ฐากูร บุนปาน | กล้าแค่ไหน ถ้าจะต้อง “ง้าง” กับผลประโยชน์ของกลุ่มก้อน

หลังจากรอมาเป็นเวลาร่วมเดือน ในที่สุดก็มีการประกาศชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

ที่เข้ามาแทนทีมงานของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่กอดคอกันลาออกไป เพราะพ่ายเกมการเมืองในพรรคพลังประชารัฐด้วยกันเอง

ขออนุญาตตัดเรื่องการเมืองเอาไว้ไม่พูดถึง

เพราะวันนี้เรื่องเนื้อๆ เน้นๆ ที่เป็นปัญหาจริงๆ คือการจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจและปากท้องที่จังก้าอยู่ตรงหน้า

ในฐานะที่พอจะรู้จักมักคุ้นและติดตามการทำงานของรัฐมนตรีใหม่ถอดด้าม คือ คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่รับตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน และคุณปรีดี ดาวฉาย ที่รับตำแหน่ง รมว.คลังอยู่บ้าง

ก็แอบมีความหวังขึ้นมาว่า เมื่อได้คนที่เคย “ทำงานจริง-ทำงานใหญ่” ผ่านมาแล้วทั้งการเป็นผู้ปฏิบัติและคนกำหนดนโยบายขององค์กร

การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของนโยบายเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างกระฉับกระเฉง และ “ตรงเป้า” ยิ่งขึ้น

ความไม่ลับที่พอจะเปิดเผยได้บ้างในวันนี้ก็คือ

คุณสุพัฒนพงษ์นั้นเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาที่ร่วมทั้งผลักทั้งดัน ให้ข้อมูล ให้ความเห็น จนกระทั่งรัฐบาล (ที่ขณะนั้นยังยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกักอยู่) ตัดสินใจออกพระราชกำหนดเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท

แต่ก็เหมือนนโยบายดีๆ อีกหลายอย่างในสังคมไทย

คือพอแปรแนวคิดไปสู่การปฏิบัติของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ ก็มักจะต้องมีอุปสรรคอันเนื่องมาจากกฎระเบียบบ้าง ความเคยชินบ้าง

ทำให้นโยบายนั้นไม่เคยสัมฤทธิผลเต็มร้อยอย่างที่ต้องการ

วันนี้เมื่อคนที่เคยผลักดันนโยบายและแนวทางมานั่งคุมเอง แทนที่จะเป็นผู้เสนอแล้วนั่งดูห่างๆ อย่างที่ผ่านมา

ก็หวังว่าเนื้องานที่หวังว่าจะประคับประคองคนตกทุกข์ได้ยาก และธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม ที่เป็นเป้าหมายหลักของนโยบาย

จะเดินหน้าไปได้ราบรื่นกว่าเดิม

ส่วนคุณปรีดีนั้น จัดเป็นประเภทอ่อนนอกแข็งใน

เป็นมือประสานได้รอบทิศ ตั้งแต่อยู่ธนาคารกสิกรไทย มาจนเป็นประธานสมาคมธนาคาร

และด้วยตำแหน่งแห่งหนผลักและดันให้เข้าไปอยู่ในแวดวงการเมือง ทั้งเป็น สนช.

ถึงไม่ตั้งใจจะมาเป็นนักการเมือง แต่เมื่อคลุกคลีกับการเมืองอยู่หลายปี

ความเข้าอกเข้าใจในเครือข่าย เส้นสาย วิธีคิด และวิธีการทำงานที่แตกต่างไปจากสายธุรกิจที่คุ้นเคยมาแต่อ้อนแต่ออก

ก็น่าจะช่วยให้ภารกิจในฐานะรัฐมนตรีคลัง ที่เป็นด่านหน้าสุดของวิกฤตครั้งนี้

พอผ่อนหนักเป็นเบาลงไปได้บ้าง (กระมัง?)

แต่มหาวิกฤตขนาดนี้ เหลือกำลัง เหลือมือที่คนสองคนหรือไม่กี่คนจะรับมือได้

ให้ร่วมแรงร่วมใจกันทั้งรัฐบาล ทำงานประสานกันเป็นหนึ่งเดียว

ยังมีคำถามอยู่เลยว่า แล้วปัจจัยอื่น ทั้งโลกภายนอกและสังคมภายใน จะเป็นใจเอื้อให้งานสำเร็จลุล่วงตามที่ต้องการได้หรือไม่

อย่างที่เปลี่ยนตัวพร้อมกันมารอบนี้คือรัฐมนตรีแรงงาน

จากรัฐมนตรีที่เคยเป็นข้าราชการทั้งชีวิต มาเป็นรัฐมนตรีที่มาจากนักการเมือง

ถามว่าคนหลังจะใช้ความเป็นนักการเมืองที่ควรจะใกล้ชิด สนิทสนม รู้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านมากกว่า เข้ามาแก้ไขปัญหาให้ฉับไว-ตรงเป้ามากขึ้นหรือไม่

ในเมื่อปัจจัยหนึ่งในวิกฤตครั้งนี้คือปัญหาการว่างงาน

งานที่ท่านต้องรับผิดชอบโดยตรง

ถึงจะเป็น “ปลายน้ำ” ก็ต้องเตรียมตัวทำการบ้านมาให้ครบและให้ดี

ท่านมีหรือยัง?

และสำคัญที่สุดของทั้งหมดก็ยังเป็น “หัว” อยู่ดี

นายกรัฐมนตรีผู้ประกาศตัวเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจนั้น “ทุ่ม” แค่ไหน พร้อมจะ “เสี่ยง” ขนาดไหน

และกล้าแค่ไหน ถ้าจะต้อง “ง้าง” กับผลประโยชน์ของกลุ่มก้อนที่จะเป็นอุปสรรคต่อนโยบาย

ทั้งหมดนี้ พิสูจน์ไม่ได้ด้วยคำพูด

แต่รอการกระทำยืนยัน

และต้องเกิดขึ้นในเวลาอันไม่ช้าด้วย