก์อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ได้มาแต่บัดนั้น

 

ฟังดูก็เหมือนจะง่ายๆ เพียงแค่นี้ เพราะเรื่องราวในปัณฑกวัตถุนั้นก็ให้รายละเอียดไว้อย่างชัดเจนว่า พระบัณเฑาะก์รูปนั้นได้ชวนผู้คนเพศเดียวกับตนเองมาเสพสังวาส แต่เรื่องเกี่ยวกับบัณเฑาะก์ ในพระวินัยฯ มันไม่ได้มีอยู่เพียงเท่านี้น่ะสิครับ

ในสมันตปาสาทิกา ซึ่งก็คือคัมภีร์อรรถกถา (อธิบายความ) ของพระวินัยปิฎก ซึ่งเขียนขึ้นโดยพระพุทธโฆษาจารย์เมื่อราว พ.ศ.100 ได้ระบุไว้ว่า บัณเฑาะก์มี 5 ประเภท ได้แก่

1. คนที่ดับความใคร่เร่าร้อน (เพราะกาม) ของตนโดยการใช้ปากอมองคชาตของผู้อื่น แล้วให้น้ำอสุจิราดรดตัวเอง ชื่อว่าอาสิตตบัณเฑาะก์

2. คนที่เมื่อเห็นผู้อื่นประพฤติล่วงเกินทางเพศกัน เกิดความริษยาขึ้น ความเร่าร้อนจึงระงับไป ชื่อว่าอุสูยบัณเฑาะก์

3. คนที่ถูกตัดองคชาต ชื่อว่าโอปักกมิกบัณเฑาะก์

4. คนที่เป็นบัณเฑาะก์ในเวลาข้างแรมด้วยอานุภาพอกุศลวิบาก แต่ในเวลาข้างขึ้นความเร่าร้อนย่อมระงับไป ชื่อว่าปักขบัณเฑาะก์

5. คนที่เป็นบัณเฑาะก์โดยกำเนิด ชื่อว่านปุงสกบัณเฑาะก์

จะเห็นได้ว่า ใจความในส่วนที่กล่าวถึง “อุสูยบัณเฑาะก์” ซึ่งก็คือในบัณเฑาะก์ประเภทที่ 2 ในลิสต์ข้างต้นนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นไปในทำนองของรักร่วมเพศ ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า “บัณเฑาะก์” แปลว่า “กะเทย” ก็ดูจะไม่สามารถหมายรวมถึงอุสูยบัณเฑาะก์ได้

 

หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว แม้แต่ “ขันที” หรือที่ในสมันตปาสาทิกาเรียกว่า “โอปักกมิกบัณเฑาะก์” นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีความชอบพอทางกามารมณ์ (sexual preference) แบบรักร่วมเพศเสียหน่อยนะครับ

มีข้อมูลจากบันทึกเก่าๆ หลายฉบับเลยทีเดียวที่เล่าถึงความต้องการทางเพศของขันทีที่มีต่อผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นขันทีในจีนและในภูมิภาคตะวันออกกลาง แถมยังมีบันทึกที่ว่าด้วยความพยายามคืนความเป็นชายกลับมา ด้วยวิธีการที่ดูจะแปลกประหลาดอย่างการกินสมองมนุษย์สดๆ ในจีน เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า ขันทีทุกคนชอบพอผู้ชายนั้นคงไม่ใช่แน่

และก็แน่นอนด้วยว่า บัณเฑาะก์ประเภทสุดท้ายในสมันตปาสาทิกาที่เรียกว่า “นปุงสกบัณเฑาะก์” นั้น น่าจะเป็นเรื่องอาการของคนที่มีสองเพศมาตั้งแต่เกิด ที่ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความชอบพอทางกามารมณ์อยู่ดี

เอาเข้าจริงแล้ว ในบรรดารายชื่อ “บัณเฑาะก์” ทั้ง 5 ประเภทที่ถูกกางออกมาในสมันตปาสาทิกานั้น มีลักษณะที่ไม่เกี่ยวอะไรกับการเป็น “กะเทย” ไปเสีย 3 ประเภท คือมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ

 

ในพระวินัยปิฎกยังมีเรื่องที่มักจะเข้าใจผิดกันว่าเกี่ยวกับ “เพศทางเลือก” อยู่อีกคือเรื่อง “เถยยสังวาสกะ” เพราะมีคำแปลออกมาเป็นภาษาไทยในพระไตรปิฎกฉบับทางการว่า “ลักเพศ”

เรื่องของเถยยสังวาสกะนี้อยู่ในเถยยสังวาสสูตรของพระวินัยปิฎก โดยมีความระบุว่า พระพุทธเจ้าไปอนุญาตให้คนที่เป็นเถยยสังวาสกะอุปสมบท โดยมีอรรถกถาอธิบายความเพิ่มเติมอยู่ในสมันตปาสาทิกาเล่มเดิม ซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์ได้อธิบายว่า คนที่จัดว่าเป็น “เถยยสังวาสกะ” หรือคนลักเพศในพระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทยมี 3 ประเภท

1. คนลักเพศ (ตามข้อความฉบับภาษาไทย) คือคนที่ตู่เอาเพศของพระภิกษุ โดยไม่ได้ผ่านการอุปสมบท คือบวชเองแล้วอ้างตนเป็นพระ คล้ายกับกฎหมายแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ในปัจจุบัน

2. คนลักสังวาส คือเณร (ในสมันตปาสาทิกาไม่ระบุว่ารวมถึงภิกษุด้วยหรือเปล่า? แต่ก็น่าจะนับรวมได้) ที่ตู่เอาพรรษาว่าบวชมานานกว่าความเป็นจริง และยินดีรับเอาเกียรติยศกับความนับถือในฐานะที่แก่พรรษากว่าในหมู่สงฆ์

3. คนที่ลักทั้งเพศและสังวาส

จะเห็นได้ว่า คำว่า “ลักเพศ” ในที่นี้หมายถึง ลักเอาสมณเพศมาเป็นของตนเอง โดยไม่ได้อุปสมบทจริง ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวอะไรกับทั้ง “เพศทางเลือก” และรวมถึงคำว่า “บัณเฑาะก์” เลย

 

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ที่จริงแล้วในสมันตปาสาทิกานั้นระบุเอาไว้ด้วยว่า บัณเฑาะก์บางประเภทสามารถที่จะอุปสมบทได้ นั่นก็คือ “อาสิตตบัณเฑาะก์” และ “อุสูยบัณเฑาะก์” ซึ่งก็คือบัณเฑาะก์ประเภทแรกและประเภทที่สอง ในรายชื่อประเภทบัณเฑาะก์ทั้งห้า

อาสิตตบัณเฑาะก์ซึ่งถูกพรรณนาว่า ดับความใคร่เร่าร้อนด้วยกามโอษฐ์นั้น ย่อมมีความชอบพอทางกามารมณ์แบบเพศทางเลือกแน่ กลับเป็นสิ่งที่ได้รับอนุญาตให้บวชได้นะครับ ในขณะที่ขันทีและผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกายอย่างการมีสองเพศนั้นกลับไม่ได้รับโอกาสนี้

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าจะว่ากันตามคัมภีร์ที่ถูกเขียนขึ้นเพื่ออธิบายความในพระวินัยปิฎก และมีอิทธิพลต่อวินัยของพระสงฆ์ ฝ่ายเถรวาท มากกว่าตัวพระวินัยปิฎกแท้ๆ เองเสียอีกอย่าง “สมันตปาสาทิกา” นั้น ก็ดูเหมือนว่า ศาสนาพุทธ เถรวาท จะไม่ได้ห้ามให้เพศทางเลือกอุปสมบทเสียหน่อย เพียงแต่เมื่อบวชเข้าไปแล้ว ถ้าไปชวนให้พระ, เณร หรือฆราวาสคนใดเสพสังวาสกันนั้นก็ผิดพระวินัยแล้วก็ต้องสึก อย่างเรื่องในปัณฑกวัตถุที่ผมเล่าเอาไว้ตั้งแต่แรก

 

ควรจะสังเกตด้วยว่า ในบรรดาบัณเฑาะก์ทั้ง 5 ประเภทนั้น 2 ประเภทแรกคือ “อาสิตตบัณเฑาะก์” และ “อุสูยบัณเฑาะก์” เป็นเรื่องของ “ความชอบพอทางกามารมณ์” ในขณะที่อีก 3 ประเภทนั้นไม่ใช่

(ในกรณีของ “ปักขบัณเฑาะก์” ที่ผมยังไม่ได้พูดถึงเลยนั้น แม้จะพูดได้ไม่เต็มปากว่าไม่เกี่ยวกับความชอบพอทางกามารมณ์ แต่ก็ดูจะมีลักษณะที่ผิดปกติจากธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญคือ ไม่มีตรงไหนที่ถูกบรรยายไว้เลยว่าเป็นเรื่องของการรักร่วมเพศ นอกจากคำว่าบัณเฑาะก์ ที่คนรุ่นหลังแปลไปเองว่า หมายถึงเพศทางเลือกไปเสียทั้งหมด)

ที่สำคัญก็คือ ในศีลทั้ง 227 ข้อของพระสงฆ์นั้นมีข้อห้ามเรื่องกามารมณ์ทั้งหลายอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเคยครองเพศอะไรมา หลังอุปสมบทแล้ว คุณก็คือ “สมณเพศ” ไม่มีเพศอื่นอีก (เช่นเดียวกับคำว่าเถยยสังวาสกะ ที่แปลเป็นไทยว่าลักเพศ เพราะในทางอุดมคติแล้ว “สมณะ” นั้นถือเป็นเพศที่ต้องอยู่เหนือกามารมณ์)

เอาเข้าจริงแล้ว อันที่การเสพสังวาสระหว่างเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในหลายๆ วัฒนธรรมโบราณของโลกนั่นแหละครับ อินเดียก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น จึงเป็นเรื่องที่ชอบธรรมแล้วที่พุทธศาสนาจะยินยอมให้เพศทางเลือกอุปสมบทเข้าเป็นสมณเพศได้เช่นเดียวกับเพศชายทั่วไป

แต่จะดีกว่านี้ ถ้าพุทธศาสนาจะยินยอมให้เพศหญิง (ที่เคยมีการบวชภิกษุณีมาแล้ว ดังมีพยานอยู่ในพระไตรปิฎก) บวชได้ด้วย เพราะคนทุกเพศสมควรที่จะมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)