ในประเทศ / ก็… ไม่สบายใจ

ในประเทศ

 

ก็…

ไม่สบายใจ

 

ปฏิกิริยาหลังการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ รวมถึงกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา น่าสนใจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งติดตามการชุมนุมดังกล่าวใกล้ชิด

แสดงความรู้สึก

“ก็…ไม่สบายใจ”

ไม่สบายใจที่ข้อเรียกร้องของนักศึกษา ไปไกลกว่า 1) หยุดคุกคามประชาชน 2) ยุบสภา และ 3) แก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยมุ่งตรงไปยัง “สถาบันพระมหากษัตริย์” อย่างจงใจ

จนนำมาสู่ความไม่สบายใจดังกล่าว

 

พร้อมกันนี้ยังระบายความในใจต่อการเคลื่อนไหวของนักศึกษาว่า

“ผมเป็นนายกฯ ไม่ติดตามได้อย่างไร ติดตามตามทุกเรื่อง ซึ่งการชุมนุมเป็นสิทธิ แต่การชุมนุมที่เกินเลยมากๆ ขอถามสื่อ สื่อว่าอย่างไร …ตอบซิ ตอบ ไม่กล้าตอบอีก สื่อก็ต้องแสดงความเห็นบ้างว่าทำยังไงให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เพื่อให้เดินหน้าแก้ปัญหาโควิดไปได้ ทำอย่างไรให้รัฐบาลทำงานได้ คนเดือดร้อนรอแก้ปัญหาอีกเยอะแยะ ไม่เฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งการทำแบบนั้นเหมาะสมหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไร กฎหมายอยู่ตรงไหน”

“อย่าบอกว่าเอากฎหมายไปกดทับ มันไม่ใช่ เพราะถ้าละเมิด ทุกคนก็ต้องถูกลงโทษ ไม่เช่นนั้นทุกคนก็เสียหาย เจ้าหน้าที่ก็เสียหาย ไม่ทำงานก็ถูกฟ้องร้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แล้วมันจะอยู่กันอย่างไร”

“เพราะฉะนั้น สถาบันต่างๆ ต้องช่วยกันดูแลรับผิดชอบกันบ้าง ไม่ใช่มาลงที่นายกฯ ทั้งหมด ต้องช่วยกัน ประเทศชาติเป็นของใคร เป็นของทุกคน และวันนี้ทุกคนทราบกันดีระหว่างปัญหาประเทศชาติอยู่ตรงไหน หลายอย่างที่เรียกร้องมามันใช่ปัญหาที่ทำได้วันเดียว 1-2 วัน หรือเดือนหนึ่งไหม มันกำหนดอย่างนั้นไม่ได้ หลักคิดอย่างนั้นมันไม่ได้ รัฐธรรมนูญเขียนว่าอย่างไร ไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อน”

คำถามจึงมีต่อว่า เมื่อผู้นำ “ไม่สบายใจ” แล้วจะนำไปสู่การตัดสินใจ “แก้” อย่างไร

เพราะกรณีนี้ละเอียดอ่อน และพร้อมจะบานปลายได้ตลอดเวลา

 

อย่างกรณีที่ตำรวจตัดสินใจจับนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ด้วยหวังว่าจะตัดไฟแต่ต้นลม

โดยตั้ง 7 ข้อหา ประกอบด้วย

  1. ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
  2. ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในกระทำความผิด
  3. ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตราย หรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
  4. ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของหรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด
  5. ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางจราจร
  6. ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน

และ 7. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ขณะเดียวกันเล็งออกหมายจับแกนนำ กลุ่มเยาวชนปลดแอก-Free Youth และกลุ่มสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) อีก 31 คน

แต่แทนที่จะทำให้การเคลื่อนไหวยุติหรือเพลาลง

ตรงกันข้าม กลับเป็นการก่อกระแส #หยุดคุกคามประชาชน ปล่อยอานนท์ ปล่อยไมค์ “#saveทนายอานนท์ #saveไมค์ #หยุดคุกคามประชาชน” และนำมาสู่การชุมนุมอีกหลายจุด

และลึกลงไปสู่ประเด็นละเอียดอ่อน อย่างที่เวทีธรรมศาสตร์

 

ผลักดันให้นำไปสู่การเคลื่อนไหวเผชิญหน้ากันมากขึ้นของกลุ่มต่างๆ

ที่ถูกจับตามากก็คือ กลุ่มศูนย์กลางประสานงาน นักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันฯ (ศอปส.) นำโดยนายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู และ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)

ที่ออกมาต่อต้านกลุ่มบุคคลเคลื่อนไหวนำสถาบันพระมหากษัตริย์มายุยงให้แตกแยก

โดยประกาศว่า กลุ่มจะใช้วิธีการต่อต้านโดยการเปิดเผยชื่อบุคคลที่ชังชาติ และดำเนินการกับกลุ่มที่หมิ่นสถาบันอย่างถึงที่สุด

“หากมีกลุ่มจาบจ้วงสถาบัน พวกผมก็จะไปยืนดูอย่างสงบนิ่ง และสบตาทุกคนที่จาบจ้วง ผมจะล็อกเป้าทุกคน แต่ล็อกเป้ามาเจรจากัน” นายสุเมธกล่าว

คำพูดดังกล่าวแม้จะพยายามบอกว่า “สงบนิ่ง” แต่ก็สัมผัสได้ถึงความพร้อมที่จะนำไปสู่สิ่งที่ทุกคนกังวล นั่นคือ ม็อบชนม็อบ

ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาด้วยสังคมไทยประสบมาแล้ว ในกรณี 6 ตุลาคม 2519

คำถามก็คือ แล้วจะหาทางออกอย่างไร

 

คําตอบกรณีนี้ ว่าที่จริง การประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ก็ดูจะมีตัวแทนทางความคิด

ทั้งพยายามร่วมหาทางออก ทั้งการใช้ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน

ซึ่งอาจช่วยเป็นการหาคำตอบให้ความไม่สบายใจของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ในทางหนึ่ง

ร่วมหาทางออกก็เช่น จากนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ที่เสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการทางการเมืองด้วยการรับฟังความเห็นข้อเสนอจากสมาชิกรัฐสภาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 โดยเร็ว

แม้สมาชิกของทั้ง 2 สภาจะมีความเห็นหลากหลาย แตกต่างกันในหลายกรณี

แต่เชื่อว่าทั้ง 2 สภามีความเห็นร่วมกันว่าการกระทำบางอย่างของผู้ชุมนุมบางคนในการชุมนุม 3 ครั้งที่ผ่านมาเกินขอบเขตที่ควรจะเป็นไป

ทำให้ข้อเรียกร้องปกติของประชาชนส่วนใหญ่ต้องถูกทำให้เสียหาย สุ่มเสี่ยงจุดชนวนความรุนแรง ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 อันจะสร้างแผลลึกส่งผลต่อลูกหลานต่อไป

“โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จะซ้ำเติมประเทศไทยจมดิ่งลงสู่หุบเหวแห่งหายนะ หากแก้ไขไม่ทันจะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า 6 ตุลา ภาค 2 ขึ้นมาในเร็วๆ นี้ และหากถึงวันนั้นรัฐสภาและรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ก็แก้ไม่ได้” นายคำนูณกล่าว

 

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. มาในแนวตาต่อตา ฟันต่อฟัน โดยชี้ว่า การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และก่อนหน้านั้น คือการจาบจ้วงล่วงละเมิดเกินเลยกว่าที่จะรับได้

คนไม่กี่ร้อย ไม่กี่พันคน ปลุกระดมความคิดผ่านกระบวนการล้มสถาบันจากในและนอกประเทศ

การชุมนุมเกินเลยกว่าการเรียกร้องยุบสภา ขับไล่ ส.ว. และล้มรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116 ชัดเจน ในเรื่องกระทำการกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดจะก่อความไม่สงบเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

เขากำลังเอาเด็กนักเรียน-นักศึกษาเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก คนที่อยู่เบื้องหลังเป็นอีแอบไม่กล้าออกมาเผชิญความจริง ทั้งที่จงใจและอยู่เบื้องหลังการล้มสถาบัน สิ่งที่ยั่วยุวันนี้ต้องการให้เกิดเหมือน 6 ตุลา 19 และพฤษภา 35

ขอเสนอให้ใช้ไม้แข็งดำเนินการกับหัวโจกชุมนุม คือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สอบเส้นทางการเงินที่สนับสนุนการชุมนุมทั้งหมด

รวมทั้งขอให้กระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังประเทศญี่ปุ่นที่นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และประเทศที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อยู่ ซึ่งทั้ง 2 คนก่อตั้งรอยัลมาร์เก็ตเพลส ที่ปลุกระดมมวลชนผ่านเครือข่ายและวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มายังกลุ่มผู้ชุมนุมเวทีธรรมศาสตร์ จึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศประท้วงและแจ้งไปว่าคนไทยไม่ยินยอมให้ใช้ประเทศเหล่านั้นให้ร้ายสถาบันของไทย

 

ถือเป็นข้อเสนอทั้งบุ๋นและบู๊จากสมาชิกวุฒิสภา

ซึ่งแน่นอน พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้นำประเทศ คงต้องฟังและเก็บนำไปครุ่นคิด

เพื่อหาคำตอบให้กับความไม่สบายใจที่ระบายออกมา

“แก้อย่างไร” นี่แหละเป็นสิ่งที่ยาก

เพราะการแสดงออกและข้อเสนอของคนรุ่นใหม่ ต้องยอมรับว่า ไกลกว่าที่สังคมคาดคิด หรือไม่กล้าคิดมาก่อน

แต่เมื่อเงื่อนไข โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2557 ได้บีบคั้นให้สถานการณ์ให้ต้องเข้า “ร่อง” แบบนี้ ก็จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา นักคิด นักวิชาการ นักสังเกตการณ์ ได้ย้ำเตือนมาตลอดว่า สังคมไทยกำลังขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมาโดยตลอด

และที่น่าจะไม่สบายใจกว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สบายใจ ก็คือ ยังไม่รู้ว่าความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงจะมากขนาดไหน และผลหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร

   สังคมไทยไม่มีทางเลือกที่จะพ้นไปจากทางนี้เลยหรือ!?!