มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น : การเลือกตั้งทั่วไปในสหภาพยุโรป และระบบการเมืองแบบสองพรรค

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (14)

การเลือกตั้งทั่วไปในสหภาพยุโรป

และระบบการเมืองแบบสองพรรค

 

ในปี 2017 จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในสามประเทศสำคัญที่ร่วมกันก่อตั้งสหภาพยุโรป

ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ (เลือกตั้งเดือนมีนาคม) ฝรั่งเศสเลือกตั้งประธานาธิบดีสองรอบ (ปลายเมษายนและต้นพฤษภาคม) และการเลือกตั้งที่เยอรมนี (เดือนกันยายน)

ซึ่งวิเคราะห์กันว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ หากพรรคขวาใหม่มีชัยในการเลือกตั้ง ก็หมายถึงความอ่อนแอลงมากของการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป กระทั่งถึงขั้นต้องสลายตัวไป

การเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์กระทำเสร็จไปแล้ว นายเกิร์ต วิลเดอร์ส ผู้นำ “พรรคเสรีภาพ” มีนโยบายแบบขวาใหม่หรือขวาจัดประสบความพ่ายแพ้ให้แก่ “พรรคเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน” ของ นายมาร์ก รัตเต ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่

นายวิลเดอร์สมีแนวคิดต่อต้าน “การทำให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็นอิสลาม” คัดค้านการรับผู้ลี้ภัยจากประเทศอิสลาม สนับสนุนการห้ามสร้างมัสยิดใหม่ในประเทศ สร้างพรรคเสรีภาพขึ้นในปี 2006

บางคำกล่าวที่สะท้อนจุดยืนของเขาได้ดี เช่น “อิสลามไม่ใช่ศาสนา แต่เป็นอุดมการณ์ เป็นอุดมการณ์ของวัฒนธรรมปัญญาอ่อน ผมมีปัญหากับประเพณี วัฒนธรรม อุดมการณ์ของอิสลาม แต่ไม่ใช่กับชาวมุสลิม”

“คัมภีร์กุรอานปลุกเร้าความเกลียดชังและการสังหาร ดังนั้น จึงไม่มีพื้นที่ในระบบกฎหมายของเรา”

“เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ที่ผู้คนจะปกปิดร่างกายทั้งหมดเมื่อออกท้องถนน มันคุกคามต่อความมั่นคงและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประชาชน นอกจากนี้ ยังดูน่าเกลียดมาก”

และที่สำคัญคือ เขากล่าวว่า “พันธมิตรของผมไม่ใช่ นางเลอเปน (ของฝรั่งเศส) หรือนายไฮเดอร์ (แห่งออสเตรีย) เราจะไม่มีวันร่วมกับพวกฟาสซิสต์หรือมุสโสลินีในอิตาลี ผมหวาดเกรงมากที่จะถูกเหมารวมอยู่ในฝ่ายขวาฟาสซิสต์” (ดูหัวข้อ Quotes : Geert Wilders ใน bbc.com ตุลาคม 2010)

ความน่าสนใจของคำกล่าวท้ายของวิลเดอร์สอยู่ที่ว่า ผู้มีแนวคิดขวาใหม่ทั้งหลายปฏิเสธว่าตนเองไม่ใช่พวกฟาสซิสต์ ขณะที่เสียงวิจารณ์จากภายนอกเห็นว่ากลุ่มนี้มีแนวคิดแบบขวาจัดฟาสซิสต์

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน หรือน่าสนใจกว่าก็คือ เหตุใดชาวดัตช์ที่ถือว่าเป็นผู้รู้ดีทางการเมือง มีการศึกษาได้มาตรฐานจึงพากันเชื่อถือแนวคิดแบบนี้ จนถึงคาดการณ์ว่านายวิลเดอร์สจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ มีเหตุปัจจัยที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือวัฒนธรรมและอุดมการณ์ตะวันตกถูกคุกคามอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่กี่วัน มีเหตุการณ์ใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งในระดับที่แน่นอน ได้แก่ ท่าทีที่แข็งกร้าวของนายรัตเตในการห้ามเครื่องบินโดยสารของ นายเมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกีลงจอด

กับผลักดัน นางฟัตมา คายา รัฐมนตรีกิจการครอบครัวตุรกีเช่นกัน ที่เดินทางถึงเมืองร็อตเตอร์ดัมโดยทางรถยนต์ เพื่อเข้าร่วมการชุมนุมของชาวตุรกีและกล่าวปราศรัยสนับสนุนการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เพิ่มอำนาจให้แก่ประธานาธิบดี โดยนำตัวไปส่งที่พรมแดนเยอรมนี แสดงความไม่อ่อนข้อให้แก่ชาวมุสลิมตุรกี ที่อพยพไปอยู่ที่เนเธอร์แลนด์จำนวนมาก

ซึ่งไม่ต่างกับของนายวิลเดอร์สเท่าใดนัก ประธานาธิบดีแอร์โดอานแห่งตุรกี ประณามเนเธอร์แลนด์ว่าเป็น “ซากเดนของนาซี เป็นพวกฟาสซิสต์”

ชนชั้นนำในยุโรปที่ได้เห็นบทเรียนจากชัยชนะของทรัมป์ สามารถรับมือกับลัทธิขวาใหม่ได้ดีขึ้น

การเลือกตั้งประธานาธิบดีในฝรั่งเศสยิ่งคึกคักและครึกโครมกว่าของเนเธอร์แลนด์มาก

อันที่จริงแล้ว ฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางและสีสันทางการเมืองของภาคพื้นยุโรปมาตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) จนถึงพระเจ้านโปเลียนมหาราช (เป็นจักรพรรดิฝรั่งเศสระหว่าง 1804-1814) และ ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐที่ห้าของฝรั่งเศส ระหว่าง 1959-1969)

ระบบการเมืองในฝรั่งเศสปัจจุบันเป็นแบบสองพรรคใหญ่ คล้ายของสหรัฐและอังกฤษที่มีสองพรรคที่ผลัดและแบ่งกันครองอำนาจ

โดยพรรคหนึ่งเอียงขวา อีกพรรคหนึ่งเอียงซ้าย

ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดโอกาสไม่ให้พรรคฝ่ายซ้ายหรือพรรคฝ่ายค้านที่แท้จริงมาแย่งชิงพื้นที่ประชาชนไปได้

พรรคเอียงขวาในฝรั่งเศสได้แก่พรรครีพับลิกัน ซึ่งสืบทอดจากพรรคสหภาพเพื่อขบวนการประชาชน ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2002

ส่วนพรรคเอียงซ้ายได้แก่พรรคสังคมนิยม (ก่อตั้งปี 1969) ที่ปัจจุบันครองอำนาจบริหารอยู่

พรรคที่เอียงขวาและเอียงซ้ายดังกล่าว ต่างก็เป็นตัวแทนของชนชั้นนำในประเทศนั้นๆ ซึ่งนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศมีความคล้ายคลึงกันมากขึ้นโดยลำดับ

ถ้าหากขยายภาพไปทั่วโลก ก็จะเห็นระบบสองพรรคนี้ครอบงำอยู่ มีลักษณะเหมือนแบ่งงานกันทำ

เช่น ในบางประเทศกำลังพัฒนาที่มีระบบปกครองแบบเผด็จการ ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่สามารถควบคุมไม่ให้ฝ่ายซ้ายภาคประชาชนเติบโต ก็จะได้รับการยอมรับ

ดังนั้น ความฝันเรื่อง “ฟ้าสีทอง” ประชาชนขึ้นมาเป็นใหญ่จึงยากที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความฝันนี้ก็ยังมีพลังในตัวของมันเองต่อไป

ความคึกคักของการเลือกตั้งฝรั่งเศสอยู่ที่ตัวแทนของสองพรรคใหญ่ไม่โดดเด่น ปรากฏว่าตัวแทนจากพรรคสังคมนิยม นายฟรังซัว ออล็องด์ ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ประกาศไม่ลงสมัครอีกสมัยหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฏในระยะใกล้ เพราะคะแนนนิยมตกต่ำมาก จากนโยบายภายในที่เน้นการรัดเข็มขัดที่สำคัญคือรัดเข็มขัดของเหล่าคนงาน

การประกาศภาวะฉุกเฉินเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารยาวนานข้ามปี ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนได้

ภายนอกค้าสงคราม เดินนโยบายลัทธิจักรวรรดิ เป็นหัวขบวนในการทิ้งระเบิดประเทศลิเบีย

คำสัญญาที่จะแก้ปัญหาการว่างงานก็ทำไม่สำเร็จ

ตัวแทนจากพรรคนี้ได้แก่ นายเบอนัวต์ อามง ผู้เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา ก็ไม่ได้รับความนิยมมาก

สำหรับพรรครีพับลิกัน ได้ตัวแทนลงสมัคร คือ นายฟรังซัวส์ ฟิยง ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เกิดมีมลทินกรณีให้ตำแหน่งงานรายได้สูงแก่ภริยาโดยไม่ทำงาน

ผู้ที่คาดว่าจะได้ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งนี้อยู่นอกสองพรรคใหญ่ เรียงตามลำดับการคาดหมาย ได้แก่

1) นางมารีน เลอเปน (อายุ 48) แห่งพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ซึ่งมีอุดมการณ์ขวาใหม่ คัดค้านลัทธิเสรีนิยม ลัทธิโลกาภิวัตน์ มีความคิดออกจากสหภาพยุโรป

2) เอ็มมานูเอล มาครอง เป็นคนหนุ่มอายุเพียง 39 ลงสมัครใน “พรรคก้าวเดิน” ที่เขาตั้งมาเอง เดิมอยู่ในพรรคสังคมนิยม เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจ วิจารณ์กันว่า นายออล็องด์ส่งมาเพื่อสืบทอดนโยบายของเขา นายออล็องด์เคยกล่าวว่า “มาครองก็คือผม” มาครองใกล้ชิดกับทุนการเงิน สนับสนุนการประกอบการไม่ใช่รัฐสวัสดิการ การปฏิรูปและความทันสมัย การรักษาสหภาพยุโรปไว้ ทั้งออล็องด์และมาครองต่างก็ไม่ใช่นักสังคมนิยม

3) ฌองลุค เมลองชง ผู้สมัครอิสระจาก “ขบวนการฝรั่งเศสทระนง” ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายซ้ายหลายพรรคในฝรั่งเศส รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ มีคะแนนนิยมพุ่งขึ้น หลังการประชันทัศนะกับคู่แข่งอื่นทางโทรทัศน์หลายรอบ และสร้างภาพว่าแนวทางของเขาเป็นความหวังใหม่ (ดูบทความของ Serge Halimi ชื่อ Battle for the French President : Unprecedented politics ใน mondediplo.com เมษายน 2017)

มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัสเซียมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งของฝรั่งเศสครั้งนี้ค่อนข้างสูง โดยใช้อำนาจอ่อนทางอุดมการณ์ขวาใหม่และเครือข่ายอิทธิพลต่างๆ

ที่เห็นชัดได้แก่ นางเลอเปนได้เดินทางไปพบกับปูติน (เลอเปนได้เดินทางไปที่ทรัมป์ ทาวเวอร์ นครนิวยอร์กด้วย แต่ไม่ได้พบสนทนากับทรัมป์)

ผู้สมัครสำคัญอื่นได้แก่ นายฟิยงและนายเมลองชง ก็ได้กล่าวอย่างเป็นผลดีแก่รัสเซีย เห็นได้ชัดในกรณีขัดแย้งอาวุธเคมีที่ซีเรีย นายฟิยงก็ไม่เห็นว่าควรตำหนิปูติน

ส่วนนายเมลองชง เห็นว่าการผนวกคาบสมุทรไครเมียเป็นการแสดงออกใน “สิทธิการปกครองตนเอง”

ส่วนนายมาครอง ที่สนับสนุนสหภาพยุโรปและการเผชิญหน้ากับรัสเซีย กล่าวหาทางการรัสเซียว่าสร้างข่าวลวงเพื่อทำให้เขาเสียหายในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ (ดูบทความของ Natalie Nougayrede ชื่อ Spectre of Russian influence looms large over French election ใน theguardian.com 12.04.2017)

ความกังวลนี้ลามไปถึงการเลือกตั้งทั่วไปในเยอรมนีตอนปลายปีด้วย แต่แท้จริงลัทธิขวาใหม่เป็นสิ่งที่งอกงาม บนเนื้อดินทางการเมืองของเยอรมนีเอง ย้อนหลังไปจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ลัทธิขวาใหม่ในฝรั่งเศสและยุโรป

ฝรั่งเศสเหมาะสมที่จะเป็นเนื้อดินให้เกิดลัทธิขวาใหม่หลายประการด้วยกัน ได้แก่

ก) เป็นที่เกิดของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดของยุโรป สร้างคำขวัญที่เป็นอุดมการณ์ของยุโรปสมัยใหม่คือ “อิสรภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ถ้าปราศจากสิ่งเหล่านี้ก็หมายถึงหายนะหรือความตาย มีการประกาศ “สิทธิมนุษยชนและพลเมือง” เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้เป็นมาตรวัดความเป็นขวาและซ้ายได้ นั่นคืออุดมการณ์ที่น้อยกว่านั้นก็อยู่ปีกขวา ที่มากกว่านั้น เช่น ต้องการให้ชนชั้นคนงานขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง และล้มเลิกกรรมสิทธิ์เอกชนถือว่าเป็นฝ่ายซ้าย เป็นที่สังเกตว่านับแต่ “คอมมูนปารีส” ถูกกวาดล้างในปี 1871 แล้ว การเมืองในฝรั่งเศสก็มีลักษณะเอียงขวาขึ้นโดยลำดับ

ข) การเกิดขึ้นของระบบนโปเลียนที่เผยแพร่ลัทธิเสรีประชาธิปไตยไปทั่วยุโรป ทำลายโครงสร้างระบบฟิวดัลในฝรั่งเศส สร้างรัฐสมัยใหม่ที่มีการปกครองของกฎหมาย มีระบบบริหารรัฐกิจโดยใช้หลักคุณธรรมความสามารถ สร้างประมวลกฎหมายนโปเลียน เป็นต้น

ค) การเกิดลัทธิเดอโกลล์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสแม้จะอยู่ฝ่ายชนะสงคราม แต่ก็เกิดความอ่อนแอและแตกแยกอย่างหนักแบ่งฝักฝ่ายเป็นซ้ายขวา รัฐบาลล้มลุกคลุกคลาน จนกระทั่งนายพลเดอโกลล์ตั้งรัฐบาลฝรั่งเศสพลัดถิ่นและนำชัยมาให้เข้ามาบริหารต่างประเทศ เขาประกาศนโยบายว่าอยู่เหนือทั้งฝ่ายซ้ายและขวา (แต่จริงๆ อยู่ซีกขวา) มุ่งมั่นสร้างชาติฝรั่งเศสให้เป็นที่เกรงขาม ลัทธิเดอโกลล์มีแนวคิดหลักสามประการ ได้แก่

ก) ฝรั่งเศสที่เข้มแข็ง เป็นอิสระ มีบทบาททางการเมืองในเวทีโลก

ข) เศรษฐกิจแบบเคนส์ ให้รัฐมีบทบาทในรัฐสวัสดิการ

ค) ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้ฝรั่งเศสกลับมายืนเด่นบนเวทีโลกอีกครั้ง

แต่ลัทธิเดอโกลล์ก็ถูกคลื่นขบวนการนักศึกษาและแนวคิดซ้ายใหม่ที่ขึ้นสู่กระแสสูงในปี 1968 ซัดกระหน่ำรุนแรงจนกระทั่งเดอโกลล์ต้องลาออกจากตำแหน่งในปี 1969

แม้ลัทธิเดอโกลล์ยังเป็นอุดมการณ์นำของอีกหลายรัฐบาลฝรั่งเศสต่อมา แต่ก็เห็นว่าฝรั่งเศสต้องการอุดมการณ์การเมืองใหม่จึงจะนำพาประเทศผ่านพ้นความยากลำบากไปได้

ดังนั้น ความคิดขวาใหม่จึงได้เกิดขึ้น มีนักคิดนักเคลื่อนไหวชาวฝรั่งเศสที่โดดเด่นได้แก่ เดอ เบอนัวสต์ (Alain de Benoist 1943 ถึงปัจจุบัน) เป็นผู้นำ

ลัทธิขวาใหม่มีลักษณะปฏิวัติ แต่เป็นการปฏิวัติจากเบื้องบนของชนชั้นนำ ไม่ใช่จากเบื้องล่างของมวลชนอันไพศาล

ดังนั้น แม้ประกาศตัวว่าอยู่เหนือทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายแต่ก็ยังมีธาตุที่เป็นขวาอยู่มาก

เช่น ปฏิเสธความเสมอภาคทางการบริหารและกฎหมาย และ “ศาสนาสิทธิมนุษยชน” และถูกมองว่าเป็นกลุ่มขวาจัด หรือ “ฟาสซิสต์ที่มีใบหน้าเป็นมนุษย์” ซึ่งกลุ่มขวาใหม่ปฏิเสธอย่างแข็งขัน

ลักษณะปฏิวัติของลัทธิขวาใหม่ เป็นการปฏิวัติเพื่อให้พ้นความเสื่อมถอยของตะวันตกหรือยุโรป ที่เกิดจากเหตุปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่

ก) ลัทธิเสรีที่เสนอและขับเคลื่อนโดยอเมริกา-อังกฤษ ทำให้ตลาดการเก็งกำไรและบรรษัทอยู่เหนือสังคม ทำลายวัฒนธรรมของชาติและของท้องถิ่น

ข) ลัทธิชาตินิยมที่คับแคบ สร้างการรวมยุโรปที่ปฏิวัติ รวมทั้งลัทธิเชื้อชาติที่ไปคู่กันกับลัทธิชาตินิยมคับแคบ โดยเฉพาะปัญหาการต่อต้านชาวยิวที่ค่อนข้างรุนแรงในยุโรป โดยรวมก็คือลัทธิขวาใหม่ต่อต้านระบบอำนาจเดิม หรือระเบียบโลกที่สหรัฐวางตัวมีอำนาจเหนือแต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้น จึงเป็นขบวนที่สนับสนุนโลกหลายขั้วอำนาจไปในตัว ลัทธิขวาใหม่เกิดขึ้นในท่ามกลางขบวนการนักศึกษาชนชั้นคนงานในการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 1968 ขยายตัวไปเมื่อพรรคแนวร่วมเพื่อเอกภาพแห่งชาติของ นางมารีน เลอเปน (ก่อตั้งปี 1972 เรียกสั้นๆ ว่าพรรคแนวร่วมแห่งชาติ) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 1982 และตั้งมั่นในทศวรรษ 1990 ที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย

ทำให้ความคิดแบบซ้ายทั้งหลายรวนเรและอ่อนกำลัง พรรคขวาจัดในหลายประเทศของยุโรป ได้แก่ ออสเตรีย เดนมาร์ก อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เอสโทเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวะเกีย ทยอยกันมีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล

ที่มาของลัทธิขวาใหม่ 2 แหล่งคือ

ก) การปฏิวัติเชิงอนุรักษนิยมในเยอรมนี มีนักคิดเด่นคือ มาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ (1889-1976) และ ออสวาลด์ สเปงเลอร์ (1880-1936)

ข) ซ้ายใหม่ มีนักคิดนักปฏิวัติจาก อันโตนิโย กรัมซี (1891-1937) ไปจนถึงนักจรยุทธ์ เช กูวารา (1928-1967) ที่ว่าซ้ายเก่าก็คือซ้ายกรรมาชีพ ใช้ชนชั้นคนงานก่อการปฏิวัติสร้างเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ

ส่วนซ้ายใหม่เป็นซ้ายชนชั้นกลางให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและโครงสร้างส่วนบน ลัทธิขวาใหม่ มีการจัดตั้ง “กองทัพวัฒนธรรม” นำความคิดจากฝ่ายขวาจำนวนมากมาผสมเพื่อสร้างวาทกรรมใหม่ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาสนับสนุน (ดูบทความของ Tamir Bar-On (1967) ชื่อ The French New Right ใน researchgate.net ฤดูใบไม้ผลิ 2014)